กองทหารไทยในยุทธบริเวณ
สถานการณ์เดิม . . . เมื่อได้จัดตั้งกองทหารขึ้นเพื่อออกไปงานพระราชสงครามครั้งนี้ คือ
๑) กองบินทหารบก มีนายพันตรี หลวงทยานพิฆาฏ (ทิพย์ เกตุทัต) เป็นผู้บังคับบัญชา เรียกว่า ผู้บังคับกองบิน
๒) กองทหารบกรถยนต์ มีนายร้อยเอก หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี) เป็นผู้บังคับบัญชา เรียกว่า ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์
กองทหารได้ออกเดินทางจากเกาะสีชัง โดยเรือเอ็มไพร์ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๖๑
สถานการณ์ต่อไป . . .
การเดินทางเรือจากเกาะสีชังถึงสิงคโปร์
จากเกาะสีชังถึงสิงคโปร์นี้ นับว่าปราศจากคลื่นลมก็ว่าได้มีทหารเมาคลื่นประมาณ ๒๐ คนเท่านั้น เรือเอ็มไพร์แล่นไป ๓ วัน กับ ๕ ชั่วโมงเศษ วันที่ ๒๓ มิถุนายน เวลา ๑๕ นาฬิกา เรือได้ถึงท่าเรือเอ็มไพร์ด๊อก
เรือจอดท่าเมืองสิงคโปร์
เรือเอ็มไพร์ได้จอดพักที่ท่าเมืองสิงคโปร์เป็นเวลา ๒ คืน ทหารได้รับอนุญาตให้ขึ้นเที่ยวชมเมืองได้ ส่วนคณะผู้บังคับบัญชาได้เยี่ยมคำนับผู้บัญชาการทหารบกประจำเมืองสิงคโปร์ และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแหลมมลายู และในวันที่ ๒๕ มิถุนายน เวลา ๑๐๐๐ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแหลมมลายูและผู้บัญชาการทหารบกประจำเมืองสิงคโปร์ได้มาเยี่ยม และส่งกองทหารไทย ก่อนที่เรือเอ็มไพร์จะออกเดินทางต่อไปด้วย
สิงคโปร์ - โคลัมโบ - ปอร์ตเสด
ระหว่างเรือแล่นอยู่ในช่องมะละกา แลเห็นทิวภูเขาและทิวเกาะอยู่ทั้ง ๒ ข้างคลื่นลมสงบราบคาบ รุ่งขึ้นเวลาบ่าย เรือได้เดินออกจากช่องมะละกา นายทหารและพลทหารเมาคลื่นกันประมาณ สิบในร้อย
ในเช้าวันที่ ๒๘ มิถุนายน เรือปืน "น็อตซบรู๊ค" เรือรบแห่งราชนาวีอังกฤษในอินเดีบได้มาคุ้มกันเรือลำเลียงทหารไทย ได้แล่นร่วมทางกันไปจนถึงเมืองโคลัมโบ เรือได้ออกเดินทางกลางมหาสมุทรมีคลื่นลมจัดขึ้น ทหารเมาคลื่นเพิ่มมากขึ้น จนถึง ๖๐ - ๗๐ ในร้อย คลื่นลมได้มีจัดอยู่ ๓ วัน ๓ คืน ที่สุดในวันที่ ๒ กรกฎาคม เวลา ๑๑ นาฬิกา เรือได้ทอดสมออยู่ภายในเขื่อนสำหรับกันคลื่น
ในการขึ้นบกเพื่อเที่ยวชมเมืองทหารได้พากันไปนมัสการพระพุทธรูปในวัดต่างๆ เรือเอ็มไพร์จอดอยู่ในเขื่อนเมืองโคลัมโบเป็นเวลา ๔๖ ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของอังกฤษได้ตรวจสอบแล้วว่าการเดินทางต่อไปจะปราศจากอันตราย จึงให้เดินเรือต่อไปได้
เรือเอ็มไพร์ออกจากเมืองโคลัมโบ ในวันที่ ๔ กรกฎาคม เวลา ๙ นาฬิกา ทหารส่วนมากคุ้นกับการเดินทะเลแล้ว จึงไม่เมาคลื่นกันมากเช่นช่วงที่แล้วมา จนวันที่ ๑๙ กรกฎาคม เวลาประมาณ ๕ นาฬิกาเรือได้จอดน่าเมืองซูเอส เพื่อรอเจ้าหน้าที่ฝ่ายภาษีและเจ้าพนักงานนำร่อง ต่อเวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที จึงได้ออกเรือแล่นเข้าในคลองอันใหญ่ซึ่งกล่าวนามมาแล้วนั้นที่พักใต้มูนดิน, มีศูนย์การต้านทานเป็นแห่งๆ ไปโดยตลอด มูนดินนั้นมีลาดซึ่งกรุด้วยกระสอบทรายทั้งสิ้น กับได้เห็นค่ายที่พักทหารเป็นหย่อมตลอดไปตามทาง
เวลา ๑๖ นาฬิกา ได้ผ่านเมืองอิสไมเลีย เวลา ๑๙ นาฬิกา ผ่านตำบลที่ตั้งค่ายซึ่งเรียกว่า ค่ายคันตารา ที่นี้เป็นที่สะสมกำลังใหญ่ที่สุด ณ คลองซูเอศ มีเสบียงอาหาร, สัตว์พาพนะ, เช่น ม้าและโค และสรรพเครื่องใช้สรอยต่างๆ ในยุทธนาการ กับยังมีกองทหารขนาดใหญ่พักอยู่ในขณะนั้นด้วย มีข่าวว่ากองทัพอังกฤษกำลังเตรียมการสำหรับรบใหญ่ในด้านปาเล็สติน่า
ในคืนวันที่ ๑๙ นี้ เวลา ๒๒ นาฬิกา เรือต้องจอดพักในคลอง เพราะว่าการเดินเรือในคลองในเวลาค่ำมืดต้องใช้โคมฉาย แต่แสงสว่างแห่งโคมไฟอาจแสดงให้ข้าศึกแลเห็นได้แต่ไกล ซึ่งอาจจะบังเกิดผลอันนำมาซึ่งอันตราย เรือได้จอดพักอยู่จนถึงเวลา ๓ นาฬิกา ๓๐ นาที แห่งวันที่ ๒๐ จึงได้ใช้จักร์เดินทางต่อไป ระยะทางจากเมืองโคลัมโบ เกาะลังกา ประเทศอินเดีย จนถึงเมืองปอร์ตเสด ประเทศอิหยิปต์ เรือเอ็มไพร์ใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบ ๑๖ วัน
เรือจอดที่เมืองปอร์ตเสด - ครั้งแรกที่กองทหารไทยได้แสดงตน
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม เวลาประมาณ ๕ นาฬิกาก่อนเที่ยงเรือได้ถึงเมืองท่าเรือปอร์ตเสด
ทั้งวันนี้และวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่เวลารับประทานอาหารมื้อเช้าแล้ว จนถึงเวลารับประทานอาหารมื้อเย็น ทหารได้รับอนุญาตให้ขึ้นบกเที่ยวชมเมืองได้ เพราะเรือคงจอดอยู่ที่นี่กว่า ๔๘ ชั่วโมง
เมืองปอร์ตเสดนี้ต้องนับว่าเป็นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะเป็นจุดรวมของเส้นทางแห่งทวีปอาเซีย, ยุโหรป, อาฟริกา
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงไสยเลยว่ามีกำลังกองทัพบก กองทัพเรือของสัมพันธมิตร์อยู่ที่นี่มาก . . . ฯลฯ . . . ที่นี่และเป็นครั้งแรกที่กองทหารไทยได้แสดงตนให้ทหารสัมพันธมิตร์ซึ่งรวมกันอยู่ได้แลเห็นเป็นครั้งแรก ส่วนทหารไทยเราก็ได้เห็นพวกเพื่อนสัมพันธมิตร์รวมกันหลายชาติเป็นครั้งแรกเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังได้เห็นพวกข้าศึกอีกด้วย คือพวกเชลยศึกตูรกี
การที่เรือต้องจอดอยู่ ณ ที่นี้เป็นเวลานานนั้นมีสาเหตุอยู่ ๓ ประการ คือ
- ต้องคอยรวบรวมกันให้มีจำนวนตามสมควร เพื่อจัดเป็นขบวน เพราะว่าในการเดินทางต่อไปในเขตอันตราย ต้องมีเรือรบกำกับไปด้วย
- เรือทุกๆ ลำต้องมีอาวุธประจำเรือไปสำหรับป้องกันตน กับทั้งต้องมีเครื่องช่วยชีวิตคนในเวลาเรืออับปาง ไปกับเรือให้พอกับจำนวนคนโดยสาร
- ต้องบรรทุก ถ่าน, น้ำ, และเสบียงอาหารไปมาก เพราะต่อจากนี้ไปเป็นการเดินทัพ มิได้กำหนดเส้นทางแน่นอน จะถึงที่หมายเมื่อไรไม่ทราบกำหนดล่วงหน้า
เรือเอ็มไพร์จอดอยู่ที่เมืองปอร์ตเสด ๕๒ ชั่วโมง จึงได้เคลื่อนออกเดินทางต่อไป
การเดินขบวนทัพเรือจากปอร์ตเสดถึงเมืองมาร์เซย์
วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑ เวลา ๘ นาฬิกา ๑๕ นาที เรือเอ็มไพร์ได้ถอนสมอแล่นออกจากปากคลองซูเอส ต่อไปยังจะต้องฝ่าอันตรายอย่างร้ายกาจซึ่งอาจมีมาจากข้าศึกได้นั้นไปด้วย เพราะในขณะนั้น เรือดำน้ำของราชศัตรูกำลังพยายามจะกระทำการล้างผลาญบรรดาเรือของสัมพันธมิตร์ซึ่งแล่นไปมาในทะเลกลางธรณีนั้นโดยเต็มกำลัง
ฉะนั้น การเดินเรือในตอนต่อไปนี้ จึงนับได้ว่าเป็นตอนที่สำคัญที่สุด
ปอร์ตเสด - มาร์เซย์ Port Said - Marseille
. . . ในขบวนที่ออกเดินทางครั้งนี้มีเรือลำเลียง ๑๘ ลำ รวมทั้งเรือเอ็มไพร์ มีกองเรือรบอังกฤษกำกับไป ๑ กอง มีกำลังเรือรบ ๗ ลำ เรือนำเป็นชนิดเรือปืน ๑ ลำ เรือชนิดเรือพิฆาฏ ๒ ลำ อีก ๔ ลำ ควรจะเรียกนามว่า "เรือขับไล่สังหารเรือดำน้ำ" เพราะเรือชนิดนี้กระทรวงทหารเรืออังกฤษคิดสร้างขึ้นใช้ในสมัยที่รัฐบาลสยามประกาศสงครามแล้วนี้เอง เรือชนิดนี้เป็นเรือรบขนาดย่อม มีรูปทรงอย่างเรือสำปั้น จะเดินหน้าถอยหลัง หรือเลี้ยวไปมาก็ได้คล่องแคล่ว ทั้งมีความเร็วมากด้วย
ฉะนั้น จึงเหมาะสำหรับการกำกับขบวนลำเลียงเพื่อป้องกันให้พ้นจากอำนาจแห่งเรือดำน้ำของฝ่ายข้าศึก
ฯลฯ
ขบวนเดินทางขบวนหนึ่ง ที่มีเรือรบคุ้มกันขบวน (ในมหาสมุทรแอตแลนติค) >
มาร์เซย์ . . .
วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๖๑ เวลา ๑๐ นาฬิกา เรือเอ็มไพร์ได้เข้าจอดเทียบท่าเมืองมาร์เซย์ . . . นายพลตรี เลอะกรางด์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๕ (General Legrand commandant de 15 Region) กับนายทหารฝรั่งเศสในกรมบัญชาการมณฑลทหารบกได้มาคอยรับอยู่ที่ท่า
นายพันตรี หลวงทยานพิฆาฏ ไปตรวจและแบ่งที่พัก ที่โรงทหารชั่งคราวที่คาเธดราล (คือเดิมเป็นโบสถ์ ในระหว่างเวลาสงครามได้ปลูกโรงทหารชั่วคราวขึ้นที่ข้างโบสถ์นี้) สำหรับที่พักของกองบินทหารบก ส่วนสำหรับกองทหารบกรถยนตร์นั้น หลวงรามฤทธิรงค์ ไปตรวจและกะแบ่งที่พักในโรงทหาร ."ซังต์ ชาร์ลส์"
ค่ายคาเธดราล ที่พักทหารกองบินทหารบก อยู่ห่างจากท่าเรือประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นโรงทหารชั่วคราว
."ซังต์ ชาร์ลส์" ที่พักกองทหารบกรถยนตร์นั้น เป็นโรงทหารถาวรห่างจากท่าเรือประมาณ ๗ กิโลเมตร การนำทหารไปยังโรงนอน ได้จัดให้มีแตรวงนำไป ทหารได้เดินแถวเรียงสี่ แต่งกายเครื่องสนาม เดินแถวอย่างเรียบร้อย เดินก้าวพร้อมกันอย่างงดงาม เป็นที่ชื่นชมแก่ชาวเมืองเป็นอันมาก
ครับ . . . ตั้งแต่ กองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงครามเคลื่อนที่จากพระนคร เมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๖๑ ถึง เรือเอ็มไพร์ได้เข้าจอดเทียบท่าเมืองมาร์เซย์ ใน ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๖๑ นับว่าได้รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเล ถึง ๔๒ วัน จึงจะถึง "สมรภูมิ"
วันที่ ๒ สิงหาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ หัวหน้าฑูตทหาร นายพลตรี เลอะกรางด์ และอัครราชฑูตสยามประจำกรุงปารีส นายทหารผู้ใหญ่ไทย และฝรั่งเศส ได้มาถึงโรงทหารซังต์ ชารลส์ นายพลทั้งสองได้เดินผ่านหน้าแถวตรวจพลทั่วทุกแถว เมื่อเสร็จการตรวจพลแล้ว ได้มีการสวนสนาม ครั้นแล้วผู่ใหญ่จึงได้กลับ
ระหว่างอยู่ที่เมืองมาร์เซย์ กองทหารไทยได้รับเครื่องแต่งกายใหม่ จัดการปรับความเข้าใจต่างๆ และจ่ายบัตรประจำตัว . . . และเตรียมการฝึกอบรมก่อนเข้าสนามรบ
ต่อมา ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๖๑ กองบินทหารบกได้เดินทางโดยรถไฟจากเมืองมาร์เซย์ไปทางทิศตะวันออก และในวันรุ่งขึ้น ๖ สิงหาคม กองทหารบกรถยนตร์จะได้ละทางไปทางทิศเหนือแยกกันไป
เมื่อกองทหารไทยมาถึง "สมรภูมิ" แล้ว ก็ต้องแยกย้ายกันปฏิบัติภารกิจคนละทาง ต่างกันคนละรูปละร่าง ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองบังคับบัญชาให้เหมาะแก่ราชการ กล่าวคือ
หน่วยกองบินทหารบก เปลี่ยนเรียกนามว่า "กองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม" ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเรียกว่า "ผู้บังคับการกองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม" นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ คงฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งนี้
ส่วนกองบินใหญ่ที่ ๑,๒,๓ (กองบิน) เรียกว่า กองบินทหารบก ตำแหน่งผู้บังคับกองใหญ่ทั้ง ๓ ตำแห่ง ยกเลิกหมด มีตำแหน่ง "ผู้บังคับกองบิน" ซึ่งเทียบชั้นผู้บังคับกองพันตำแหน่งเดียว นายพันตรี หลวงทยานพิฆาฏ (ทิพย์ เกตุทัต) เป็นผู้รับตำแหน่งนี้
ส่วนกองใหญ่ที่ ๔ (กองรถยนตร์) นั้น เรียกว่า "กองทหารบกรถยนต์" คงมีผู้บังคับบัญชาตามเดิม ซึ่งเรียกตำแหน่งว่า ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ ซึ่งได้แก่ นายร้อยเอก หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี)
การฝึกอบรมก่อนเข้าสนามรบ
และก่อนที่จะเข้าสนามรบ กองทหารไทยได้ไปฝึกอบรมในโรงเรียนต่างๆ ดังนี้
กองทหารบกรถยนต์ ไปฝึกอบรมที่ เมืองลีย็องส์ Lyons และเมือง ดูรด็อง Dourdan
กองบินทหารบก ไปฝึกอบรม ตำบลอิ๊สตรส์ istres และ เมืองอาวอร์ด Avord
กองทหารบกรถยนต์
การฝึกหัดเล่าเรียนของกองทหารบกรถยนต์
การฝึกหัดสั่งสอนกองทหารบกรถยนต์ ได้แก่
- ฝึกหัดสั่งสอนในการรถยนต์
- ฝึกหัดท่าปืนอย่างทหารราบ ตลอดจนการยิงปืนด้วยกระสุนจริง
ทั้งนี้ หัดเป็นบุคคลแยกเป็นคันๆ แล้วภายหลังจึงหัดรวมเป็นหมู่, หมวด และกองย่อย ในขั้นต้น ฝึกหัดกับพื้นที่ธรรมดา ภายหลังหัดขับในภูมิประเทศที่กันดาร หัดขึ้นลงภูเขา หัดเดินขบวนทางไกล ฯลฯ
ตามกำหนดนั้น ให้เรื่มฝึกหัดสั่งสอน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม มีกำหนดเวลาเรียน ๑ เดือน
ในระหว่างการฝึกหัดที่โรงเรียนทั้งสองตำบลนี้ นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ และนายพันเอก พระเฉลิมอากาศ ได้มาตรวจราชการอยู่เนืองๆ
ครั้นเมื่อเสร็จการฝึกหัดสั่งสอนแล้ว ได้เริ่มเตรียมตัวเข้าสู่ยุทธบริเวณ ต้องฝึกหัดการใช้หน้ากากป้องกันไอพิษ ได้รับเครื่องแต่งกายสักหลาด มีเสื้อ กางเกง หมวก เสื้อกันหนาว และผ้าพันแข้ง เพราะเครื่องแต่งกายที่ได้รับไปจากพระนครนั้น เป็นผ้าธรรมดาป้องกันความหนาวไม่ได้
กองบินทหารบก
การฝึกหัดเล่าเรียนของกองบินทหารบก
การฝึกหัดเล่าเรียนการบินตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อเรียนจบที่โรงเรียนหนึ่ง ก็ส่งไปโรงเรียนอื่นอีกหลายแห่ง หลายตำบล ตามแผนกแห่งการเรียน และตามชนิดของการบิน เช่น วิชาช่างเครื่อง การบินโลดโผน การยิงปืนในอากาศ การทิ้งลูกระเบิดจากเครื่องบิน การตรวจการณ์จากเครื่องบิน (ปัจจุบันเรียก การตรวจการณ์ทางอากาศ) การถ่ายรูปจากเครื่องบิน ฯลฯ
โรงเรียนการบินชั้นต้นที่ตำบลอิ๊สตรส์ และการฝึกหัดบิน
กองบินทหารบกได้เดินทางโดยรถไฟไปถึงสถานีเมืองอิ๊สตรส์ ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๖๑ เวลา ๘ นาฬิกาเศษ จากนั้นต้องเดินทางต่อไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร แถวทหารเดินไป ส่วนสัมภาระได้บรรทุกรถยนต์ทหารซึ่งเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสส่งมารับ
โรงเรียนการบินตำบลอิ๊สตรส์ นี้ เป็นโรงเรียนการบินชั้นต้นพึ่งตั้งขึ้นในระหว่างสงครามนี้เอง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมารเซยประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
ทหารในกองบินทหารบกซึ่งนายแพทย์ได้ตรวจเห็นสมควรเป็นศิษย์การบินได้นั้นมี นายร้อย ๔๗ นายสิบ ๔๔ พลทหาร ๑๕ รวม ๑๐๖ นาย
วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๑ ได้เริ่มฝึกหัดขับกับพื้นดิน และเรื่องลักษณะและกำลังของเครื่องบิน และเครื่องยนต์ อาวุธศึกษา และการยิงปืนเล็กสั้นด้วยกระสุนซ้อมยิง
ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นศิษย์การบินซึ่งมีจำนวน นายร้อย ๒ นายสิบ ๑๔ พลทหาร ๒๐๙ รวม ๒๔๕ นาย บรรจุเข้าในจำพวกช่างเครื่องยนต์ ซึ่งได้จัดให้เรียนในเรื่องการตรวจตราเครื่องให้เรียบร้อย การซ่อมแซมปรับเครื่องเล้กๆ น้อยๆ ให้ดีใช้การได้เสมอ การหัดถอดและประกอบเครื่องยนต์ การซ่อมแซมปรับเครื่องบินซึ่งชำรุดมาก
ส่วนศิษย์การบิน เมื่อฝึกหัดขับบนพื้นดินแล้วจึงเลื่อนไปหัดการใช้คันบังคับคู่ คือ ศิษย์ขึ้นฝึกหัดบินกับครูด้วยคันบังคับคู่ ต่อไปจึงเป็นการฝึกหัดคันบังคับเดี่ยว
กองทหารบกรถยนต์
การเดินทางเข้าสู่ยุทธบริเวณ
เป็นธรรมเนียมของกองรถยนต์ฝรั่งเศส ก่อนที่จะไปเข้าทำการในยุทธบริเวณขึ้นอยู่ในกองทัพสนามจะต้องเดินทางผ่านแวรซัยส์ ซึ่งเป็นคลังฐานทัพใหญ่ของกองรถยนต์ฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อ นำทหารขึ้นทะเบียนของกองทัพสนามประการหนึ่ง และเพื่อจะได้จ่ายเครื่องสรรพาวุธ และเครื่องแต่งกายในการขับรถยนต์ให้แก่ทหารซึ่งจะเข้าทำการในสนามด้วย
วันที่ ๑๖ กันยายน เวลา ๑๘ นาฬิกา รถไฟได้ถึงสถานีแวรซัยส์
นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ หัวหน้าฑูตทหาร และนายพันเอก พระเฉลิมอากาศ ผู้บังคับกองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม พร้อมด้วยนายทหารฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ มาคอยรับอยู่เป็นอันมาก
กองทหารได้ไปพักอยู่ในโรงชั่วคราว ส่วนนายทหารนั้นพักตามโฮเต็ล
รุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ กันยายน เมื่อได้เลี้ยงอาหารเช้าแก่ทหารแล้ว ได้นำทหารไปยังคลังของกองรถยนต์ได้เริ่มรับเครื่องแต่งกาย และเครื่องอาวุธจากเจ้าหน้าที่ประจำคลังฝรั่งเศส
ในวันที่ ๑๗ เวลากลางวัน นายทหารเหล่ารถยนต์ในกรุงแวรซัยส์ได้เชิญหัวหน้าฑูตทหารพร้อมด้วยนายทหารไทยไปเลี้ยงอาหาร เป็นการต้อนรับ และให้เกียรติยศในการที่กองทหารไทยกองแรกจะไปสู่ยุทธบริเวณ
รูปพยากรณ์
ก่อนเวลาซึ่งกองทหารไทยจะมาถึงฐานทัพใหญ่นี้ เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้เตรียมการรับไว้อย่างเรียบร้อย มีนายทหารกองรถยนต์ฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้เขียนรูปพยากรณ์ เป็นรูปนางเทวดาฝรั่งเศส นำหน้าช้างเผือกเดินไปเหยียบนกอินทรี เหนือหลังช้างนั้นมีรูปพระเจดีย์
รูปนี้หมายความว่า ชาติฝรั่งเศสได้ชักนำชาติไทยซึ่งเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเข้ากระทำการสงครามต่อประเทศเยรมะเนีย ใต้รูปนี้ได้เขียนรายการฉายหนัง และร้องลำของลคร รูปนี้เจ้าหน้าที่ได้แจกให้แก่นายทหารสัญญาบัตรทุกนาย
ทหารไทยฝึกหัดซ้อมการขับรถยนต์เป็นขบวน (ขบวนกำลังทำกลับหลังหันพร้อมกัน)
กองทหารบกรถยนต์เข้าทำการในสนามด้านกองทัพฝรั่งเศส
การส่งกำลังครั้งแรกจากตรัวยส์ ไปชาล็องส์
ในระหว่างที่กองทหารบกรถยนต์รับรถ และฝึกหัดปฏิบัติการอยู่ที่วิลลมัวแย็นน์นี้ วันที่ ๑๔ ตุลาคม เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๐ นาที ได้รับคำสั่งให้ทหารทั้งกองเคลื่อนที่ไปทำการส่งกำลังในกองทัพสนาม ย้ายที่ตั้งไปทำการ ณ บริเวณเมืองชาล็องส์ ในเวลาที่เดินทางไปนั้น ให้ลำเลียงสิ่งของจากคลังฐานทัพเมืองตรัวยส์ ไปส่งที่เมืองชาล็องส์ด้วย
ระยะทางจากตำบลวิลลมัวแย็นน์ ถึงเมืองตรัวยส์ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร จากเมืองตรัวยส์ถึงเมืองชาล็องส์ ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ผ่านวิลลมัวแย็นน์ - แคลเรย์ - ตรัวยส์ - อารซิส์ซูร โอบ - ซอมม์ - สุเอส์ - ชาล็องส์ Villemoyenne - Clerey - Troyes - Areis sur Aube - Somme - Sues - Chalons) บรรทุกเครื่องสัมภาระต่างๆ ๑๙๒ ตัน
กองรถยนต์ทุกกองได้ไปถึงเมืองชาล็องในตอนเย็นวันที่ ๑๕ แต่การขนของลงจากรถยังไม่แล้วเสร็จทุกกอง ในคืนนี้ ทหารต้องนอนบนรถยนต์อยู่ในเมืองชาล็องส์
ตลอดคืนนี้ ฝนได้ตกหนัก ถนนหนทางแฉะมาก ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ได้ไปรายงานตนที่กรมบัญชาการกองทัพในเมืองชาล็องส์ ได้รับคำสั่งให้นำกองไปพักในบริเวณเมืองคูรติโซลส์ (Courtisols)
การส่งกำลังในครั้งแรกนี้ เป็นผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย เมื่อเดินทางพ้นเมืองตรัวยส์ไปแล้วประมาณ ๒๕ - ๓๐ กิโลเมตร ได้ผ่าน ๒ ข้างทางซึ่งเคยเป็นสนามรบมาแล้ว ยังม่สนามเพลาะ คู เครื่องกีดขวางข้าศึก แลมีที่ฝังศพทั้งสองฝ่ายอยู่ ๒ ข้างทาง และยังได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงโต้ตอบกันด้วย สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นของใหม่สำหรับทหาร
ตำบลคูรติโซลส์ (Courtisols) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมืองชาล็องส์ ห่างประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ใกล้ไปทางข้าศึก
ตำบลคูรติโซลส์นี้ เป็นตำบลที่สุดที่ฝรั่งเศสยึดมั่นไว้ได้ ข้าศึกไม่เคยตีไปได้เลย แต่เหนือนี้ขึ้นไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ข้าศึกเคยได้รุกเข้ายึดไว้ได้ ก่อนเวลาที่กองรถยนต์ไทยมาถึงประมาณ ๑ เดือน ได้ถูกกองทัพฝรั่งเศสตีถอยกลับไป ในตำบลนี้ บ้านเรือนได้ถูกนักบินข้าศึกทำลายลงเสียด้วยลูกระเบิดเป็นอันมาก
ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม เป็นต้นไป กองทหารบกรถยนต์ได้เริ่มทำการส่งกำลังในสนาม เวลานี้นับเป็นเวลาที่สำคัญ ซึ่งข้าศึกได้เริ่มต้นถอย กองทัพสัมพันธมิตรจะต้องรวบรวมกำลังที่มีอยู่ทั้งสิ้นเข้าทำการโจมตีข้าศึดอย่างแตกหัก เพราะฉะนั้น การลำเลียงกองทหารส่งไปยังสนามรบ การลำเลียงทหารจากสนามเพลาะให้กลับมาพักผ่อนเพื่อออมกำลัง การส่งเสบียงไปยังสนามเพลาะเพื่อให้ทหารกินอิ่มจะได้ทำการได้เต็มที่ กับการส่งกระสุนปืนให้ทหารราบทหารปืนใหญ่ยิงข้าศึกได้อย่างหนาแน่นตลอดเวลานั้น เป็นกิจอันสำคัญอันตกอยู่ในหน้าที่ของกองทหารบกรถยนต์
ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ถึง วันที่ ๕ พฤศจิกายน เป็นเวลา ๒๐ วัน กองทหารบกรถยนต์ได้ส่งรถยนต์ไปทำการ ๑๓๕๐ คัน ได้ลำเลียงทหาร ๓๖๐๐ คน บรรทุกเสบียง และกระสุนปืนหนัก ๓๐๒๙ ตัน ระยะทางที่บรรทุกหรือลำเลีบงกำลัง ๓๐๔๙ กิโลเมตร ระยะทางเดินไปและกลับที่ไม่ได้บรรทุก ๑๓๗๒ กิโลเมตร บางวันต้องทำการทั้งกลางวันกลางคืน การเดินขบวนรถในยุทธบริเวณในเวลากลางคืนนั้น เป็นการลำบากที่สุด เพราะห้ามมิให้รถใช้โคมไฟเป็นอันขาด บางครั้งถึงที่หมายในเวลากลางคืนมืดค่ำ ไม่มีเจ้าหน้าที่จะขนลง ขบวนต้องคอยหยุดอยู่ตามทาง ทหารต้องนั่งหลับอยู่ในที่ขับรถนั่นเอง
ความลำบากตรากตรำต่างๆ ซึ่งทหารได้รับนี้ ต่อมาก็รู้สึกน้อยลง เนื่องด้วยความชำนาญและความชิน นอกจากนี้ ผลแห่งการรบซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรรุกไปได้ทุกๆ วัน กระทำให้ขวัญทหารดีขึ้น และบังเกิดความพยายามมากขึ้น
ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศนายทหารบกในกองทหารบกรถยนต์ ๔ นาย คือ
๑. นายร้อยเอก หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี) ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ เป็นนายพันตรี
๒. นายร้อยโท ศรี ศุขะวาที ผู้บังคับกองย่อยที่ ๑ ในกองทหารบกรถยนต์ เป็นนายร้อยเอก
๓. นายร้อยโท แม้น เหมะจุฑา ผู้บังคับกองย่อยที่ ๓ ในกองทหารบกรถยนต์ เป็นนายร้อยเอก
๔. นายร้อยโท เพิ่ม อุณหสุต ผู้บังคับกองย่อยที่ ๒ ในกองทหารบกรถยนต์ เป็นนายร้อยเอก
ในเดือนตุลาคม ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำการรุกต่อไปอีกมาก เพราะฉะนั้น กองทหารบกรถยนต์จำเป็นต้องเคลื่อนที่ตามขึ้นไปอีก ในคืนวันที่ ๔ พฤศจิกายน ได้มีคำสั่งจากกรมบัญชาการกองทัพใหญ่ให้กองทหารบกรถยนต์ย้ายที่ตั้งไปทำการส่งกำลังในบริเวณเมืองแวรเดิงต่อไป (Verdun อยู่ในแคว้นอัลซาส ลอร์เรน)
ตั้งแต่ย้ายที่ตั้งมาอยู่ในตำบลใหม่นี้ การส่งกำลังนับว่ายากลำบากขึ้นมากมายหลายประการ กล่าวคือ ถนนในบริเวณนี้ชำรุดมาก อากาศหนาวจัดถึงกับหิมะตก และน้ำแข็งซึ่งทำให้เครื่องยนต์เดินไม่สะดวก กับต้องแยกกันไปส่งกำลังวันละหลายๆ ขบวน แต่ทหารไทยก็มีความชำนาญในการขับรถ ในการหาทาง อีกข้อหนึ่งที่นับว่าสำคัญนั้นก็คือ ความรู้สึกว่าชัยชำนะนั้นใกล้เข้ามาแล้ว มีข่าวว่าราชศัตรูได้ขอทำสัญญาสงบศึกแล้ว ฉะนั้น ทหารไทยทุกคนได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเต็มสติกำลังทุกคน และราชการได้ดำเนินไปตามความประสงค์ทุกประการ
วันที่ ๒ พฤศจิกายน - ศิษย์การบินสำเร็จการบินชั้นต้น
&nb