แผ่นดินสุวรรณภูมิ เรื่องจริงหรือตำนาน
แผ่นดินสุวรรณภูมิ เรื่องจริงหรือตำนาน
แผ่นดินสุวรรณภูมิ เรื่องจริงหรือตำนาน
สารคดีเล่าเรื่องถึงการเดินทางมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิโดยชาวอินเดีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3-5 โดยผู้ชมจะติดตามผู้ดำเนินรายการที่เดินทางไปถึงอินเดียตอนใต้ และดินแดนที่ความศรัทธาทางศานาได้เข้ามาเผยแพร่ เช่น ลาว เวียตนาม อินโดนีเซีย บาหลี รวมถึงการสำรวจเส้นทางการค้าโบราณผ่านคาบสมุทรทางตอนใต้ของไทย จากจังหวัดกระบี่ที่คลองท่อม ถึงทางออกทะเลที่สุราษฎร์ธานี
ตอนหนึ่งกล่าวถึงชาวอินเดียตอนใต้ เดินทางมากับเรือใบที่ไม่ใหญ่โตนักเลียบชายฝั่งทะเล แวะตามเมืองท่าใหญ่ๆมาเรื่อยๆ จนถึงภาคใต้ของไทยที่จังหวัดกระบี่ ส่วนทะเลด้านตะวันออก ชาวจีนสมัยราชวงค์ฮั่นก็ล่องเรือมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมาสู่เมืองท่าที่เขาแก้ว ชุมพร และร่องรอยของสินค้า เช่น เครื่องประดับ (ลูกปัด ทองคำ ภาพสลักบนหินมีค่า)ชิ้นส่วนของถ้วยชาม เทวรูปของป่า
ผู้เขียนเคยฟังนักวิชาการท่านหนึ่งเล่าว่า อักษรในดินแดนสุวรรณภูมิ มีพัฒนาการมาจากอินเดียใต้ หรือพวกทมิฬ เมื่อคนพื้นเมืองเข้มแข็งขึ้นได้พัฒนาการเป็นอักษรทวารวดี ต่อมาได้แบ่งเป็นสองสาย คือ สันสกฤตใช้บันทึกลงแผ่นหินเรียกอักษรเขมร และบาลีบันทึกบนใบลานเรียกว่าอักษรมอญ การที่อักษรมอญ มนๆ กลมๆ เพราะการบันทึกบนใบลาน ใบลานจะไม่แตก ผู้เขียนเข้าใจว่าคนพื้นเมืองเดิมคงมีภาษาพูดมาก่อน การสะกดตัวอักษรน่าจะเลียนเสียงภาษาพูดที่มีอยู่เดิม
สุวรรณภูมิเป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงทำให้มีผลผลิตจากธรรมชาติมากมายที่ชาวโลกต้องการ และแน่นอนที่นี่มีทองคำจริงๆ กับแร่ธาตุมีค่าอื่นๆ เช่น ทองแดง ดีบุก เหล็ก สมชื่อ "แผ่นดินทอง" ซึ่งความร่ำรวยทางธรรมชาติเช่นนี้เอง ทำให้ชาวโลกต้องเดินทางมาแสวงโชคถึงที่นี่
นักบวชจากอินเดียเมื่อมาถึงสุวรรณภูมิ เห็นคนในแถบนี้ไม่ใส่เสื้อคิดว่าเปลือยกาย ที่จริงแล้วยังมีมีผ้าปิดของสงวนอยู่ จึงเรียกว่านาคา หรือนาค คนพื้นเมืองเหล่านี้น่าจะนับถือผี ถึงแม้จะรับศาสนาพราหมณ์ และพุทธแล้ว ก็ยังนับถือผีควบคู่กันอยู่ จะไม่นับถือผีก็ไม่ได้ เพราะปู่ย่า ตายาย ไม่ได้ไปไหน ยังมาแสดงตัวอยู่เสมอๆ ปัจจุบัน ชาวใต้หลายครอบครัวยังมีผีของบรรพบุรุษเป็นองค์ที่นับถือประจำบ้านอยู่
ในดินแดนสุวรรณภูมิที่มีชายทะเลยาวมาก และขึ้นชื่อในด้านความอุดมสมบูรณ์ คงมีชาวต่างชาติเข้ามาแสวงโชค พ่อค้าวานิช นักบวช นักรบ ต่างชาติต่างภาษา การผสมต่างสายพันธุ์ย่อมมีขึ้นเป็นธรรดา ทำให้ผู้เขียนเกิดความคิดว่า เมืองใหญ่ใกล้ทะเล หรือคนพื้นเมืองชายทะเลที่เป็นเมืองท่า คงได้ปะทะสังสรรค์ทั้งทางวัฒนธรรมและผสมผสานทางเชื้อชาติ น่าจะทำให้สติปัญญาปราดเปรื่องกว่าคนในพื้นที่ลึกๆ
เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เราสามารถมองเห็นประวัติศาสตร์ทางชนชาติ ผ่านชุมชนบุพกาลที่ยังรักษาธรรมเนียมโบราณไว้ ซึ่งเป็นชุมชนก่อนที่จะวิวัฒนาการมาเป็นสังคมในยุคปัจจุบัน เช่น ชาวเขาเผ่าอีก้อ แต่ทุกวันนี้ยังไม่แน่ใจ เพราะความสมัยใหม่ได้เข้าไปถึงทุกหย่อมหญ้า แต่ยังมีเผ่าพันธุ์หนึ่งที่อารยธรรมทำอะไรพวกเขาไม่ได้ เขาคือพวก"ผีตองเหลือง" หรือไม่แน่?
จากรายการทีวีนี้ได้ยืนยันถึงชุมชนบุพกาลที่ยังมีอยู่ว่า “จากกลองมโหระทึก ที่พบกระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อกันว่า เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ทางวัฒนธรรมของสุวรรณภูมิ เราสังเกตว่า มักตกแต่งลวดลายเป็น รูปคนแต่งกาย ด้วยผ้าสองชาย บ้านเรือนเสาสูง คนถือหอก แหลน เราตามหาคนกลุ่มนั้น จนพบว่า ภาพนั้นไม่ได้หยุดนิ่ง เป็นแต่เพียงบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง ของชาวสุวรรณภูมิ เพราะทุกวันนี้ ยังมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของลาว ไปจนถึงตอนกลางของเวียดนาม พวกเขามีชีวิต สังคม ความเป็นอยู่แทบไม่ต่างกับภาพที่ปรากฏในมโหระทึก"
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี "ราว พ.ศ. 400 ไทยได้อพยพจากถิ่นเดิมมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ใกล้อาณาเขตมอญ ซึ่งกำลังเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น เริ่มแรกคงเริ่มเลียนแบบตัวอักษรมาจากมอญ ต่อมาราว พ.ศ. 1500 เมื่อขอมขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนของคนไทยซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำยม และได้ปกครองเมืองเชรียงและเมืองสุโขทัย ไทยก็เริ่มดัดแปลงอักษรที่มีอยู่เดิมให้คล้ายกับอักษรขอมหวัด
อักษรมอญและอักษรขอมที่เรานำมาดัดแปลงใช้นั้นล้วนแปลงรูปมาจากอักษรพราหมี ของพวกพราหมณ์ซึ่งแพร่หลายในอินเดียตอนเหนือ และอักษรสันสกฤตในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งแพร่หลายบริเวณอินเดียตอนใต้ อักษรอินเดียทั้งคู่นี้ต่างก็รับแบบมาจากอักษรฟินิเชียนอีกชั้นหนึ่ง อักษรเฟนีเซียนับได้ว่าเป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นแม่แบบตัวอักษรของชาติต่างๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป
ราว พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทยที่เรียกกันว่า "ลายสือไทย" ขึ้น ซึ่งได้เค้ารูปจากอักษรอินเดียฝ่ายใต้ รวมทั้งอักษรมอญและเขมรที่มีอยู่เดิม (ซึ่งต่างก็ถ่ายแบบมาจากอักษรอินเดียฝ่ายใต้ทั้งสิ้น) ทำให้อักษรไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับอักษรทั้งสาม แม้บางตัวจะไม่คล้ายกัน แต่ก็สามารถรู้ได้ว่าดัดแปลงมาจากอักษรตัวไหน
อักษรไทยมีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ในสมัยพญาฦๅไทราว พ.ศ. 1900 มีการแก้ไขตัวอักษรให้ผิดเพี้ยนไปบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะการเพิ่มเชิงที่ตัว ญ ซึ่งใช้ติดต่อเรื่อยมาจนทุกวันนี้ คาดว่าน่าจะเอาอย่างมาจากเขมร ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ. 2223 ตัวอักษรเริ่มมีทรวดทรงดีขึ้นแต่ก็ไม่ทิ้งเค้าเดิม มีบางตัวเท่านั้นที่แก้ไขผิดไปจากเดิม คือตัว ฎ และ ธ ซึ่งเหมือนกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตัวอักษรและการใช้งานมีความคล้ายคลึงกับในปัจจุบันมากที่สุด"
คนไทยมาจากไหน นักประวัติศาสตร์คงต้องแสวงหาความรู้กันต่อไป เรารู้เพียงแต่ว่าชุมชนโบราณที่มีอิทธิพลในการคุมเส้นทางการค้าที่สำคัญ เรียกตัวเองว่าไทย คนเผ่าพันธุ์อื่นที่อยู่ใต้ปกครองก็ถือว่าเป็นคนไทยด้วย เวลาผ่านไปนานเข้า ก็ผสมกันจนแยกไม่ออกว่าเผ่าพันธุ์เดิมเป็นมาอย่างไร ซึ่งคงไม่พ้น จีน ลาว เขมร มอญ และชาติอื่นๆที่อบพยพเข้ามาทางทะเล
ขอบคุณ @cloud