นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนอย่างแก๊สโซฮอล์ได้อย่างแพร่หลายแล้ว สาหร่ายก็เป็นพืชพันธุ์อีกชนิดหนึ่งที่กำลังแซงหน้ามาแรง ในฐานะแหล่งพลังงานทดแทนอันใหม่ ที่สามารถนำมาสกัดน้ำมันออกมาใช้ได้
สาหร่ายไม่ใช่แค่สีเขียวที่เคี้ยวอร่อย
สาหร่ายที่นำมาสกัดน้ำมันได้นั้น ไม่ใช่สาหร่ายที่รับประทานเป็นสลัดในอาหารญี่ปุ่น หรือเป็นอาหารว่างแผ่นดำๆ ที่เคี้ยวกรุบกรอบเค็มๆ มันๆ แต่เป็นจุลสาหร่าย (Microalgae) ที่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล้กคล้ายแบคทีเรีย ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศจึงจะมองเห็น มีสีเขียวสามารถสังเคราะห์แสงเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหารของตัวเองได้ ปัจจุบันเริ่มมีการนำเอาจุลสาหร่ายมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ทั้งการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล การใช้บำบัดน้ำเสีย และการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียหลักของโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทผู้ผลิตจุลสาหร่ายไม่ตำกว่า 130 บริษัททั่วโลก
ข้อดีของจุลสาหร่ายคือ ไม่ต้องใช้พื้นที่มากในการเพาะเลี้ยงเหมือนกับพืชอื่นๆ และยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย และยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีก โดยนำไปผลิตสารเติมแต่งอาหาร เช่น อาหารปลาที่จะช่วยให้เนื้อปลาแซลมอนออกมาเป็นสีส้มสวย เป็นต้น (ซึ่งสารเติมแต่งอาหารนี้มีราคาสูงกว่าน้ำมันไบโอดีเซลหลายเท่าตัว) ขณะนี้บริษัทในกลุ่ม ปตท. คือ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ก็อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในเลี้ยงจุลสาหร่ายในระบบท่อซึ่งคาดว่าภายในอีก 2-3 ปี จะสามารถผลิตสารเติมแต่งอาหารในเชิงพาณิชย์ได้ ส่วนในการผลิตไบโอดีเซลนั้นยังมีต้นทุนสูงอยู่มาก ต้องรอดูต่อไปว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นสูงต่อไปขนาดไหน และจะมีการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรต่อไปอีก ที่จะสามารถทำให้การผลิตเชิงพาณิชย์ของไบโอดีเซลจากจุลสาหร่ายเป็นไปได้