รู้จัก ซิลิโคน ที่ใช้ในวงการแพทย์

รู้จัก ซิลิโคน ที่ใช้ในวงการแพทย์




หากจะกล่าวถึงวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในวงการแพทย์ นอกจากเครื่องมือแพทย์ ที่เราพบเห็นได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หูฟังของหมอ มีด เข็มฉีดยา ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดัน แล้ว เราก็ยังสามารถพบเห็นวัสดุที่แพทย์มักใช้กันมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศัลยกรรม
       
ใช่แล้ว..นั่นคือ “ซิลิโคน”
       
      ซิลิโคน เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้กันมากในปัจจุบัน และจะใช้กันมากในวงการแพทย์ทางด้านศัลยกรรม ทั้งตกแต่ง แก้ไขความผิดปกติ และเสริมความงาม วัสดุอย่างซิลิโคน สามารถนำมาใช้ได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งการนำมาใช้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของซิลิโคน 
       
เนื่องด้วยซิลิโคนมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกับวัสดุชนิดอื่น ทำให้เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ แต่ถึงกระนั้น ซิลิโคนก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพฉบับนี้ จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “ซิลิโคน”
       
ซิลิโคน เป็นวัสดุสารสังเคราะห์โพลิเมอร์ในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน
ซึ่งมีส่วนประกอบที่เล็กที่สุด เรียกว่า ซิโลเซน ชนิดของ   ซิลิโคนที่นำมาใช้และพบได้บ่อยที่สุดก็คือ โพลีไดเม็ทธิล ซิโลเซน หรือ พีดีเอ็มเอส
       
วัสดุอย่าง   ซิลิโคน หากมีส่วนประกอบทางเคมีที่รวมตัวกับสารอื่น จะทำให้ซิลิโคนอยู่ ในสถานะต่าง ๆ ได้ เช่น ของเหลว แขวนลอย ของแข็ง หรือ ทำให้มีความยืดหยุ่นใด ๆ ก็ได้ จึงมีการนำซิลิโคนมาใช้กันอย่างกว้างขวาง และมักพบว่ามีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการบินกันมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติคงตัว ทั้งในอุณหภูมิต่ำและ  สูง นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในวงการแพทย์ได้ เพราะมีปฏิกิริยากับร่างกายน้อย
       
การนำวัสดุซิลิโคนมาใช้ในวงการแพทย์ มักเกิดประโยชน์สำหรับการนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับให้สารทางหลอดเลือด ทำเลนส์ตาเทียม ข้อเทียม นำมาฝังเพื่อเสริมความงาม เช่น เสริมจมูก เสริมเต้านม โหนกแก้ม คาง และการใช้ทำเป็นถุง เพื่อยึดขยายผิวหนัง และแม้แต่ฝังในอวัยวะเพศชาย เพื่อช่วยให้สามารถแข็งตัวได้ในรายที่หมดสมรรถภาพ อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบของลิ้นหัวใจเทียมเช่นกัน
       
ด้วยคุณสมบัติที่มีความคงทน ความตึงผิวต่ำ และไม่เป็น พิษ ทำให้สามารถฝังไว้ในร่างกายได้เป็นเวลานาน โดยไม่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ซิลิโคนที่นำมาใช้ทางการแพทย์ได้นั้น ต้องผ่านขบวนการผลิตที่มีความบริสุทธิ์สูง ปราศจากสารเจือปน และต้องมีมาตรฐานการผลิตเพื่อการอุตสาหกรรม ที่ต้องผ่านกระบวนการการตรวจสอบคุณภาพและทดสอบการใช้ในสิ่งมีชีวิตมาแล้วจึงจะสามารถนำมาใช้กับคนได้
       
สำหรับความต้องการในเรื่องการเพิ่มขนาดหน้าอกของทั้งเพศหญิงและชาย ทำให้เริ่มมีการใช้ถุงซิลิโคนเสริมหน้าอกกันมาตั้งแต่ 50 ปีก่อน เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาเป็นลำดับเพื่อความปลอดภัย จนมีลักษณะใกล้เคียงเต้านมธรรมชาติ ซึ่งมีรายงานว่า การเสริมหน้าอก ด้วยถุงซิลิโคนที่ผ่านมาตร ฐานทางการแพทย์นั้น มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และโรคทางระบบภูมิต้านทาน
        
แต่ด้วยคุณสมบัติของ  ซิลิโคนที่นำมาใช้ ก็มีอันตราย ที่เกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งมัก เกิดจากการใช้งานไม่ถูกวิธี เช่น การทำผ่าตัดที่ขาดประสบการณ์ การผ่าตัดที่ไม่สะอาดเพียงพอ การใช้ขนาดของซิลิโคนที่ไม่เหมาะสม และการขาดความเข้าใจในการดูแลหลังผ่าตัด หรือในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องและรวดเร็ว นั่นก็ทำให้เกิดอันตราย อันเป็นข้อเสียที่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงควรระมัดระวัง และศึกษาข้อดีข้อเสียจากแพทย์เสียก่อน
   
ดังนั้นแล้ว ก็มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะรับการทำศัลย กรรมความงามทั้งที่ใช้ซิลิโคน หรือไม่ใช้ซิลิโคนก็คือ ต้องมีการศึกษาให้รอบด้านทั้งข้อดี ข้อเสีย และควรสังเกตประสบการณ์ของแพทย์ด้วย มิใช่เชื่อจากสื่อโฆษณาเพียงอย่างเดียว
       
การพัฒนาของวัสดุทางการแพทย์ จะมีต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองทั้งการรักษาโรค และการเสริมความงาม โดยน่าจะไปในทิศทางที่มีความปลอดภัย คงทนถาวรมากขึ้น คุณสมบัติใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อจริงมากขึ้น โดยอาจไม่ใช้วัสดุซิลิโคนก็ได้ อาจจะเป็นการปลูกถ่ายเซลล์ของมนุษย์เอง หรือกลุ่มสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด)
       
ต้องบอกว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้น..กำลังก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งเสียจริง..


นพ.คชินท์ วัฒนะวงษ์

หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์