มองดูตนเอง

มองดูตนเอง




หลักธรรมะของ...พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

-------

ท่ามกลางบรรยากาศต้นไม้ใหญ่ ใบสีเขียวหนาทึบ
เต็มไปทั่วบริเวณภายในวัดอรัญญาวิเวก (บ้านปง)
ต. อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ล้วนแล้วมาจากการจรรโลงให้เป็น
สถานที่ปฏิบัติธรรมของ หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป
เชื่อไหมว่า วันที่ผมได้เดินทางไปสัมภาษณ์หลวงพ่อเปลี่ยน
ผมไปถึงตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า
ที่เมฆหมอกยังไม่ทันจาง เนื่องจากช่วงนั้นเป็นฤดูหนาวครับ

ความรู้สึกเวลานั้นคิดว่าให้ท่านคงฉันอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จะได้ขออนุญาตท่านสัมภาษณ์ทันที ปรากฏว่า

ท่านยังไม่ได้ลงจากกุฏิ แต่ใจก็ชื่นมื่นอยู่ไม่น้อย
ที่หลวงพ่อยังไม่ได้มีกิจนิมนต์ไปที่ไหน
ทำให้ผมต้องเดินทางออกไปหาอาหารเช้ากินกันก่อน

แล้วค่อยกลับมาหาหลวงพ่อเปลี่ยนอีกครั้ง

ต่อมาเวลาผ่านไปประมาณแปดโมงเช้า
ผมได้กลับเข้าไปวัดเพื่อรอพบหลวงพ่อเปลี่ยน

คราวนี้ได้เห็นพระสงฆ์หลายรูปกำลังกวาดลานวัด
ด้วยอย่างขะมักเขม้น จึงได้เดินตางเข้าไปถามลุงที่เป็นลูกศิษย์

ว่า หลวงพ่อเปลี่ยนลงมาจากกุฏิหรือยัง
ลุงท่านนี้ก็ชี้ไปที่พระรูปหนึ่งกำลังกวาดลานวัดอยู่อย่างกระชุ่มกระชวย

ภาพที่ได้เห็นไม่น่าเชื่อเลยว่า
พระภิกษุสงฆ์รูปนี้อายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว
เพราะว่าท่านยังดูเป็นพระอายุประมาณ ๕๐ กว่าๆเห็นจะได้

ซึ่งผมก็เกือบหน้าแตกเหมือนกันที่ก่อนหน้านี้
จะเดินเข้าไปถามหลวงพ่อเปลี่ยนอยู่เหมือนกันว่า

หลวงพ่อเปลี่ยนลงมาจากกุฏิหรือยัง
ดีว่าไหวตัวทันเสียก่อนไม่เช่นนั้นผมคงหน้าแตกแน่ๆ

จากนั้นผมได้เดินเข้าไปไหว้หลวงพ่อเปลี่ยน
พร้อมกับแนะนำตัวเองว่าจะมา
สัมภาษณ์เพื่อนำประวัติท่านออกไปเผยแพร่ให้กับชาวพุทธได้รับรู้
ท่านยิ้มแล้วพร้อมตอบกลับมาว่า ได้

แต่ขอให้อาตมาฉันอาหารเช้าเสร็จเสียก่อนแล้วค่อยคุยกัน
และเช้าวันนั้นผมยังได้เห็น

ญาติโยมได้มาร่วมทำบุญตักบาตร
ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์เป็นจำนวนมาก พอได้เห็น
ภาพคนเข้าวัดมากมายขนาดนี้ทำให้ผมมีความสุขไม่น้อยครับ
สำหรับคำพูดที่หลวงพ่อเปลี่ยน
มักใช้สนทนาธรรมกับประชาชนเดินทาง
ปฏิบัติธรรม ณ วัดแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก
หลายคนที่มาที่วัดก็เพราะขาดสติ คือ

"ต้องใช้สติปัญญาในการพิจารณาหาต้นเหตุแห่งกองทุกข์นั้น
ยังไม่สมบูรณ์ จึงพากันมีความทุกข์อยู่
มีความเดือดร้อนกันอยู่ทั้งบ้านทั้งเมืองในปัจจุบันนี้นั้น
ก็คือ บุคคลนั้นไม่รู้จักความพอดีนั่นเอง"


นอกจากนี้หลวงพ่อเปลี่ยนยังย้ำเสมอในการสอนญาติโยม
เกี่ยวกับการการมองตนเองว่า
"เมื่อคนเราเกิดมาแล้วไปอยู่ร่วมกัน
ทำการงานร่วมกันพูดจากันในเรื่องราวต่างๆประชุมหารือกัน
ความคิดเห็นขึ้นมาก็ต่างๆ กัน บางบุคคล
บางหมู่คณะก็คิดถูกบ้าง บางบุคคลบางหมู่คณะก็คิดผิดบ้าง
ก็เป็นเรื่องธรรมดา"

และหลวงพ่อเปลี่ยนได้ให้
สัมภาษณ์
พร้อมความกระจ่างเกี่ยวกับการมองดูตนเองไว้อย่างน่าสนใจ

และผมขออนุญาตเปลี่ยนเรียกหลวงพ่อเปลี่ยน
เป็นพระอาจารย์เปลี่ยนตามลูกศิษย์ที่วัดด้วยนะครับ

-ญาติโยมที่มากราบพระอาจารย์มากมาย
ทำไมท่านถึงเน้นย้ำเรื่องการมองดูตนเอง เพราะอะไรครับ?

-ก็เพราะคนเราเกิดขึ้นมานั้น
ไม่ใช่พวกเราจะเสียสละละกิเลสให้หมดไปได้ง่ายๆ
เพราะกิเลสทั้งหลายนั้น เขานอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานของพวกเรา
มาหลายภพหลายชาติแล้ว
เขาครอบงำย่ำยีมาหลายภพหลายชาติแล้ว
แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะแกะหรือสำรอก
หรือลดละปล่อยวางกิเลสออกไปได้หมด
พวกเราจึงพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารตามฐานะของตน
เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้
การที่ขัดเกลากิเลสของพวกเรามาแต่ชาติอดีตที่ผ่านมานั้น
ใครจะขัดเกลาได้มากน้อยเท่าไร
บุคคลใดขัดเกลาได้มาก
เมื่อมาเกิดในชาตินี้กิเลสก็เบาบางจากจิตใจ
บุคคลใดขัดเกลากิเลสได้น้อย กิเลสก็ยังมืดมน
บุคคลใดไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย
จึงมืดมนไม่รู้จักบุญบาป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จิตของบุคคลเป็นคนใจดำอำมหิตทั้งหลายอยู่ในปัจจุบันนี้
มันจึงมีหลายระดับ หลายขั้นหลายตอน


-คนเราเกิดมามีหลายระดับชั้น
ตรงนี้อยากให้พระอาจารย์อธิบายหมายสักหน่อยครับ?

-ใช่ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงสอนไว้ว่าดอกบัวสี่เหล่า
เหมือนเปรียบเทียบกับดอกบัวสี่เหล่า
คนเราเกิดมาอยู่ในโลกนี้ย่อมเป็นอย่างนั้น
ดังนั้น เมื่อเราคิดดูอย่างนี้แล้ว
มันก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
บางคนจิตหยาบมาก บางคนหยาบปานกลาง
กิเลสของคนเราจึงแตกต่างกัน
อาตมาก็อยากให้ฝึกหัดสติของพวกเรา
เพื่อจะให้มีสติมากขึ้น ระลึกได้เร็วขึ้น
สัมปชัญญะ หรือตัวของปัญญา ให้รอบรู้เร็วขึ้น
ทันกับเหตุการณ์ ที่จะเป็นสิ่งสำคัญที่ดีในอนาคต


-พระอาจารย์มีเหตุผลอะไร
ทำไมถึงต้องให้ญาติโยมทันต่อเหตุการณ์ครับ?

-ทำไมต้องทันเหตุการณ์ มันก็คือ พวกเราคิดดูซิ
ถ้าพวกเราขาดสติอยู่ สติยังอ่อนอยู่นั้น
แม้พวกเราเห็นอะไรวัตถุต่างๆ
จิตก็ย่อมรั่วไหลไปตามวัตถุนั้นได้ทันที
เพราะขาดสตินั่นเอง
เราไม่มีสติพอจะรู้ว่า รูป ร่างกาย ของพวกเราก็เหมือนกัน
รูปร่างกาย ของพวกเราทำอะไร
เมื่อทำลงไปมันผิดพลาดลงไปแล้ว
มันผิดพลาดเพราะอะไร เพราะเราขาดสติ
เราระลึกไม่ทันก็ต้องทำไปก่อน
สัมปชัญญะก็รู้ไม่ทันเขาจึงทำผิดพลาดกัน
ทุกวันนี้เราจะเห็นเขาทุบเขาตีฆ่าฟันแทงกันไม่เว้นนั้น
บนหน้าหนังสือพิมพ์
เป็นเพราะขาดสติ สัมปชัญญะควบคุมไม่ได้
ควบคุมร่างกายไม่ได้ ก็เลยทำให้กายนี้ไปทำบาป
ทำชั่วได้อย่างง่ายดาย ตรงนี้แหละเราจะเห็นได้ชัด
ฉะนั้น พวกเราต้องฝึกหัด ฝึกมองตนเอง


เราอย่ามองแต่คนอื่น ถ้าเราไม่มีสติปัญญา
เราก็จะมองแต่คนอื่น มองจับผิดคนอื่นได้หมด

เขาทำอะไรกันเราก็มองว่ามันผิดไปหมด

-การมองดูตนเองหากญาติโยมจะนำไปปฏิบัติควรเริ่มต้นอย่างไรดีครับ?

-พระพุทธองค์ยังสั่งสอนเอาไว้ว่าให้ดูตนเอง ฝึกฝนตนเอง
แก้ไขตนเอง ปรับปรุงตนเอง จับผิดที่ตนเอง
เรียกว่ามาดูที่ตัวเราก่อน อย่าไปดูคนอื่น อย่าไปเพ่งโทษคนอื่น
แต่อย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาคนเราชอบโทษคนอื่น
ดังนั้น การเพ่งโทษตนเองนี้มันยาก ก็เหมือนกับเราดูขนตา
ขอบตาเรา มีลูกตาแต่เราดูขนตาไม่เห็น
ว่าขนตามีกี่เส้น ขนตามันยาวแค่ไหน มันมองไม่เห็นเลย
ตรงนี้มันดูตนเองไม่เห็นอย่างนี้ เพราะอะไร
เพราะเราขาดสติปัญญา


-แสดงว่าพระอาจารย์ต้องการให้เราสำรวจตัวเอง
ก่อนที่จะไปมองคนอื่นใช่ไหมครับ?

มาถึงตรงนี้อาตมาอยากให้ทุกคนมองดูตนเอง
ไม่ต้องมองคนอื่น เป็นเรื่องของคนอื่นไปซะก่อน
ถ้าเรามีความสงสารเราก็เตือนกันได้
ถ้าหากเรายังตักเตือนตนเองไม่ได้
เราจะต้องฝึกตนเองก่อน
ด้วยการตักเตือนตนเองก่อน มามองดูตนเองก่อน
เพื่อจะชำระตนเองก่อน แก้ไขตนเอง
เราเกิดมาไม่ใช่จะทำถูกหมด มันต้องทำผิดบ้างถูกบ้าง


-แล้วจริงๆ สติสัมปชัญญะสำคัญมากน้อยแค่ไหนในโลกปัจจุบันครับ?

-ไม่ว่าคนเราจะ ยืน เดิน นั่ง นอน ล้วนแล้วต้องมีสติ
ถ้าเราขาดสติในการยืน
เช่น ถ้าเรายืนอยู่บนสะพานที่จะข้ามน้ำก็ดี
หรือยืนอยู่ ณ ที่สูงที่ใดที่หนึ่ง
หรือเราไปยืนที่ขอบประตูหน้าต่างก็แล้วแต่
คนที่ขึ้นต้นไม้ก็ดี หรือคนที่ก่อสร้างตึกยืนทำงานอยู่บนไม้นั่งร้าน
ถ้าขาดสติก็จะทำให้คนเหล่านั้นพลัดตกลงจากสถานที่ยืนได้
ผลของมันก็จะทำให้เกิดความเสียหาย แข้งขาหัก
หรืออาจล้มตายไปก็ได้ นี่เป็นตัวอย่างของคนที่ขาดสติ


-การกำหนดสติของคนเราควรจะเริ่มต้นกันอย่างไร
เพื่อให้ทุกคนได้มีสติสัมปชัญญะกันครับ?

อาตมาอยากบอกว่า บางคนนอนก็ต้องกำหนดว่า
ตนเองกำลังนอนอยู่ ใช้สติสัมปชัญญะประคองตนเองในขณะนอน
เมื่อมีสติประคองตนเองแล้วมันจะไม่ตกเตียง
คนนอนอย่างมีสติหัวมันก็ไม่ตกหมอน
คนนอนอย่างมีสตินั่นแหละมันมีประโยชน์
พระพุทธองค์ทรงสอนให้พวกเราศึกษา พัฒนาตนเอง
ปรับปรุงตนเอง ให้มีสติสัมปชัญญะใน
การ ยืน เดิน นั่ง นอน จึงจะไม่มีอันตราย


-นอกจากนี้อยากถามพระอาจารย์ว่า
คนเราทำบุญอย่างไรจึงได้บุญมากๆ ครับ?

-ทุกวันนี้เราไม่เข้าใจวิธีทำบุญที่ถูกต้องเหมาะสม
ในทางพระพุทธศาสนา ท่านจัดไว้ว่า
การทำความดีที่ไม่ถูกต้อง ๔ ประการเป็นเหตุทำให้วิบัติ เป็นทางเสื่อม
ไม่เจริญ ได้แก่ ทำความดีไม่ถูกที่ ทำความดีไม่ถูกบุคคล
ทำความดีไม่ถูกกาลเวลา และทำความดีแล้วไม่ตามความดีของตน
หากว่าเป็นคนที่พอเข้าใจเรื่องการทำบุญแล้ว
เขาย่อมเลือกทำบุญได้อย่างดีและถูกต้อง
เพราะเขารู้เรื่องดีว่า จะทำบุญอะไรเป็นบุญ



คัดลอกโดย ท่านเจ้าคุณ
บางส่วนจากหนังสือ ธรรมดาถาม ธรรมะตอบ
โดยสุทธิคุณ กองทอง
สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์