สำหรับข้อแนะนำที่ทำอย่างไรจะ ไม่ให้มียา เหลือใช้ในบ้าน ทำได้ดังนี้
อ่านฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา ควรอ่านให้เข้าใจว่าใช้อย่างไร ต้องใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือไม่ หรือใช้นานเท่าใด ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ต้องกินติดต่อกันจนหมด เพื่อให้ได้ผลในการรักษาหรือยาหยอดตา เมื่อเปิดใช้แล้วเกิน 1 เดือนให้ทิ้งไป เป็นต้น ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากจะช่วยลดยาเหลือใช้
ยาเหลือใช้ ภัยเงียบสุขภาพ
นำยาที่เหลืออยู่ไปพบแพทย์ตามนัด หากท่านมีโรคประจำตัวหรือโรคที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องและต้องไปพบแพทย์ตามนัด อย่าลืมนำยาที่เหลืออยู่ไปด้วยทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทราบถึงจำนวนยาที่เหลืออยู่และสั่งจ่ายยาตามจำนวนที่หักยาเดิมให้พอถึงวันนัดครั้งต่อไป แทนที่จะสั่งยาให้ตามจำนวนวัน ซึ่งทำให้มียาเดิมเหลือค้างอยู่จำนวนหนึ่ง หากแพทย์มีการเปลี่ยนยาให้ใหม่ และท่านใช้ร่วมไปกับยาเดิมจะทำให้ได้รับยามากเกินไปจนอาจเป็นอันตราย แต่ถ้าท่านไม่ใช้ยาเดิมนั้นก็จะเป็นยาเหลือใช้
ไม่ควรซื้อยาบรรเทาอาการคราวละมากๆ ยาบรรเทาอาการ เช่น ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด หลังจากหายแล้วถ้าเหลืออยู่จะกลายเป็นยาเหลือใช้
สิ่งที่ไม่ควรทำ
อย่านำยาเหลือใช้ไปให้คนอื่นใช้ ขณะเดียวกันก็อย่ากินยาที่คนอื่นให้มา เพราะอาการคล้ายกันแต่อาจไม่ใช่โรคเดียวกัน ขนาดยาก็อาจไม่เหมาะสมและอาจเกิดอาการแพ้ยาได้อีกด้วย
อย่านำยาเหลือใช้มารวมในซองยาหรือขวดยาเดียวกัน
อย่าแกะยาออกจากแผงหากยังไม่ใช้
อย่าเก็บยาในตู้เย็น ยกเว้นยาที่มีฉลากระบุไว้
อย่าเก็บยาในรถที่จอดทิ้งไว้เพราะความร้อนจะทำให้ยาเสื่อม
อย่าหยุดยาเอง เพราะแพทย์จะเข้าใจผิดว่าอาการที่เลวลงเป็นเพราะโรคแล้วเพิ่มยาให้อีก
อย่าซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร เพราะถ้าได้รับยาจำนวนมากจากสถานพยาบาลแล้วอาจได้รับยาซ้ำซ้อน
หากปฏิบัติได้ดังที่กล่าวมา ท่านก็จะปลอดภัย ปลอดโรคจากการใช้ยา อีกทั้งยังช่วยลดยาเหลือใช้ในครัวเรือนและช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาอีกด้วย