มะเมี้ยะ” เป็นเรื่องจริงหรือตำนาน
โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
บันทึกเกี่ยวกับพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ "มะเมี้ยะ" เป็นเรื่องจริงหรือตำนาน
เรื่องมะเมี้ยะนั้นเป็นเรื่องจริงหรือตำนาน เจ้าชายในบทเพลงมีจริงหรือเปล่า
เรื่องเจ้าชายแห่งนครเชียงใหม่กับสาวพม่ามะเมี้ยะ เกิดขึ้นจริงระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๐-๒๔๓๘ ประมาณนั้น เจ้าชายชื่อว่า ศุขเกษม โอรสเจ้าอุปราช ซึ่งเป็นอนุชาของเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครฯองค์ที่ ๘ เวลานั้นอายุของเจ้าศุขเกษมเห็นจะประมาณ ๑๖-๑๗ เจ้าพ่อจึงส่งไปเรียนต่อที่เมืองมะละแหม่ง
เจ้าศุขเกษม อยู่พม่า ๕ ปี กำลังหนุ่มคะนอง เกิดไปรักใคร่กันกับผู้หญิงพม่าขายบุหรี่ในตลาดชื่อมะเมี้ยะ เมื่อกลับเชียงใหม่ จึงแอบพามะเมี้ยะมาด้วย ครั้นเจ้าพ่อและเจ้าหลวงทราบเรื่อง ก็แน่ละ...ย่อมต้องบังคับให้เลิกกัน และส่งมะเมี้ยะกลับ ทั้งนี้เหตุผลมิใช่อยู่ที่การต่างชั้นวรรณะ เพราะเจ้านายนั้นจะมีเมียสักกี่คนก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้า แม้พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ (หรืออินทวิชยานนท์) เจ้าพ่อของเจ้าหลวงอินทวโรรสฯ และเจ้าอุปราชเองก็มีชายาแรกเป็นช่างซอ และมีชายาอีกหลายคน ก่อนจะอภิเษกกับแม่เจ้าทิพไกรสร (หรือทิพเกษร)
ทว่าความสำคัญอยู่ที่มะเมี้ยะนั้นคือสัญชาติอังกฤษ เวลานั้นอังกฤษเข้าครอบครองพม่าอยู่ การที่เจ้านายเชียงใหม่ ผู้เป็นโอรสใหญ่ของเจ้าอุปราช และอาจได้ขึ้นเป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ต่อไปข้างหน้า พาสาวพม่าในบังคับอังกฤษเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่นั้น อาจเป็นเหตุให้เกิดเป็นชนวนการเมืองขึ้นได้ โดยเฉพาะอังกฤษนั้นพยายามหาหนทางเข้าควบคุมเชียงใหม่อยู่แล้ว ถึงมีข่าวลือว่า สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจะขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นราชบุตรีบุญธรรม
ด้วยเหตุนี้ เจ้าศุขเกษม จึงต้องส่งสาวมะเมี้ยะกลับ อย่างที่บทเพลงพรรณนาว่า ส่งขึ้นช้างไป
เรื่องประเภทนี้ หากนำมาแต่งเป็นเพลง หรือนวนิยาย ก็ต้องสร้างบรรยากาศหรือจินตนาการให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านหวั่นไหวไปกับตัวนางเอก พระเอก โดยเฉพาะตอนที่ว่า มะเมี้ยะสยายผมเช็ดเท้าเจ้าศุขเกษมสามี เรื่องสยายผมเช็ดเท้าสามียามต้องจากกันนั้น ว่าที่จริงแล้วคงเป็นธรรมเนียมโดยทั่วไปของสตรีพม่าตลอดจนล้านนา เพราะเมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทราบถวายบังคมลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นไปเยี่ยมเยือนเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ นั้น
เมื่อเสด็จไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสด็จมาส่งกันเป็นจำนวนมาก (เสด็จโดยรถไฟถึงปากน้ำโพหรือนครสวรรค์ แล้วจึงเสด็จต่อไปโดยขบวนเรือ คือเรือเก๋งประพาส เรือแม่ปะ เรือสีดอ เรือชล่า)
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ไปส่งเสด็จด้วย ได้ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องนี้ว่า พระราชชายาทรงสยายพระเกศาลงยาวเกือบถึงข้อพระบาท ทรงใช้พระเกศาเช็ดฉลองพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อกราบถวายบังคมลา
ฝ่ายเจ้าศุขเกษม ครั้นส่งมะเมี้ยะกลับไปแล้ว อีกไม่นานนักก็ตามเสด็จเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าลุงลงมาเฝ้าพระราชชายาฯเจ้าอาที่กรุงเทพฯ
เจ้าศุขเกษมได้พบกับเจ้าบัวชุม ซึ่งตามศักดิ์แล้ว เป็นน้องของพระราชชายา ขณะนั้นอายุ ๒๐ พระราชชายาทรงเลี้ยงดูมาแต่อายุ ๗ ขวบ ต่างพึงพอใจกัน จึงสมรสกับเจ้าบัวชุม แต่มิได้มีบุตรธิดาด้วยกัน เจ้าศุขเกษมและเจ้าบัวชุมครองคู่อยู่ด้วยกันเพียง ๗ ปี เจ้าศุขเกษมก็สิ้นชนมชีพด้วยอายุเพียง ๓๓ ปีเท่านั้น
ที่มา
นิตยสาร สกุลไทย