มาต่อตอนที่สองพร้อมๆ กันเลย หลังจากกระทู้แรก เนื้อหาเยอะมาก ต้องแยกเป็นสองกระทู้คับ
แหล่ง ท่องเที่ยวทางทะเล เกาะ และหมู่เกาะ (ต่อ)
อันดับ 9 เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี
เกาะใหญ่เป็นอันดับสองของจังหวัดสุราษฏร์ธานี รองจากเกาะสมุยบรรยากาศธรรมชาติอันเงียบสงบ ความเขียวขจีของพืชพรรณ ความร่มรื่นของทิวไม้ริมชายหาด รวมทั้งความขาวของหาดทรายและความใสของผืนน้ำทะเล สะท้อนภาพในอดีตของเกาะสมุย เสน่ห์ที่ชวนหลงใหลอีกอย่างหนึ่งของเกาะพะงันก็คือ เทศกาล "ฟูลมูนปาร์ตี้" การเฉลิมฉลองบนชายหาดริ้น ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ ในงานนักท่องเที่ยวทั้งไยและต่างประเทศนับพันที่เนืองแน่นอยู่บนหาดพากัน สนุกสนานกับเสียงเพลงเร้าใจและเครื่องดื่มหลากหลายชนิดตลอดค่ำคืนยันเช้า
อันดับ 10 เกาะกูด จังหวัดตราด
เกาะขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดตราด รองจากเกาะช้าง คือผืนแผ่นดินแห่งสุดท้ายในน่านน้ำทะเลตะวันออกของไทย ธรรมชาติบนเกาะซึ่งเป็นภูเขายังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยผืนป่า แน่นขนัดด้วยต้นไม้ใหญ่ ด้วยทำเลที่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ค่อนข้างมาก ตะกอนเดินจากบนฝั่งแผ่มาไม่ถึง ทำให้น้ำทะเลบริเวณเกาะกูดใสสะอาด รวมทั้งหาดทรายบนเกาะกูดเองและตามเกาะบริวารก็ขาวสวย สะอาดตา จนได้รับการเรียกขานว่า "อันดามันทะเลตะวันออก"
แหล่งท่องเที่ยวประเภทกิจกรรม งานวัฒนธรรม ประเพณี
อันดับ 1 งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานีี
งานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาของทุกปี เริ่มมีการทำต้นเทียนประกวดกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2470 จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2520 จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการส่งเสริมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของ จังหวัดเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในงานมีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์และแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่าง ๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียนจะเคลื่อนขบวนจากหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามมาตามถนน จนมาสิ้นสุดที่ทุ่งศรีเมือง มีการแสดงสมโภชต้นเทียนครึกครื้นสว่างไสวไปทั่วทั้งงาน
อันดับ 2 งานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ปอยส่างลองคือประเพณีบรรพชาสามเณรตามแบบไทยใหญ่ ที่เชื่อกันว่าได้กุศลมากกว่าอุปสมบทพระภิกษุงานมี 3 วัน โดยในวันแรก เด็กชายที่เข้าพิธีเรียกว่า "ส่างลอง" จะโกนผม แต่ไม่โกนคิ้ว ผัดหน้าทาปาก แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยงาม โพกหัวประดับประดาดอกไม้ ไปขอขมารับพรจากญาติผู้ใหญ่วันที่สอง จะแห่ส่างลองขี่ม้าหรือขี่คอพี่เลี้ยงพ้อมเครื่องไทยทานไปตามถนนแล้วในวัน ที่สาม จึงแห่ส่างลองไปยังวัด เพื่อทำพิธีบวชต่อไป แต่เติมงานนี้จัดกัน เฉพาะหมู่ญาติสนิทมิตรสหาย กระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนได้จัดให้มีบรรพชาหมู่ 200 รูป เนื่องในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี กลายเป็นงานใหญ่ที่นักท่องเที่ยวสนใจ นับแต่นั้นจึงจัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จนถือเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองแม่ฮ่องสอน
อันดับ 3 งานเทศกาลสงกรานต์ จังหวัดเชียงใหม่
สงกรานต์เมืองเชียงใหม่ขึ้นชื่อในความยิ่งใหญ่ งดงามด้วยขบวนแห่แหน ซึ่งวัดต่าง ๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่จะอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด จัดเป็นขบวนยาวเหยียด เช่น ขบวนพระสิงห์ ขบวนพระแก้วขาว เป็นต้น พระพุทธรูปแต่ละองค์เก่าแก่อายุ 700 – 1,000 ปี ผ่านกลางเมืองมาให้คนได้ทำพิธีสรงน้ำพระด้วยน้ำหอม นอกจากนั้นยังมีทำเลสะดวกในการเล่นน้ำ เพราะมีคูน้ำล้อมรอบเมืองเก่าเป็นแหล่งน้ำให้สาดน้ำกันได้เต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่สงกรานต์เชียงใหม่ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวแน่นชนิดไปทั้ง เมืองตลอดช่วงวันหยุดยาวเลยทีเดียว
อันดับ 4 งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนหก เป็นงานบุญที่จัดประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะลงมือทำนา ที่จังหวัดยโสธรจะจัดงานบุญบั้งไฟในวันสุดสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ในวันศุกร์เป็นวันที่คณะบั้งไฟทั้งหลายแห่ขบวนเซิ้งเพื่อขอรับบริจาคเงิน ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของจำเป็นสำหรับทำบุญ ส่วนวันเสาร์จะเป็นวันแห่ขบวนฟ้อนรำ เพื่อการแข่งขัน เน้นความสวยงามของท่าฟ้อนในจังหวะต่าง ๆ ตลอดทั้งการตกแต่งบั้งไฟและการจัดขบวนที่สวยงาม ท้ายสุดในวันอาทิตย์จะเป็นวันจุดบั้งไฟ แข่งขันความสูงของบั้งไฟที่ขึ้นไปบนฟ้า บั้งไฟที่สามารถลอยอยู่ในอากาศได้สูงและนานจะชนะการแข่งขัน เป็นงานเทศกาลประเพณีที่ครึกครื้นและสนุกสนาน
อันดับ 5 งานประเพณีแห่ผีตาโขน จังหวัดเลย
งานบุญหลวงอันมีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักกันดี คือการละเล่นผีตาโขน งานประเพณีที่มีการจัดกันมาหลังจากการก่อสร้างพระธาตุศรีสองรักไม่นาน ถือเป็นหนึ่งในฮิตสิบสองคองสิบสี่ของภาคอีสาน การแห่ผีตาโขนเป็นประเพณีจำลองเหตุการณ์ในชาดกเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและ นางมัทรีเดินทางกลับออกจากป่าเข้าสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายคนและสัตว์ นานาชนิดอาลัยรัก จึงพากันแห่แหนมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" ก่อนเพี้ยนมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน ผีตาโขนในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ประเภท คือ ผีตาโขนใหญ่ เป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สาน สูงใหญ่กว่าคนธรรมดา 2 เท่า มีเพียง 2 ตัว คือ ผีตาโขนชาย 1 ตัว และหญิง 1 ตัว ส่วนผีตาโขนเล็กใช้วิธีประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาให้เป็นผีด้วยเศษวัสดุที่ หาได้ในท้องถิ่น
อันดับ 6 งานแสดงช้าสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
งานแสดงช้างครั้งแรกจัดขึ้นที่สนามบินเก่า อำเภอท่าตูม อันเป็นที่ตั้งโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ในปัจจุบัน เพื่อเฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ในงานมีการแสดงขบวนแห่ช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว การคล้องช้าง โดยออกข่าวแพร่ภาพทั้งทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ทำให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศสนใจกันเป็นอย่างมาก ในปีต่อมา อ.ส.ท. (ททท.) จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน โดยร่วมกำเนิดรูปแบบของการแสดง และนำนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาร่วมชมการแสดงในปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การจัดงานข้างเป็นงานประจำปีของชาติ และเนื่องจากการจัดงานที่อำเภอท่าตูมไม่สะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว จึงได้ย้ายสถานที่จัดงานมาจัดงานที่สนามกีฬาจังหวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจน ถึงปัจจุบัน
อันดับ 7 งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร
งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ต้นกำเนิดมาจากคติความเชื่อในสมัยโบราณ คือการทำทานที่อยู่อาศัยและการถวายรวงผึ้งแด่พระพุทธเจ้าของพญาวานรในพุทธ ประวัติ ความเชื่อทั้งสองเรื่องเป็นที่มาของประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง โดยในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ให้เป็นวันโฮม หรือวันรวมปราสาทผึ้งจากคุ้มต่าง ๆ ที่บริเวณวัด พร้อมกับมีการจัดงานรื่นเริง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ปัจจุบันการทำปราสาทผึ้งและขบวนแห่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ทั้งรูปทรงของตัวปราสาทผึ้งและลวดลายประดับประดาได้เพิ่มความวิจิตรพิสดาร ขึ้น ขบวนแห่ที่เคยใช้เกวียนก็กลายเป็นรถยนต์ สถานที่รวมขบวนก็เปลี่ยนจากบริเวณวัดมาอยู่ที่สนามมิ่งเมือง แต่ละปีจะมีขบวนแห่ยาวเป็นสิบกิโลเมตร ในขบวนยังมีการแสดงเกี่ยวกับประเพณีโบราณและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาว อีสาน
อันดับ 8 กิจกรรมล่องแก่งหินเพิง จังหวัดปราจีนบุรี
กิจกรรมล่องแก่งหินเพิงกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีเฉพาะในช่วงฤดูฝน ในแก่งหินเพิงซึ่งถือกำเนิดเกิดจากลำน้ำใส่ใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สิ้นสุดที่ปลายน้ำ ณ ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยนักท่องเที่ยวต้องลงเรือยางซึ่งนั่งได้ลำละประมาณ 8 - 10 คน ผ่านแก่งต่าง ๆ ที่มีระดับความยากง่ายของสายน้ำอยู่ที่ระดับ 3 - 5 ใช้ฝีมือและทักษะในการพาย รวมทั้งร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพายอย่างระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพื่อให้รอดพ้นจากการปะทะกับแก่งหินและไม่ให้เรือพลิกคว่ำ สนุกสนานกับลำธารใสที่สามารถแวะพักเหนื่อยเล่นน้ำกันได้ในบางจุดที่มีกระแส น้ำเบา โดยแก่งทั้ง 6 แก่ง ได้แก่ แก่งหินเพิง แก่งวังหนามล้อม แก่งวังบอน แก่งลูกเสือ แก่งวังไทร และแก่งงูเห่า และจะถึงจุดหมายปลายทางที่ท่าเรือบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขญ. 9
อันดับ 9 งานเทศกาลกินเจ จังหวัดภูเก็ต
ประเพณีกินเจชาวภูเก็ต เรียกว่างานกินผัก หรือเจี๊ยะฉ่าย จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน ซึ่งตรงกับเดือน 10 ของไทย เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ตซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผู้ร่วมพิธีจะสวมชุดขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุนด้วย เริ่มมีขึ้นครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ในปี พ.ศ. 2368 เมื่อพระยาถลาง (เจิม) ย้ายเมืองถลางมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่เป็นป่าทึบ มีไข้ป่าชุกชุม ชาวเมืองล้มป่วยกันมาก คณะงิ้วที่มาแสดงอยู่ใต้ประกอบพิธีกินเจขึ้นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า "กิ๋วอ๋องไต่เต" และ "ยกอ๋องซ่งเต" ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บได้หมดไป ชาวเมืองเกิดศรัทธาจึงประกอบพิธีกินเจในเดือน 9 รวม 9 วัน 9 คืนทุกปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสีสันของงานที่นักท่องเที่ยวสนใจเป็นพิเศษคือการแสดงอิทธิฤทธิ์ของบรรดา ม้าทรงเทพเจ้า ซึ่งมีทั้งลุยไฟ ทั้งใช้ของแหลมทิ่มแทงร่างกายโดยไม่เจ็บปวด
อันดับ 10 กิจกรรมพายคายักล่องทะเล ป่าชายเลน
กิจกรรมพายคายักเป็นรูปแบบหนึ่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศซึ่งได้รับความนิยม อย่างสูงที่จังหวัดกระบี่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะได้สนุกสนานกับการล่องเรือไปท่ามกลางความอุดม สมบูรณ์ของผืนป่าโกงกางซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด เช่น นก ลิงแสม และเป็นแหล่มอนุบาลตัวอ่อนของพันธุ์สัตว์น้ำนานาพันธุ์ เพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์อันน่าตื่นตาของเทือกเขาหินปูนทั้งสองฟากฝั่ง ก่อนออกสู่ทะเลกว้างโต้คลื่นลมเป็นการเดินทางด้วยพละกำลังจากสองแรงแขนของ ตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติรอบข้างอย่างแท้จริง
แหล่งท่องเที่ยวประเภทชุมชนวิถีชีวิต
อันดับ 1 ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ตลาดน้ำอัมพวา มาแรงคว้าตำแหน่งสุดยอดในประเภทนี้ไปด้วย เหตุที่ผู้คนหันมาสนใจการเดินทางท่องเที่ยวในแนวหวนรำลึกถึงความหลังอดีต ชุมชนริมน้ำอัมพวาที่รักษาสภาพดั้งเดิมของอาคารบ้านเรือนริมน้ำเอาไว้ได้ อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ จึงได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ โดยซูจุดขายความเป็นตลาดน้ำยามเย็น ที่ร้านรวงสองฟากฝั่งคลองครบครันด้วยข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน ตลอดจนขนมนมเนยย้อนยุคย้อนสมัย รวมถึงที่พักในบรรยากาศตลาดเก่าชายน้ำ ให้ใครต่อใครได้มาตามหาความทรงจำดี ๆ ในวันวาน ที่ต่างหลงลืมไปในห้วงเวลา
อันดับ 2 อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เมืองเล็กในโอบล้อมของขุนเขาสลับซับซ้อน ท้องทุ่งนาเขียวขจี และสายน้ำปายที่ไหลรี่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีดีที่อากาศเย็นสบาย ความเงียบสงบศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ แถมด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเล็ก ๆ อย่างน้ำตกหมอแปง ปายแคนยอน คือความเรียบง่ายอันเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ดั้นต้นข้ามผ่านหนทางลดเลี้ยวนับร้อยโค้ง เพียงเพื่อมาใช้เวลาซึมซับกับธรรมชาติและบรรยากาศอันเนิบช้าที่หาไม่ได้ใน เมืองอันศิวิไลซ์
อันดับ 3 ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
ภาพของตลาดลอยน้ำอันคลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าในเครื่องแต่งกายแบบชาวสวน พายเรือน้อยใหญ่บรรทุกสินค้าผลิตผลจากสวนจากไร่มาซื้อชายแลกเปลี่ยนกัน เผยแพร่สู่สายตาชาวโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 กลายเป็นภาพประทับใจในอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย มาถึงยุคที่เส้นทางการคมนาคมทางบกสะดวกสบายอย่างในวันนี้ ซึ่งบรรยากาศอันครึกครื้นของการค้าขายทางน้ำในตลาดน้ำดำเนินสะดวกกลายเป็น สิ่งหาดูยาก ทำให้นักท่องเที่ยวไทยรุ่นใหม่ต่างโหยหาและประทับใจ
อันดับ 4 สถานตากอากาศหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมืองท่องเที่ยวชายทะเลระดับอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายใต้เสร็จใหม่ ๆ หัวหินรุ่งเรืองเฟื่องฟูในฐานะเมืองพักผ่อนชายทะเลระดับแนวหน้าของชนชั้นสูง อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะซบเซาเสื่อมโทรมลงไปเมื่อแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศทางภาคตะวันออกได้ รับความนิยมแทนที่ ทว่าความรุ่งเรืองของสถานตากอากาศหัวหินนั้นไม่มีวันตาย ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ในวันนี้ชีวิตชีวาในรูปแบบสถานตากอากาศของหัวหินจึงหวนคืนกลับมาใหม่อีก ครั้ง พร้อมกับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ มีดีไซน์และรีสอร์ตหรูหราหลากหลายรูปแบบ
อันดับ 5 ชุมชนชาวไทยภูเขา ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย
ชุมชนชาวจีนเฮ่อแห่งกองพล 93 ที่ตั้งหลักแหล่งบนดอยแม่สลองมาเนิ่นนาน โดยเมื่อกว่า 40 ปีก่อน นายพลต้วน ผู้นำแห่งกองพัน 5 ได้เปลี่ยนกองทหารพลัดถิ่นให้เป็นชาวดอย ทำมาหากินด้วยการปลูกชาจีน ปัจจุบันมีชื่อว่าหมู่บ้านสัติคิรี ตั้งอยู่ที่ความสูงเฉลี่ย 1,200 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อากาศเย็นสบายตลอดปี บนถนนที่ตัดขึ้นดอยช่วงสุดท้ายก่อนถึงยอดดอยระยะทาง 4 กิโลเมตร เมื่อถึงฤดูหนาวต้นซากุระข้างทางจะออกดอกสีชมพูสะพรั่งเป็นแนวสวยงาม เรียกกันว่าถนนสายซากุระ ในบริเวณใกล้เคียงยังมีสถานที่สำคัญ คือ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคิรีบนยอดเขา สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่สมเด็จย่า และสุสานนายพลต้วน
อันดับ 6 ชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ชุมชนชาวมอญในอดีตที่อพยพจากเมืองซึ่งเคยเป็นอาณาจักรมอญในประเทศพม่า ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพสืบเนื่องกันมา บนเกาะจึงเต็มไปด้วยศิปลวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวไทยเชื้อสายมอญ รวมทั้งวัดวาอารามเก่าแก่ เช่น วัดปรมัยยิกาวาส วัดเสาธงทอง วัดฉิมพลี วัดไผ่ล้อม วัดป่าเลไลยก์ ในวันหยุดสุดสัปดาห์นักท่องเที่ยวมักจะแวะเวียนมาสนุกสนานกับการนั่งเรือ เที่ยวรอบเกาะ ดูทิวทัศน์บ้านเรือน และวิถีชีวิตครึ่งเมืองครึ่งชนบทของชาวเกาะเกร็ด เลือกซื้อเครื่องปั้นดินเผา และเพลิดเพลินกับการชิมอาหารตามแบบฉบับชาวไทยเชื้อสายมอญ
อันดับ 7 ถนนคนเดิน ถนนวัวลายและประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมถนนคนเดินจัดขึ้นตามแนวคิดในการพัฒนาเมืองและการกำหนดใช้พื้นที่ เมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ที่จังหวัดเชียงใหม่เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประตูท่าแพ ในปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันมีถนนคนเดินทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ ในช่วงเวลา 16.00 – 23.00 น. โดยวันเสาร์จัดที่ถนนวัวลาย ปิดถนนทั้งสาย ความยาวกว่า 3 กิโลเมตร ให้เป็นตลาดนัดซื้อขายสินค้าของที่ระลึก ซึ่งเน้นไปที่เครื่องเงิน รวมทั้งการแสดงทางวัฒนธรรมล้านนา และหลากหลายอาหารพื้นบ้านเมืองเหนือ ส่วนวันอาทิตย์จัดที่ประตูท่าแพ กลางเมืองเชียงใหม่ ปิดถนนตั้งแต่แยกอุปคุตถึงประตูท่าแพ ความยาวประมาณ 950 เมตร สินค้าที่จำหน่ายมีหลากหลาย ทั้งของตกแต่งบ้าน ของพื้นเมือง ของที่ระลึก ของเล่นจัดเป็นชีวิตชีวาที่เป็นสีสันของเมืองเชียงใหม่
อันดับ 8 อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
เมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" จุดที่ลำน้ำสามสาย อันได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควน้อย ทิวทัศน์สวยงามตามธรรมชาติ และมีชาวมอญอาศัยอยู่มาก ในปี พ.ศ. 2527 หลังก่อสร้างเชื่อนวซิราลงกรณ ทำให้น้ำท่วมตัวอำเภอสังขละบุรีเก่าทั้งหมด จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่บนเนินเขา ทว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอญที่ผูกพันเหนียวแน่นอยู่กับพุทธศาสนายัง คงอยู่ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือสะพานมอญ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ สะพานไม้ 850 เมตร ยาวที่สุดในประเทศไทย ข้ามลำน้ำซองกาเลีย เป็นจุดที่จะเห็นวิถีชีวิตชาวมอญที่สัญจรไปมา และทิวทัศน์ทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณที่สวยงาม อีกแห่งคือเมืองบาดาล เมืองสังขละบุรีเก่าที่จมอยู่ใต้น้ำและจะโผล่ขึ้นมาในยามน้ำลด เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen Thailand
อันดับ 9 เมืองเชียงคาน จังหวัดเลย
ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาได้เนิ่นนานร่วม ศตวรรษ เพิ่งจัดงานฉลอง "100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณริมฝั่งโขง" ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมานี้ ด้วยบรรยากาศเงียบสงบแบบเมืองชายแดน ห้องแถวเรือนไม้เก่าคร่ำคร่า ร้านกาแฟกับมุมหนังสือเล็ก ๆ รวมทั้งผู้คนที่เป็นมิตร ยิ้มแย้ม เปี่ยมด้วยอัธยาศัย ดึงดูดนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ให้มาเยือนหลายสิ่งหลายอย่างที่ขาดหายไปใน สังคมเมืองสมัยใหม่
อันดับ 10 ชุมชนแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
อำเภอเล็ก ๆ ในอ้อมกอดของหุบเขาแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นเสมือนเมืองลับแล เนื่องจากถนนหนทางทุรกันดารคดเคี้ยวตามทางภูเขา ทำให้การเดินทางมาแม่แจ่มค่อนข้างลำบาก แต่นั่นก็ทำให้ธรรมชิตที่อุดมสมบูรณ์สองฟากฝั่งสายน้ำแม่แจ่มที่หล่อเลี้ยง ผู้คน วัดวาอารามเก่าแก่อันทรงคุณค่า ตลอดจนวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามแนวทางพระพุทธศาสนา และผู้คนที่เปี่ยมด้วยอัธยาศัยไมตรี มีรอยยิ้ม อบอุ่นด้วยน้ำใจ ยังคงสภาพเดิมอยู่เหนือกาลเวลา กลายเป็นดินแดนในฝันอันเป็นจุดหมายของนักเดินทาง ที่แสวงหาเมืองอันสงบสุขเรียบง่ายไร้การปรุงแต่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ISSN 0125 7226 ปีที่ 50 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2553