1. โรคน้ำกัดเท้า
เกิดจากการย่ำหรือแช่ในน้ำ ที่มีเชื้อโรค
เป็นโรคที่พบมากที่สุดจากเหตุการณ์น้ำท่วม
อาการ
- ระยะแรก คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย มีผื่น
- ต่อมา ผิวหนังที่เท้าพุพอง
- เท้าเปื่อย เป็นหนอง
การ ป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบูทกันน้ำ และเมื่อกลับเข้าบ้าน ควรใช้น้ำสบู่ล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง
- สวมเสื้อผ้าสะอาด ไม่เปียกชื้น
2. ไข้หวัด
พบช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย แพร่กระจายจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือของใช้ของผู้ป่วย
อาการ
- ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- มีไข้เล็กน้อย
- คัดจมูก มีน้ำมูกใส ไอ จาม
หายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
3. ไข้หวัดใหญ่
เชื้อแพร่กระจายอยู่ในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย น้ำมูก และสิ่งของใช้ของผู้ป่วย
อาการ
- มีไข้สูง
- ปวดเมื่อยตามตัวมาก
- ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
การปฏิบัติตัว
- ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะอาจทำให้หูอักเสบได้
- กินอาหารที่ย่อยง่าย กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอุ่นมากๆ
- อาบน้ำหรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น แล้วเช็ดตัวให้แห้งทันที
4. โรคปอดบวม
หากผู้ประสบภัยน้ำท่วมสำลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด ก็มีโอกาสจะเป็นโรคปอดบวมได้ หรือการคลุกคลีกับผู้ป่วย เมื่อไอ จาม หรือหายใจรดกัน
อาการ
- มีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว
- บางครั้งหายใจหอบและเร็วจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า และริมฝีปาก ซีดหรือคล้ำ กระสับส่าย หรือซึม
เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวม ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และรับการรักษาในโรงพยาบาล
5. โรคตาแดง
ติดต่อกันง่าย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ทั้งจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และจากใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า หรือจากแมลงวัน แมลงวี่ตอมตา
อาการ
- หลังจากรับเชื้อ 1-2 วัน จะเริ่มเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม ตาขาวอักเสบแดง
ผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าดูแลรักษาไม่ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน
การปฏิบัติตัว
- เมื่อมีฝุ่น หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา และไม่ควรใช้สายตามากนัก
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่มากๆ
- เมื่อมีอาการ ควรพบแพทย์ เพื่อรับยาหยอดหรือป้ายตา
6. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
ติดต่อจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ทางอาหาร น้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารทิ้งค้างคืนไม่ได้แช่เย็นและไม่ได้อุ่นให้ร้อน
ได้แก่
โรคอุจจาระร่วง
- ถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือด
- อาจอาเจียนร่วมด้วย
อหิวาตกโรค
- ถ่ายอุจจาระเหลวคล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นคาว
- อาเจียน อ่อนเพลีย
อาหารเป็นพิษ
- ปวดท้องร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาจจะปวดหัว ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
โรคบิด
- ถ่ายอุจจาระบ่อย มีมูกหรือมูกปนเลือด
- มีไข้ ปวดท้อง และมีปวดเบ่งร่วมด้วย
ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ทัยฟอยด์
- มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
- เบื่ออาหาร อาจท้องผูก หรือบางรายอาจท้องเสีย
การป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
- ดื่มน้ำสะอาด เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ และเก็บอาหารไว้ในภาชนะที่มิดชิด
- กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะ
การรักษา
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ผสมน้ำตามสัดส่วนที่ระบุข้างซอง (หรือทำเอง คือ น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม)
- หากมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมาก ไข้สูง ชัก หรือซึมมาก ให้ไปพบแพทย์
- ไม่ควรกินยาให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมาก
7. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรสิส ติดต่อจากหนูสู่คน เชื้อมากับปัสสาวะสัตว์ปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้น ดินที่ชื้นแฉะได้นาน เมื่อผิวหนังแช่น้ำ เชื้อจะเข้าร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือไช้เข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรือติดเชื้อจากอาหารที่หนูฉี่รด
อาการ
- หลังรับเชื้อ 4-10 วัน โดยจะมีไข้สูง
ทันทีทันใด ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่อง โคนขา หรือหลัง
- บางคนตาแดง อาจเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน
การป้องกัน
- สวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน
- หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก เก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด
- ดูแลที่พักให้สะอาด
การรักษา
- รีบไปพบแพทย์ ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน กล้ามเนื้อหัวใจอาจอักเสบและเสียชีวิตได้
8. ไข้เลือดออก
มียุงลายเป็นพาหะ
อาการ
- ไข้สูงตลอดวัน ประมาณ 2-7 วัน
- ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว มักคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ หน้าแดง อาจมีจุดเล็กๆตามลำตัว แขน ขา
- ต่อมา ไข้จะเริ่มลง ในระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดอาการรุนแรงได้ ผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หรือเลือดออกผิดปกติ อาจมีภาวะช็อค และเสียชีวิตได้
การป้องกัน
- ระวังอย่าให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
การรักษา
- รีบพาไปพบแพทย์
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ห้ามใช้ยาแอสไพริน ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล
9. โรคหัด
ติดต่อกันได้ง่าย ทั้งการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด พบในช่วงฤดูฝน
อาการ
- หลังรับเชื้อ 8-12 วัน จะเริ่มมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ พบจุดขาวเล็กๆขอบแดงในกระพุ้งแก้ม
- จากนั้น 1-2 วันแรก ไข้จะขึ้นสูง สูงเต็มที่ในวันที่ 4 เมื่อมีผื่นขึ้น โดยผื่นจะนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ ขึ้นที่ใบหน้าชิดขอบผม แล้วแพร่กระจายไปตามตัว แขน และขา ต่อมาไข้จะเริ่มลดลง ส่วนผื่นจะสีเข้มขึ้นแล้วค่อยจางในเวลา 2 สัปดาห์
- ในเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือในเด็กเล็ก อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปวด อักเสบ สมองอักเสบ อาจเสียชีวิตได้
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย รักษาสุขอนามัย
การดูแลรักษา
- รักษาตามอาการ ถ้าไข้สูงมากควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับเช็ดตัว ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ