พญ.วราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คนไทยโบราณมีความชาญฉลาด ห้ามพูดคุยระหว่างกินอาหาร เพราะทางเดินอาหารกับหลอดลมซึ่งเป็นทางเดินหายใจอยู่ติดกัน
เวลาหายใจกับการพูดคุยขณะกิน ทำให้ลิ้นเปิด-ปิดทางเดินอาหารกับหลอดลมที่ใช้หายใจเกิดความสับสน ปิดไม่สนิท อาหารตกลงไปในหลอดลม กลไกร่างกายจะทำให้เกิดการสำลัก หากเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะสำลักออกมาได้ แต่หากเป็นชิ้นใหญ่ตกไปอุดกั้นหลอดลมถึงขั้นเสียชีวิต หรือขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ทำให้เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราได้เช่นกัน
หากเกิดการสำลักอาหาร วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ยืนด้านหลังคนที่สำลัก ใช้มือโอบด้านหน้า กดลงบริเวณลิ้นปี่ ส่งผลให้เกิดแรงดันจากกระเพาะอาหาร ผลักดันเศษอาหารที่ติดอยู่ในหลอดลมให้หลุดออกมาทางปาก อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่กลไกการกลืนผิดปกติ เช่น เป็นโรคประสาทสมอง ระบบประสาทการกลืนเสียไป อัมพฤกษ์ อัมพาตจากภาวะเส้นเลือดสมองตีบ แตก ตัน ให้รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวช้า ๆ ให้อาหารแหลกละเอียดแล้วค่อย ๆ กลืนอย่างช้า ผู้ดูแลไม่ควรเร่ง เพราะการเร่งทำให้ระบบปิด-เปิดหลอดลม หลอดอาหารไม่สัมพันธ์กัน กลไกการไอเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมของคนกลุ่มนี้เสียไป ทำให้เศษอาหารตกไปถึงปอด ทำให้ปอดบวม ปอดอักเสบ หรือถ้าเป็นชิ้นใหญ่ อุดหลอดลมซึ่งค่อนข้างยาวถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมาก็เช่นเดียวกัน ส่งผลให้กลไกการปิด-เปิดของหลอดลมและหลอดอาหารไม่สัมพันธ์กัน เพราะคนเมามีปฏิกิริยาตอบสนองช้า ยิ่งเมาแล้วพูดมาก กินกับแกล้มระหว่างดื่มด้วย ที่สำคัญคนรอบข้างไม่มีสติเพราะเมาเหมือนกัน เมื่อมีคนสำลักอาหารไม่มีการช่วยเหลือ พอเกิดปัญหากลไกการไอขับสิ่งแปลกปลอมออกมาก็ช้าลงด้วย รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมรับประทาอาหารให้หมดก่อนที่คุยกับผู้อื่นล่ะ
เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับคุณแล้วก็ยังเป็นการป้องกันเศษอาหารพุ่งออกมานอกปากด้วย!!
แหล่งที่มา พลังจิตดอทคอม |
|