หลังจากผ่านพ้นวันอาสาฬหบูชามาแล้วพุทธศาสนิกชนคงได้มีโอกาสไปทำบุญ ตักบาตร เพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้กับชีวิตกันมาบ้างแล้ว และในวันเข้าพรรษานนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จะเริ่มต้นในการลด-ละ -เลิก -อบายมุข ทั้งหลายทั้งปวงออกไป…
สำหรับวันเข้าพรรษานั้น จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่เทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน ที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากทั่วไปว่า จำพรรษา ซึ่งการเข้าพรรษานี้ ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์
เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน และป้องกันความเสียหายจากการเดินที่อาจเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือน เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้อยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความสามัคคี ในหมู่คณะสงฆ์
เข้าพรรษาชวนชาวพุทธ ลด-ละ-เลิก-อบายมุข
วันเข้าพรรษาถือเป็นวันและช่วงเทศกาลที่สำคัญในประเทศไทยต่อเนื่องจากวันอาสาฬหบูชา
ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา และยังมีสิ่งพิเศษจากวันสำคัญอื่นๆ คือ มีการถวายหลอดไฟ หรือ เทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้ในการอยู่จำพรรษา อีกทั้งในอดีตชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช คือ 20 ปี มักนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ เพื่ออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน หรือเรียกว่า บวชเอาพรรษา
ปัจจุบันในส่วนราชการที่รับผิดชอบคือกระทรวงวัฒนธรรม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ได้รณรงค์ ให้คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธทุกคนใช้วันเข้าพรรษานี้เป็นวัดเริ่มต้นในการลด-ละ -เลิก - อบายมุข ทั้งปวง นายนิพิฏฐ์เปิดเผยกับ"ไทยรัฐออนไลน์"ว่า กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมการศาสนาขอเชิญชวนประชาชนเข้าวัด ปฏิบัติจิตทางศาสนา เช่นการทำบุญตักบาตร การถวายเทียนพรรษา การลด ละ เลิก อบายมุข ตลอดสัปดาห์และต่อจากนี้ไป 3 เดือน หรือว่าตลอดไปด้วยยิ่งดี
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เน้นเป็นกรณีพิเศษในการเข้าวัดปฏิบัติจิตทางศาสนา
ขอให้พี่น้องประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน ได้นำเด็ก เยาวชน บุตรหลาน ครอบครัวไปด้วย โดยเฉพาะเยาวชน คนรุ่นใหม่ อยากให้ผู้ปกครองพาไปเข้าวัดด้วย เพื่อเป็นการปลูกฝังฝึกนิสัยให้อยู่ใกล้วัด เด็กเหล่านี้จะได้เกิดความซึมซับวัฒนธรรมประเพณีของไทย เข้าใกล้พระพุทธศาสนา อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อหลอมให้เด็กมีจิตใจที่อ่อนโยน และสามารถนำหลักธรรมไปเป็นหลักในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเหมาะกับสภาพสังคมไทยเวลานี้ที่ต้องการสติในการดำเนินชีวิต
"ขอฝากไปถึงพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศทั้งหลายว่าขอให้ใช้โอกาสวันสำคัญทางศาสนา ลด ละ เลิกอบายมุข โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานหลายๆฝ่าย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นที่รู้เหมือนกันทุกคนว่าสุราเป็นบ่อเกิดของอุบัติเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ดังนั้นขอให้นับจากนี้ ทุกคนควรจะตั้งใจเพื่อทำความดีถวายเป็นพุทธบูชา และหากปฏิบัติได้ต่อเนื่องตลอดไปก็จะเป็นสิ่งที่ดี.
ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย