หิริโอตัปปะ–ธรรมโลกบาล
พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
หากมีผู้กล่าวว่า "ธรรมโลกบาล" ธรรมะเครื่องคุ้มครองโลก คือ หิริโอตัปปะ ไม่จำเป็นสำหรับในโลกปัจจุบันเพราะทุกประเทศมีกฏหมายไว้คุ้มครองแล้ว จะควรแก้คำกล่าวนั้นอย่างไร
อันที่จริงการแก้คำกล่าวหานั้น หากจำตามแก้กันจริงๆจะไม่ต้องมาหากินอะไรกัน เพราะคนกล่าวหาชาติศาสนานั้นมีมากและมีทุกยุคทุกสมัยเสียด้วย
ในที่นี้จึงต้องการที่เพียงแสดงเหตุผลที่ควรเป็นไปตามความเป็นจริง
หิริ ความละอายแก่ใจในการทำบาป
โอตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อผลแห่งบาป
ธรรมทั้งสองประการนี้ทรงแสดงว่า เป็น โลกปาลธรรม คือธรรมที่รักษาคุ้มครองโลก คือหมู่สัตว์ให้อยู่ร่วมต่อกันอย่างปกติสุขตามสมควร
นอกจากจะเรียกว่าเป็นโลกปาลธรรมแล้ว ยังถือว่าเป็น เทวธรรม คือธรรมที่จะสร้างคนให้เป็นเทพบุตรเทพธิดาด้วยร่างกายที่เป็นมนุษย์นี่เอง
หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่า หิริโอตัปปะ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจของคนทุกคน ในลักษณะที่ค่อยเกิดขึ้นมาตามลำดับ ท่านจึงเรียกธรรมสองประการนี้ว่า มโนธรรม คือธรรมที่เกิดมีอยู่ภายในจิต
หิริ โอตัปปะ เป็นมโนธรรมนี้เองที่แยกให้แตกต่างจากสัตว์ ในด้านพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาด้านกาย วาจา เพราะใจประกอบด้วยความสำนึกอันมีหิริโอตัปปะเป็นหลักยึดเหนี่ยว
พฤติกรรมต่างๆของบุคคลในสังคม จะยึดหลักการไม่เบียดเบียนตนเอง คนอื่นให้เดือดร้อน เพราะพฤติกรรมต่างๆ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของหิริโอตัปปะ ให้สังเกตว่า หิริโอตัปปะเป็นความสำนึก ที่เกิดขึ้นจากการยอมรับ ความสำคัญของตนเอง สังคม เงื่อนไขทางสังคม และศาสนาเป็นต้น เช่น
"การพิจารณาถึงชาติตระกูล อายุ จิตใจที่เข้มแข็ง การศึกษา เสียงครหาจากคนอื่น ความรู้สึกตำหนิตนเอง โทษทางบ้านเมือง การตกนรกหลังจากตาย เป็นต้น"
ความรู้สึกสำนึกเหล่านี้จะค่อยๆเกิดขึ้น เมื่อคนสำนึกเห็นถึงคุณค่า ความงดงาม อันเกิดขึ้นจากการมีความละอายแก่ใจ และความสะดุ้งกลัวต่อบาป และผลบาป
ฝ่ายกฏหมายนั้น บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมความประพฤติผิด ทางกาย กับวาจาเท่านั้น หาได้ไปควบคุมถึงใจ ซึ่งเป็นตัวควบคุมกายกับวาจาไม่
อีกประการหนึ่งความผิดทางกฏหมายจะเกิดขึ้นตามเงื่อนไขของกฏหมายได้ ก็ต่อเมื่อการกระทำผิดเช่นนั้น จะต้องฟังๆ ได้ว่าเป็นความผิดตามกฏหมาย มีประจักษ์พยานหลักฐาน มากพอที่จะถือว่าเป็นความผิดได้ จึงตัดสินได้ว่าเป็นความผิด
หากว่าความสำนึกผิดว่าอะไรผิดอะไรถูก เกิดจากหิริโอตัปปะแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมีคนเห็นหรือไม่เห็น ใครจะโจทท้วงหรือไม่ก็ตาม คนที่มีหิริโอตัปปะ จะสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า อะไรควรเว้นอะไรควรกระทำ
ในด้านสร้างความดีก็เช่นกัน คนที่มีหริโอตัปปะ พร้อมที่จะทำความดี โดยไม่จำเป็นว่าใครจะเห็นหรือไม่ก็ตาม
เมื่อเป็นความดี ก็พร้อมที่จะกระทำ อย่างที่พูดกันว่า "ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา"
ความปั่นป่วนสับสนในปัจจุบัน จนส่วนย่อยถึงสังคมโลก จะพบว่า การกระทำในลักษณะที่ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
ได้เกิดจำนวนขึ้นมาก จนสร้างความหวั่นไหว ได้เกิดขึ้นแก่คนทั่วไปทั้งสถานการณ์ของสังคม ประเทศ และโลก
โลกปาลธรรม ทั้งสองประการยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ที่คนจะต้องสร้างให้บังเกิดขึ้นจิตใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอำนาจ เงิน สังคม ราชการ ยิ่งขาดหิริโอตัปปะไม่ได้ทีเดียว หากต้องการความเจริญในชีวิต ที่มีความเจริญทางด้านวัตถุ และจิตใจสัมพันธ์กัน
ข้อที่อ้างว่า " เพราะทุกประเทศมีกฏหมายคุ้มครองแล้ว" หากจะพูดกันในทำนองนั้น ทำไมไม่พูดในลักษณะตรงกันข้ามว่า
" หากคนในสังคมมีหิริโอตัปปะเป็นหลักใจแล้ว กฏหมายต่างๆ ไม่มีความเป็นอะไรเลย เพราะการละเมิดสิ่งที่กฏหมายกำหนดว่า ผิดกฏหมายจะไม่เกิดขึ้น โดยเขาไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่ากฏหมายห้ามไว้อย่างไร หรือไม่ก็ตาม"
อย่าลืมว่า ความจริงที่ปรากฏในสังคมนั้นมีคนรู้กฏหมายไม่กี่คนหรอก แต่ที่เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่กระทำผิดกฏหมายนั้น ใช่ของอิทธิพลของมโนธรรม ภายในใจของคนในสังคมหรือ?
แต่เพราะมาตรฐานทางมโนธรรมของคนไม่เสมอกัน โลกจึงจำเป็นต้องมีกฏหมาย และหิริโอตัปปะ ควบคู่กันไป เพื่อได้สนับสนุนกัน
หากขาดทั้งสองอย่าง หรือขาดหิริโอตัปปะแล้ว อย่าหวังว่าจะอยู่กันด้วยความสุขได้เลย
ที่มา : ตอบปัญหาทางพระพุทธศาสนา ๒ โดย พระโสภณคณาภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร,
พิมพ์แผยแพร่เพื่อเป็นพุทธศาสนบูชา และธรรมบรรณาการ พุทธศักราช ๒๕๒๒, หน้า ๑๖๖-๑๗๑