หลักการสอนของพระพุทธเจ้า
๑. สันทัสสนา = อธิบายให้เห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่าง
๒. สมาทปนา = โน้มน้าวจิตใจให้ผู้ที่ถูกสอนมีใจที่จะทำตามโดยไม่ยาก
๓. สมุตเตชนา = ให้กำลังใจเพื่อให้เกิดความอุตสาหะในการที่จะทำ
๔. สัมปหังสนา = สอนให้เกิดความเพลิดเพลินไม่น่าเบื่อหน่าย
รายละเอียดปลีกย่อยในการสอนของพระองค์ก็ยังมีอีกมากมาย ที่สำคัญคือพระองค์มี ปรจิตตวิชานนะ
คือทรงรู้จิตรู้ใจของคนที่พระองค์จะสอนเป็นอย่างดี ทรงรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ว่าคนชนิดไหนควรจะได้รับการสอนอย่างไร เป็นต้น จะขอยกตัวอย่างการสอนของพระพุทธเจ้าให้ดูเป็นแบบก็คือ
- สอนจากสิ่งที่รู้แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ :
เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนสิงคาลมาณพในสิงคาล สูตรที่เขากำลังไหว้ทิศทั้ง ๖ ตามที่บรรพบุรุษของเขาสั่งสอนมา โดยก็ไม่ทราบว่าไหว้ไปทำไม
แต่พระองค์ได้กลับใจเขา ทรงสอนให้เขาเข้าใจทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนาอย่างนี้เรียกว่า สอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้
- สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม :
เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนพระนาง รูปนันทาเถรี โดยพระองค์ทรงเนรมิตหญิงสาวสวยให้ถวายงานพัดใกล้ ๆ กับพระองค์ ในเวลาที่ทรงแสดงธรรม เพราะทรงรู้ว่าพระนางรูปนันทาเป็นผู้หนักในรูปคือเป็นพวกราคจริต
พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตให้หญิงนั้นเริ่มจาก
วัยรุ่น > ไปสู่วัยกลางคน > วัยชรา> และเสียชีวิตลงในที่สุด
และทรงแสดงความไม่เที่ยงแห่งสังขารในวาระสุดท้ายคือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา อย่างนี้เรียกว่า สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม
- สอนโดยการใช้อุปกรณ์ :
เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนพระจูฬปันถก โดยทรงให้พระจูฬปันถกใช้ฝ่ามือลูบคลำชิ้นท่อนผ้า โดยให้บริกรรมว่า รโชหรณํ รโชหรณํ ไปเรื่อย ๆ
เมื่อใช้เวลานานเข้า ชิ้นท่อนผ้าก็เก่าเศร้าหมองเกิดขึ้น พระจูฬปันถกก็ได้คิดว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง และในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่า การสอนโดยใช้อุปกรณ์ประกอบการสอน
- สอนให้เกิดความคิดขึ้นมา :
เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนนางกิสาโคตมี คือนางกิสาโคตมี ได้อุ้มลูกน้อยซึ่งตายแล้วไปเที่ยวขอยาตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจะเอามารักษาลูกของนางให้ฟื้นคืนชีพ คนทั้งหลายเริ่มเข้าใจว่านางคงจะเป็นบ้าไปเสียแล้ว
แต่ก็ยังมีคนที่คิดจะช่วยนาง บอกว่าให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์อาจมียารักษาลูกของนางให้หายได้
นางดีใจมากเมื่อได้ยินอย่างนี้ เมื่อนางได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า มี.....มียาพอที่จะรักษาลูกของนางให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ แต่มีข้อแม้อยู่เพียงข้อเดียวคือต้องไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาด มาจากบ้านของคนที่ยังไม่เคยมีใครตายเลย
นางกิสาโคตมี ดีใจมากรีบอุ้มลูกน้อยไปเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ บ้านแล้วบ้านเล่า ไม่มีสักบ้านเดียวที่ไม่เคยมีคนตาย จึงเกิดความท้อแท้ใจ
จากนั้น นางเริ่มจะคิดได้และปลงตกกับความจริงของธรรมชาติชีวิตว่า สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสลายไปในที่สุด ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยสูญเสียสิ่งที่ตนเองรัก สิ่งที่ตนเองชอบใจ
จากนั้นนางไม่มีความคิดที่จะหายามารักษาลูกของนางอีกต่อไป เดินมุ่งหน้ากลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าและขอบวชเป็นภิกษุณี และได้บรรลุพระอรหันต์ในที่สุด
วิธีการสอนอย่างนี้ของพระพุทธเจ้าเรียกว่า การสอนให้เกิดความคิดขึ้นมาเอง
แต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนมากมาขอเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาที่หลากหลายกับพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการตอบปัญหาอยู่ ๔ อย่าง คือ
๑. เอกังสพยากรณ์
ทรงตอบไปโดยส่วนเดียว เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๒. วิภัชพยากรณ์
ทรงแยกตอบไปตามลักษณะของเรื่องนั้นๆ เช่น ถ้ามีคนถามปัญหาว่า "ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่"
จะทรงตอบจำแนกไปตามเหตุและผล คือ เมื่อเหตุให้เกิดมีอยู่ การเกิดก็ต้องมี เมื่อเหตุของการเกิดไม่มี การเกิดก็ไม่มี
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์
ทรงถามย้อนกลับโดยเอาคำถามที่ถามมา ย้อนถามไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จะได้คำตอบเองเหมือนหลักของตรรกวิทยา เช่น ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร แสดงความคิดเห็นของตนว่า
"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด"
พระองค์ตรัสตอบว่า
"ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้นด้วย"
๔. ฐปนียะ
ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องไร้สาระ ตรัสออกไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ผู้ฟัง
ถ้ามีคนถามปัญหาอย่างนี้ พระองค์ก็จะไม่ได้รับคำตอบ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าพระองค์ไม่รู้ พระองค์ทรงรู้ทรงเป็นสัพพัญญู แต่เป็นปัญหาไร้สาระ ไม่เป็นไปเพื่อคลายความทุกข์ เช่น มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า มาลุงกยบุตร ถามปัญหาทางอภิปรัชญากับพระองค์ว่า
โลกนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมี ที่สุดหรือไม่มีที่สุด เป็นต้น พระองค์จะไม่ทรงตอบปัญหาเช่นนั้น
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสทุกครั้ง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลัก ๔ ประการคือ
๑. เป็นเรื่องจริง
๒. เป็นธรรม
๓. มีประโยชน์
๔. เหมาะสมแก่กาล
ขอบคุณบทความจาก โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!