ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ 2553

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ (ททท.)

          งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นงานประเพณีเก่าแก่ มีความแปลกที่ไม่มีในจังหวัดอื่น ๆ ชาวเพชรบูรณ์ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน ในวันสารทไทยของทุกปี ชาวเพชรบูรณ์จะแห่กันมาเที่ยวงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

          งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำมักเรียกชื่องานประเพณีต่าง ๆ กันไป ชาวบ้านเรียกว่า "อุ้มพระอาบน้ำฎ บ้างก็เรียกว่า "อุ้มพระสรงน้ำ" บางคนก็เรียกว่า "งานประเพณีสารทไทยวัดไตรภูมิ" หรือ "ประเพณีอันเชิญพระพุทธรูปลงสรงน้ำ" ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 นายปรีชา พงศ์อิศวรานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายชาญ โฆษิตานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ และคณะกรรมการจัดงานได้ร่วมประชุม แล้วมีมติให้ใช้ชื่อ "งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ" เป็นต้นมา

          พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ใช้ในการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จากคำบอกเล่าของชาวเพชรบูรณ์สืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมาว่า มีชาวเพชรบูรณ์กลุ่มหนึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำอยู่ในลำน้ำป่าสัก อยู่มาวันหนึ่ง ชาวประมงกลุ่มนี้ได้ออกหาปลาตามปกติเช่นทุกวัน เผอิญวันนั้นเกิดเหตุการณ์ประหลาด ตั้งแต่เช้าถึงบ่ายไม่มีใครจับปลาได้เลยสักตัว ดังกับว่าพื้นใต้น้ำไม่มีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ สร้างความงุนงงแก่พวกเขาเป็นอย่างมาก ต่างพากันนั่งปรึกษาว่าจะทำประการใดดี ซึ่งบริเวณที่ชาวประมงนั่งปรึกษากันอยู่ ปัจจุบันคือ วังมะขามแฟบ (คำว่า มะขามแฟบ หมายถึง ไม้ระกำ) บริเวณดังกล่าวอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์


ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

          ทันใดนั้น กระแสน้ำในแม่น้ำก็หยุดไหล นิ่งอยู่กับที่ แล้วค่อย ๆ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละฟอง ทวีมากขึ้น มองดูคล้ายกับน้ำกำลังเดือนอยู่บนเตาไฟ ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นวังวนขนาดใหญ่และลึกมาก ณ ที่แห่งนั้นทุกคนต่างมองดูด้วยความมึนงง เหตุการณ์ดำเนินต่อไป จนกระแสวังวนแห่งนั้นได้เริ่มคืนสู่สภาพเดิม และดูดเอาพระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นมาจากพื้นใต้น้ำแห่งนั้น ลอยขึ้นมาอยู่เหนือผิวน้ำ มีการดำผุดดำว่ายอยู่ตลอดเวลา เหมือนอาการของเด็กเล็ก ๆ ที่กำลังเล่นน้ำ เป็นที่แน่นอนว่าชาวประมงกลุ่มนั้นได้ประจักษ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ลงไปอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้บนบก ให้ผู้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา และพร้อมใจกันอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ "วัดไตรภูมิ"

          ในปีต่อมา ครั้งถึง "เทศกาลสารทไทย" พระพุทธรูปที่ถูกอัญเชิญขึ้นมาจากน้ำได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านชาวเมืองก็ออกตามหากันเจ้าละหวั่น ในที่สุดก็ไปพบพระพุทธรูปองค์นี้ตรงบริเวณที่พบครั้งแรก และกำลังดำผุดดำว่ายอยู่พอดี จึงได้อัญเชิญกับมายังวัดไตรภูมิอีกครั้งหนึ่ง

          นับแต่นั้นมาเมื่อถึงเทศกาลสารไทยซึ่งตรงกับ วันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี ภายหลังจากถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์แล้ว เจ้าเมืองเพชรบูรณ์สมัยนั้น พร้อมด้วยข้าราชการ ตลอดจนประชาชนในเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ทำพิธีสรงน้ำที่วังมะขามแฟบ ตรงที่พบครั้งแรกเป็นประจำทุกปี หากปีใดน้ำน้อยเข้าไปไม่ได้ ก็จะอัญเชิญไปสรงน้ำ ณ บริเวณวัดโบสถ์ชนะมาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้ทำพิธี


ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

          สำหรับในปี  2553 นี้ "งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ" มีกำหนดจัดงานในวันที่ 6 ตุลาคม - 10 ตุลาคม 2553 ซึ่งนอกจากขบวนแห่ "พระพุทธมหาธรรมราชา" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะแห่รอบเมืองมาจนถึงวัดไตรภูมิ และให้เจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำทั้ง 4 ทิศ ที่แม่น้ำป่าสักหน้าวัดไตรภูมิแล้ว ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น พิธีทำบุญวันสารท ชมการบวงสรวงด้วยการฟ้อนรำชุดต่าง ๆ ในพิธีอุ้มพระดำน้ำ ลิ้มลองความอร่อยในเทศกาลอาหารอร่อยเพชรบูรณ์ ชมการแข่งเรือยาวประเพณี และมหรสพการละเล่นต่าง ๆ

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท.สำนักงานพิษณุโลก โทรศัพท์ 0 5525 2743 และ ศูนย์บริการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ 0 5671 2866







ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก nakornban.net

http://travel.kapook.com/view17314.html

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์