♣ ขอเพียงอย่านำดวงใจ .. ไปให้ใครเหยียบเล่น ♣
เมื่อต้องการความสุขที่ยั่งยืน
มาเป็นรางวัลตอบแทนการเกิดมาของชีวิต
เราไม่ควรที่จะให้จิตใจไหลลู่
ตามแรงโน้มถ่วงของอารมณ์
ไม่ควรให้ความรู้สึกที่ติดลบมาเหยียบย่ำชีวิตจิตใจ
แล้วต้องทำให้เราเป็นได้แค่ผู้ยอมจำนน
การเรียกร้องเพื่อได้ครอบครองความสุขแต่ปฏิเสธที่จะอยู่กับความทุกข์ เชื่อว่าเป็นธรรมดาที่เราทุกคนล้วนมีความรู้สึกเช่นนั้น เพราะเรามักจะคิดว่าความสุขเป็นสิ่งที่ชวนให้เข้าไปสัมผัส แต่ความทุกข์เป็นสิ่งที่ควรผลักไสออกไปให้ไกลตัว
แต่ผู้อ่านสังเกตไหมว่า แม้เราจะเกลียดความทุกข์ หรือต้องการหันหน้ามารักกับความสุขมากเพียงใด แต่หากไม่เข้าใจวิธีสร้างสุขให้เกิดมีแก่ตัวเรา และไร้วิธีปลดปล่อยความทุกข์ให้ออกไปไกลตัว เราก็ยังเชื่อว่ามีความทุกข์ที่พร้อมจะทอดเงาไปกับเราอยู่ทุกเมื่อเช่นเคย
ผู้อ่านลองสังเกตต่อไปอีกว่า หลายครั้งที่เราชอบชี้บอกเพื่อให้คนอื่นมีความสุข แต่หลังฉากของความสุขนั้น เรากลับต้องจมอยู่กับความทุกข์เสียเอง เป็นประเภทหน้าชื่นแต่อกตรมอย่างน่าสงสาร ทั้งที่บางครั้งปัญหาที่คนอื่นมองว่าใหญ่หลวงยิ่ง เรากลับมองว่ามันเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวายได้แต่อย่างใด เพราะเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ และรู้จักวางใจที่จะทำความรู้จักกับปัญหาอย่างรู้เท่าทัน
ตรงกันข้าม เมื่อวันหนึ่งเราประสบกับปัญหา ที่ทำให้ความทุกข์มากลุ้มรุ้มจิตใจ เราเองกลับรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ช่างเป็นเรื่องลำบากที่จะผ่านมันไป ทั้งที่เรื่องที่เกิดขึ้นคนอื่นกลับมองว่า มันเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ การจะแสวงหาความสุขให้เกิดขึ้นกับชีวิตจิตใจของเรา จึงไม่ใช่อยู่ที่การสัมผัสแค่ความสุขที่ได้รับเท่านั้น แต่รวมถึงการทำความรู้จักความทุกข์ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจอีกด้วย
พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ธรรมชาติของชีวิตนั้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป เมื่อใดที่เราเข้าใจกระบวนการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน ไม่หลงประเด็นในเรื่องราวที่ปรากฏ เราย่อมเกิดปัญญาจากสิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหาเสมอ แต่สำหรับคนทั่วไป เวลาประสบกับความทุกข์หรือปัญหา เรามักปฏิเสธที่จะทำความเข้าใจมัน โดยอาศัยการเบี่ยงเบนไปที่อื่น เพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์ที่มีอยู่ เพราะเราชอบคิดเข้าข้างตัวเองเสมอว่า ความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ โดยไม่ต้องลงมือแก้ไขที่จิตใจแต่อย่างใด เราก็สามารถที่จะผ่านมันไปได้เช่นกัน
หลายคนจึงชอบใช้วิธีเลี่ยงความทุกข์ ด้วยการไปทำอย่างอื่นแทน อาจแสวงหาวัตถุเงินทองเพื่อมาบำบัดให้ทุกข์ทุเลา เมื่อใช้วิธีหลบเลี่ยงอยู่นานวัน และรู้สึกว่ามันแก้ไขได้ เราจึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้แหละ คือเครื่องมือในการกำจัดทุกข์หรือปัญหาอย่างถาวร ทำให้เราพลัดหลงจากความจริงที่ควรรับรู้อย่างน่าเสียดาย เราจึงบ่ายหน้าไปสู่กับดักของความทุกข์ โดยที่เราเองก็ยินดีที่จะเป็นทาสรับใช้ ซึ่งเหมือนกับการนำชีวิตที่มีค่าไปฝากไว้กับคนที่ไม่เห็นคุณค่า สุดท้ายเราจึงถูกทำร้ายให้เจ็บช้ำในเวลาต่อมา
ความสุขที่ควรจะเกิดขึ้นแก่เรา จึงเป็นพียงภาพลวงตาที่เราเข้าใจว่ามันใช่เท่านั้น แม้วันหนึ่งเราอาจต้องการหนีออกไปให้ไกลจากความทุกข์ที่มาคุมขังเรา ภาพลวงของความร้ายก็มักทำลายคุณค่าหลายๆอย่างให้หายไปจากเรา เกินกว่าจะกู้กลับคืนมาได้ดังเดิม แต่เมื่อเรารู้จักสร้างความเข้าใจให้กับตัวเอง รู้จักดูแลจิตใจอันเป็นหัวใจหลักของการมีชีวิตอยู่ ด้วยการอาศัยสติมาคอยดูแล เพื่อให้ทุกอย่างได้ดำเนินไปอย่างเข้าใจ นั่นชื่อว่าเรากำลังสร้างวิธีให้ใจของเราได้ทำหน้าที่อย่างที่มันควรจะเป็น เป็นการให้ชีวิตจิตใจของเราได้เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีคุณค่า เพื่อให้ชีวิตได้เป็นแหล่งพักของสิ่งต่างๆอย่างที่มันควรจะเป็น โดยให้ใจได้ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา แล้วทำการแยกแยะสิ่งดีและร้ายให้ออกจากกัน
พร้อมกันนั้น ก็ให้ใจได้เรียนรู้ทั้งด้านบวกและด้านลบของปัญหา แล้วรู้จักที่จะสร้างปัญญาจากความยุ่งยาก ที่เคยทำให้ผู้ที่ไร้สติครองน้ำตานองหน้ามาก่อน ได้แปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ เพราะรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อทำได้เช่นนี้ ทุกการเคลื่อนไหวของชีวิตจิตใจที่เราได้ครอบครอง ก็พร้อมที่จะแปรขบวนชีวิต ให้เป็นไปในกรอบของความดีงามตามวิถี ซึ่งช่วยฟ้องให้เรารู้ว่าชีวิตมีค่าเสมอหากเราเข้าใจมัน
พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แม้จะถูกล้อมกรอบให้ลุ่มหลงในความเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์เพียงใด แต่พระองค์ก็ไม่ยอมที่จะให้สิ่งร้ายๆ มาครอบครองพื้นที่ชีวิตทั้งหมด พระองค์ได้เรียนรู้ที่จะฝึกใจให้เข้มแข็ง ด้วยการหมั่นไตร่ตรองข้อบกพร่องที่มีอยู่ เพื่อให้เห็นความจริงที่ชีวิตควรจะรู้จัก จนเมื่อการฝึกฝนที่จะออกจากปัญหาสุกงอม พระองค์จึงเลือกที่จะสละความเป็นเจ้าชาย แล้วมาอยู่กับเหตุผลของคนธรรมดาที่สามารถบรรลุสัจธรรมในชีวิตได้
เหตุผลหลักที่ทำให้เจ้าชายผู้เคยอยู่สุขสบายในทางโลกได้เลือกเปลี่ยนมาอยู่กับความสุขสงบทางธรรม เพราะพระองค์ได้เรียนรู้ว่า ตราบใดที่ชีวิตยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ แม้วันนี้อาจรู้สึกว่ายังสุขสบายดี แต่หากความสุขนั้นเป็นของปลอม เราย่อมบ่ายหน้าไปสู่ความทุกข์ในครั้งใหม่เช่นเดิม แต่หากยอมเหน็ดเหนื่อยในวันนี้ ด้วยการฝืนทวนกระแสความคิดที่มาบังคับเพื่อหลอกให้เราทำตาม แม้เบื้องต้นอาจเหนื่อยล้าเพราะถูกปัญหารุมเร้า แต่เมื่อฝึกฝนจนก้าวผ่านได้ ทุกหยาดเหงื่อของความรู้สึกที่เคยร้อนลน ย่อมกลายเป็นน้ำฝนที่พร่างพรมลงมาให้เรารู้สึกเย็นใจได้ในทุกครั้งที่สัมผัส
ดังนั้น เมื่อต้องการความสุขที่ยั่งยืนมาเป็นรางวัลตอบแทนการเกิดมาของชีวิต เราไม่ควรที่จะให้จิตใจไหลลู่ตามแรงโน้มถ่วงของอารมณ์ ไม่ควรให้ความรู้สึกที่ติดลบมาเหยียบย่ำชีวิตจิตใจ แล้วต้องทำให้เราเป็นได้แค่ผู้ยอมจำนน แต่เราควรรู้จักเรียนรู้และทนฝืนความรู้สึกที่เป็นการตามใจ ให้เปลี่ยนมาเป็นความต้องการที่จะฝึกฝืน เพื่อให้ผ่านความรู้สึกที่เคยชื่นชอบ ให้มาเป็นความเข้าใจตามความเป็นจริง โดยมีสติปัญญาเป็นผู้คอยกลั่นกรองให้เห็นความสงบนิ่งของใจแทน
แล้ววันหนึ่งที่ฝึกฝนจนสอบผ่าน เราย่อมมีจิตใจที่แข็งแกร่งเป็นของตัวเอง ซึ่งจะเป็นเครื่องนำพาให้เราได้เดินไปสู่ชีวิตที่สงบสุข และมีความงามของการสร้างสรรค์ ดั่งคนที่ไร้ทุกข์ทางจิตอย่างถาวร
เมื่อถึงวันนั้น ความทุกข์ที่เคยเหยียบย่ำให้เจ็บช้ำ ก็จะกลายเป็นครูสอนให้เราฉลาดขึ้น และทำให้เรากล้าที่จะก้าวข้ามปัญหา เพื่อไปสู่การเกิดปัญญาชนิดใหม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ขึ้นไปยืนอยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวงได้อย่างสง่างาม