♣ หลังแต่งงาน .. ไม่หวานเหมือนเคย ♣
สมัยยังเป็นแฟนกัน ชี้นกแล้วบอกว่าไม้ ก็เชื่อ ประมาณว่า "เธอว่าไงฉันก็ว่าตาม" แต่หลังจากแต่งงานกันแล้ว ที่เคยชี้นกแล้วเป็นไม้ นอกจากไม่เป็นเหมือนเคยแล้วอาจถูกเหมารวมว่าไร้สาระ คิดได้ไง อะไรประมาณนั้น....มันเป็นอย่างนั้นไปได้ยังไง ใครกันแน่ที่เปลี่ยนไป
สถานการณ์ชีวิตคู่อย่างนี้ต้องให้ น.พ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์และคอลัมนิสต์สำนวนพริ้ว มาช่วยแจกแจงวิเคราะห์เหตุและผลผ่านประสบการณ์อันช่ำชอง (แต่ได้รับการยืนยันว่ารักเดียวใจเดียว มีภรรยาเพียงหนึ่งเท่านั้นจ้ะ)
จูงมือกันอยู่ดี ๆ แต่งไปไม่นานแค่เดินยังไม่อยากเข้าใกล้ รึจะใช่สัญญาณ
ห่างเหิน...ไม่จำเป็นเสมอไปหรอกครับ เพราะปกติผู้ชายเดินเร็วก้าวเท้าเร็ว ผู้หญิงมักเดินอ้อยอิ่ง ตอนสมัยเป็นแฟนกัน มันก็ยังรอกันได้ แต่พอแต่งงานกันไปแล้ว การเอาอกเอาใจ ความเกรงใจมันก็น้อยลง นอกเหนือจากการเดินห่างกันแล้ว ต้องดูพฤติกรรมอื่น ๆ ของสามีด้วยว่าเขายังเอาใจใส่และเทคแคร์ความรู้สึกของอีกฝ่ายอยู่หรือเปล่า
ก็ทำอย่างนี้น่ะสิ...เธอถึงบ่น เขาถึงบ่น เราทั้งสองจึงต่างบ่น
จริง ๆ มันก็ไอ้พฤติกรรมเดิม ๆ ที่เป็นมาตั้งแต่ยังเป็นโสดนั่นแหละครับ แต่ที่ต้องบ่นเพราะ 2 สาเหตุ คือ
1. ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะตอนเป็นแฟนกันมันปิดบังมาตลอด หรือสร้างภาพให้ดูดี เพิ่งมารู้ธาตุแท้หรือตัวตนที่แท้จริงหลังจากเป็นสามีภรรยากันแล้วนี่แหละ เช่น กินมูมมาม ผายลมอย่างเปิดเผยและสง่างาม เรอแบบไม่เกรงใจใคร หรือพฤติกรรมบางอย่างที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว เช่น นอนกรน เป็นต้น
2. รู้มาตั้งแต่เป็นแฟนกันแล้ว แต่พอแต่งงานแล้ว มันมีความคาดหวังมากขึ้นว่าเธอจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่เขาก็ยังเหมือนเดิม เช่น ชอบเที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูง กินเหล้า สูบบุหรี่ บ้าช้อปปิ้ง ขี้เหนียว หมกมุ่นเรื่องทางเพศ ฯลฯ
ตอนเป็นแฟนกันนะ คนทั้งสองยังมีความอดทนต่อกันอยู่ แต่หลังจากนั้นเราจะทนกันน้อยลง และอยากให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงและดูดีในแบบที่เราต้องการ...นี่แหละที่มาของคำบ่น
ยิ่งบ่นก็ยิ่งทำ นานวันเข้ารอยร้าวจะมาเยือน
การกระทำเหล่านั้นจะส่งให้เกิดรอยร้าวขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือความอดทนและการปรับตัว คือถ้าฝ่ายหนึ่งรู้ว่าพฤติกรรมของเราเขาไม่ชอบก็ ลด ละ เลิก...อย่างนี้อีกฝ่ายเขาก็สบายใจหายห่วง
แต่ถ้าฝ่ายนั้นเขาไม่เปลี่ยนแปลง ก็ต้องอาศัยความอดทน อดกลั้น หรือปล่อยวางของอีกฝ่าย ภาษาไทยมักใช้คำว่า "ทำใจ" ซึ่งเป็นคำที่ใช้กัน แต่มีความหมายลึกซึ้ง คือแปลว่า การอยู่กับสิ่งที่ตัวเราไม่ชอบ ด้วยสภาพจิตที่ไม่เป็นทุกข์ ภาษาธรรมะเรียกว่าอุเบกขา ภาษาชาวบ้านเรียกง่าย ๆ ว่าปล่อยวาง
ถ้ามีสองปัจจัยนี้ ถึงกระทบแต่ก็ไม่กระเทือน ก็อยู่กันได้อย่างไม่ทุกข์ใจมากนัก ไม่ต้องถึงกับเลิกร้างแยกทางกัน
แบบนี้สิ มากกว่าความห่างเหิน ยิ่งกว่าความห่างไกล เพราะมันกำลังเปลี่ยนไป
เฉยเมย ไม่สนใจกัน ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ ผู้หญิงเริ่มเห็นว่าสามีคนอื่นดีกว่าสามีตัวเอง และผู้ชายก็รู้สึกว่าเมียเพื่อนสวยกว่าเมียเรา . . . เริ่มเกิดความคิดว่าเราคิดผิดที่มาอยู่กินกับคน ๆ นี้ หากปล่อยให้เกิดจุดเริ่มต้นนี้ได้ ขั้นตอนถัดไป ก็คือเริ่มมองหาคนอื่นที่ดีกว่าคู่เดิมที่มีอยู่ . . . ตอนแรกก็แค่คิดในใจ ตอนหลังคิดนอกใจ จากมโนกรรมก็กลายเป็นวจีกรรมและกายกรรมในที่สุด
เราคิดมากไป หรือ เขาเปลี่ยนไปจริง ๆ วัดจากอะไร
การที่มีเรื่องนิดเดียวแต่ฟุ้งซ่านเยอะแยะ เพราะมันมีประสบการณ์เดิม ๆ สะสมในใจ เหตุการณ์เล็กน้อยก็อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การมีปากเสียงกันได้
ถ้าสังเกตตัวเองแล้วเจอว่าเราเป็นคนที่เจอเรื่องขี้ปะติ๋ว แต่โมโหโกรธาใหญ่โต อย่างนี้แปลว่าเรามีแผลใจ แล้วคำพูดหรือการกระทำนั้น ๆ มันไปสะกิดโดนแผลใจ ทำให้เจ็บเยอะหรือเจ็บนาน
เล็ก ๆ น้อย ๆ คลี่คลายสถานการณ์ห่างเหิน
1. อย่าถกเถียงกันเวลาโกรธ เพราะผู้หญิงบางคนมักใช้คำพูดว่า "มาคุยกันให้รู้เรื่องเดี๋ยวนี้" ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถ้าเราคุยกันตอนกำลังยัวะ มันจะเป็นการเอาชนะกัน ไม่นำไปสู่การคลี่คลาย...หน้าที่ของแต่ละคนตอนโกรธ คือต้องจัดการกับการโกรธนั้นให้สงบเสียก่อน ตอนนี้เราจึงจะคุยกันอย่างรับฟังกันมากขึ้น
2. เรียกกันด้วยสรรพนามหวาน ๆ เช่นชื่อเล่น หรือ ฉัน/เธอ ดีที่สุดคือ "ที่รัก/Darling" ไม่ควรเรียกกันว่า "ข้า/เอ็ง" หรือไอ้ที่หยาบกว่านั้น...เพราะถึงเวลาทะเลาะกัน คำหยาบมันหมดสต็อก และจะดูยิ่งรุนแรงด้วยน้ำเสียงและหน้าตาท่าทาง เรื่องราวอาจบานปลายไปกันใหญ่
ไม่มีใครกำหนดว่าการฮันนีมูนทำได้ครั้งเดียวหลังแต่งงาน เราสามารถดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ได้ปีละครั้ง ...การฮันนีมูนแต่ละครั้งนี่เปรียบเสมือนการกระตุ้นยอดขายให้กับสินค้าชิ้นเดิม ๆ แต่ละเดือนก็จัด Midnight Sale ลดแลกแจกแถม พยายามจัดโปรโมชั่นเป็นระยะ ๆ