ทิวลิป : ดอกไม้ที่อุดมด้วยตำนาน

ทิวลิป : ดอกไม้ที่อุดมด้วยตำนาน


คนไทยรู้จักทิวลิปว่าเป็นชื่อของดอกไม้ ที่คนอังกฤษเรียก tulip ส่วนคนฝรั่งเศสเรียก tulipe คนเนเธอร์แลนด์เรียก tubband และคนตุรกีเรียก dulband ทั้งนี้คงเพราะทิวลิปมีกำเนิดในเอเชียกลาง (ตุรกีและอิหร่าน) ดังนั้น เมื่อคนตุรกีเห็นดอกไม้นี้มีลักษณะคล้ายผ้าโพกศีรษะ (turban) ของแขกเขาจึงเรียกชื่อเลียนเสียงผ้าโพกศีรษะ
       
       ประวัติศาสตร์ของ Asia Minor ได้กล่าวถึงทิวลิปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 เมื่อกวี Omar Kayam ประพันธ์นวนิยายเกี่ยวกับทิวลิป และ Rumi ผู้เป็นมหากวีแห่งอาณาจักร Persia ก็ได้เขียนบทสวดที่มีเนื้อความอ้างถึงทิวลิป ในช่วงปี 1431-1481 ซึ่งเป็นยุคของกษัตริย์ Mohammed ที่ 3 พระองค์ได้ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองด้วยการสร้างสวนในพระราชวัง โดยได้นำพืช และดอกไม้แปลกๆ มาประดับ เพราะความเชื่อทางศาสนาในสมัยนั้นมีว่า ใครที่มีสวนสวย เมื่อตายไปจะได้ไปอยู่ในสวนบนสวรรค์ (Garden of Paradise) ที่มีน้ำพุ ดอกไม้และคนเฝ้าที่เป็นเทวดา ลุถึงปี ค.ศ. 1520 -1566 ซึ่งเป็นรัชสมัยของสุลต่าน Suleiman ที่ 3 แห่งอาณาจักร Ottoman ของตุรกี ที่การทำสวนเจริญสุดขีด บรรดาสวนหลวงในตุรกีมีการปลูกทิวลิป และจิตรกรได้วาดภาพดอกทิวลิปลงบนกระเบื้อง เครื่องปั้นดินเผา เพื่อความสวยงามในการประดับตกแต่งอาคารด้วย
       
       เมื่อถึงปี 1555 ฯพณฯ Ogier Ghislair de Busberg ผู้เป็นเอกอัครราชทูตเยอรมัน ในจักรพรรดิ Ferdinand ที่ 1 แห่งเมือง Hamburg และมีตำแหน่งประจำที่เมือง Constantinople ได้มีโอกาสเห็นดอกทิวลิปในสวนพระราชวัง การได้รู้ว่าตนเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่เห็นทิวลิป ทำให้ Busberg คิดนำพันธุ์ทิวลิปไปเผยแพร่ในยุโรป จึงลอบนำหัวทิวลิป ออกจากกรุง Constantinople ไปเมือง Vienna ในออสเตรีย และทิวลิปก็เริ่มมีการปลูกกันแพร่หลายในออสเตรีย
       
       ในปี 1559 Gesner ได้เห็นดอกทิวลิปบานสะพรั่งในสวนของ Johannes Henrich Hervat ที่เมือง Oxberg นอกเหนือจากที่เคยเห็นในภาพ เขาจึงเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง และใช้ภาพพิมพ์ดอกทิวลิปเป็นภาพประกอบ หนังสือนี้ได้ชักนำให้ นักชีววิทยาชื่อ Joachim Camerrasius ชาวเนเธอร์แลนด์ได้เรียบเรียงตำราเกี่ยวกับทิวลิปออกเผยแพร่ในเนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรก
       
       ในปี 1582 ทูต Carolus Cluvius ในจักรพรรดิ Maximilian ที่ 2 แห่ง Vienna ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Leiden ในเนเธอร์แลนด์โดยมีหน้าที่ดูแลสวนหลวง เมื่อ Cluvius ได้เห็นดอกทิวลิป เขารู้สึกประทับใจมาก จึงแอบนำหัวทิวลิปใส่ในหีบ เพื่อนำไปปลูกที่บ้านของตน Cluvius จึงเป็นบุคคลแรกที่นำทิวลิปไปเผยแพร่ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีผลทำให้ชาวเนเธอร์แลนด์พากันลุ่มหลง และคลั่งไคล้ในความงามของทิวลิป จนคนทั้งประเทศมีอาการทิวลิปฟีเวอร์ระดับรุนแรง
       
       จากเนเธอร์แลนด์ทิวลิปได้เดินทางไปฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ตามลำดับ เมื่อความนิยมในดอกทิวลิปมีมากขึ้นๆ ยุโรปจึงมีตลาดทิวลิป เพื่อซื้อ-ขายดอก และต้นทิวลิปโดยเฉพาะ ครั้นเมื่อความต้องการมีมากขึ้นๆ ราคาของทิวลิปก็สูงตาม จนคนหลายคนยอมแลกเพชรนิลจินดาเพื่อจะได้เป็นเจ้าของดอกทิวลิปเพียงดอกเดียว ความบ้าคลั่งลักษณะนี้ได้ผลักดันให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องออกกฎหมาย ควบคุมการซื้อขายทิวลิป ความวุ่นวายทั้งหลายจึงสงบลงบ้าง แต่เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทิวลิปสีแดงเพลิงพันธุ์ Viceroy กับ Semper Augutus เริ่มเป็นที่คลั่งไคล้ของชาวเนเธอร์แลนด์อีก เพราะมีคนซื้อทิวลิปหนึ่งดอกในราคา 6,000 กิลเดอร์ ในขณะที่บ้านอาศัยมีราคาเพียง 900 กิลเดอร์เท่านั้นเอง โชคดีที่กระแสเห่อ ทิวลิป ดำรงอยู่ได้ไม่นาน
       
       ในปี 1850 Alexandre Dumas นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสได้อาศัยเค้าโครงเรื่องทิวลิป เขียน

       นวนิยายคลาสสิก เรื่อง The Black Tulip โดยมี Cornelius van Baerle เป็นพระเอก และ Rosa Griphus เป็นนางเอก ทั้งสองอาศัยอยู่ในเมือง Haarlem ซึ่งได้ประกาศจะให้รางวัล 100,000 ฟลอรินแก่คนที่ปลูกทิวลิปสีดำได้สำเร็จ ในขั้นตอนความพยายามจะพิชิตรางวัล van Baerle ถูกขังในคุกแต่ก็ได้พยายามแนะวิธีปลูกทิวลิปดำแก่คู่รัก จนเธอทำได้สำเร็จ และทิวลิปนี้มีชื่อว่า Tulipa Nigra Rosa Baerlaensis และหลังจากที่ได้รับการปลดปล่อย คนทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน
       
       เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนเธอร์แลนด์ประสบภาวะทุพภิกขภัยเพราะประเทศผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ ครอบครัวที่ยากจนจึงต้องกินหัวทิวลิปเป็นอาหาร แต่เมื่อถึงวันนี้ เนเธอร์แลนด์ ปลูกทิวลิปมากที่สุดในโลก 80% ของทิวลิปที่โลกผลิตได้มาจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้เนื้อที่ครึ่งหนึ่ง (45,000 ไร่) ทำเกษตรกรรมทิวลิป จนประเทศสามารถส่งทิวลิปออกได้ปีละ 900 ล้านดอก จึงทำเงินเข้าประเทศได้ปีละ 150 ล้านเหรียญ ความนิยมชมชอบในทิวลิปมีมากจนทิวลิปได้รับการยกย่องให้เป็นดอกไม้ประจำชาติเนเธอร์แลนด์ เมื่อถึงปี 1949 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้สร้างสวน Keukenhof ขึ้น เพื่อแสดงความงามของทิวลิปโดยเฉพาะ
       
       สวนนี้มีผู้เข้าชมปีละ 10 ล้านคน และในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองทิวลิป (Tulip Festival) จะมีชาวต่างชาติเข้าชมดอกทิวลิปที่มีกว่า 5,000 สายพันธุ์ ผู้ชมจะได้เห็นดอกที่มีรูปทรงและสีสันหลากหลาย บางพันธุ์มีสีมากกว่าหนึ่งในดอกเดียว และทุกคนจะเห็นดอกมี 6 กลีบ และก้านจะชูเด่น แต่เมื่อถึงเวลาดอกใกล้จะโรย ก้านดอกจะโค้งทำให้ดอกก้มลงดิน เปรียบเสมือนคนในวัยชราที่จะถ่อมตน
       
       เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1986 Geert Hageman แห่งเมือง Oude ที่อยู่ห่างจากกรุง Amsterdam 30 กิโลเมตร ได้แถลงให้โลกรู้ว่าเขาประสบความสำเร็จในการปลูกทิวลิปสีดำแล้ว
       
       เมื่อปีกลายนี้ นักผสมพันธุ์ทิวลิป ชื่อ Klaas Koedijk ชาวเนเธอร์แลนด์แห่ง FA Koediik&Zn ได้ถวายชื่อ ทิวลิปสีเหลืองพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า King Bhumipol
       
       คุณหาอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปในเนเธอร์แลนด์ได้จากหนังสือ Tulipmania : Money, Honor and Knowledge in the Dutch Golden Age โดย Anne Goldgar ที่จัดพิมพ์โดย University of Chicago Press ครับ
       
       
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์