จากเทพสู่ธรรม หรือทิ้งธรรมสยบเทพ


คนโบราณที่ยังมีปัญญาไม่มากนักมักเข้าใจถ้อยคำต่างๆ ทางศาสนาตรงไปตรงมาตามตัวอักษร เช่น เมื่อมีผู้นำเสนอว่า มีเทพชื่อนั้นชื่อนี้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ และคอยทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ (เพราะยังขาดความเข้าใจหรือยังขาดเครื่องมือก็ตาม)

คนเหล่านั้นก็พากันเชื่ออย่างปราศจากวิจารณญาณว่ามีเทพอยู่เบื้องหลัง ความวิปริตผันแปรของธรรมชาติจริงๆ

ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงค้นพบว่า โลกของเราดำรงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ (ธรรมนิยาม) เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีเทพผู้สร้าง ผู้บันดาล สรรพสิ่งดำเนินไปตามหลักวิวัฒนาการตามลำดับ พระองค์จึงทรงนำเสนอคำสอนตามความเป็นจริง แต่ยังคงใช้ถ้อยคำของคนในสังคมสมัยนั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือไม่เป็นการปะทะกับลัทธิเก่าที่เป็นเจ้าของพื้นที่ทางความเชื่อเดิมอย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่เป็นจุดแตกต่างหลังการ "ยืมคำ" ของคนในสมัยนั้นมาใช้ก็คือ ทรงตีความถ้อยคำเหล่านั้นจากภาษาคน (ภาษารูปธรรมแบบชาวบ้าน) ให้เป็นภาษาธรรม (ภาษาที่เป็นตัวเนื้อหาสาระ) ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เช่น



จากเทพสู่ธรรม หรือทิ้งธรรมสยบเทพ


พระพรหม หรือพรหมเทพ


พระพุทธเจ้าทรงใช้คำเดิมนี้ในระบบคำสอนของพระองค์โดยตรัสว่า ในพระพุทธศาสนาก็มีพระพรหมเหมือนกัน แต่พระพรหมที่ว่านี้ไม่ได้อยู่ในเอกภพ ไม่ได้อยู่ในอนันตจักรวาลอันไกลโพ้นสุดวิสัยที่มนุษย์จะหยั่งถึง พระพรหมในทรรศนะของพระพุทธศาสนาก็คือ "มารดาบิดา" ของเราทุกคนนั่นเอง เพราะมารดาบิดาเป็น "ผู้สร้างชีวิต" และดังนั้น มารดาบิดาจึงเป็นพระพรหมผู้สร้างที่แท้

นอกจากนั้น ยังทรงขยายความของพรหมเทพให้กว้างขวางออกไปอีกว่า เราทุกคนนั้นสามารถเป็นพรหมได้ด้วย ถ้าเราเพียงแต่จะสมาทานปฏิบัติใน "พรหมวิหารธรรม" อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ใครมีพรหมวิหารธรรมครบ คนนั้นก็เป็นพรหมได้แม้ในชีวิตนี้

จากคตินี้จะพบว่า พระพุทธเจ้าทรงดึงเอาพรหมบนฟ้า ลงมาเป็นพรหมในเมืองมนุษย์อย่างเราๆ นี่เอง หรือทรงนำเอาพระพรหมซึ่งเป็นนามธรรมอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่อ้างกันว่ามีอยู่นั้น ลงมาสู่โลกของความเป็นจริง ซึ่งทุกคนสามารถเป็นหรือเข้าถึงได้ด้วยตัวเอง



พระอินทร์ หรืออมรินทร์


นอกจากพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่แล้ว ก็ยังมีพระอินทร์อีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีสำหรับคนไทย ในวัฒนธรรมความเชื่อของคนไทย พระอินทร์หมายถึงเทพผู้คอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลคนดี มีวิมานอยู่บนสวรรค์

แต่พระอินทร์อย่างนี้ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึง พระพุทธเจ้าจึงทรงนิยามความหมายของพระอินทร์เสียใหม่ โดยทรงวางเกณฑ์เอาไว้ว่า ใครๆ ก็เป็นพระอินทร์ได้ ถ้าหากบำเพ็ญ



จากเทพสู่ธรรม หรือทิ้งธรรมสยบเทพ


"วัตตบท ๗" ประการ อันประกอบด้วย


(๑) เลี้ยงมารดาบิดา

(๒) อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

(๓) พูดจาไพเราะอ่อนหวาน

(๔) ไม่ส่อเสียด

(๕) กำจัดความตระหนี่ได้

(๖) มีวาจาสัตย์

(๗) ข่มความโกรธได้


กรณีของพระอินทร์ก็เช่นเดียวกันกับพระพรหม กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงทำให้เทพทั้งหลายซึ่งอยู่ไกลตัว และยากจะสัมผัสได้ ให้กลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องรูปธรรม และในที่สุดแล้วก็นำมาสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงๆ ได้

นี่คือ ท่าทีของพุทธศาสนาต่อปวงเทพ ซึ่งอาจสรุปเป็นหลักการได้อีกครั้งหนึ่งว่า พระพุทธศาสนานิยมดึงเทพกลับมาสู่ธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ทิ้งธรรมกลับไปสยบเทพ

หากจตุคามรามเทพ เป็นเทพองค์หนึ่ง ในฐานะชาวพุทธเราต้องเรียนรู้ที่จะดึงเทพกลับมาสู่ธรรม ด้วยการถอดรหัสนัยจากองค์จตุคามให้ได้ว่า ธรรมะจากท่านคืออะไร จะเอาธรรมนั้นมาใช้ในชีวิตจริงของเราอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คงไม่ใช่ความโลภโมโทสันและความมืดบอดทางปัญญาอย่างแน่นอน



สนับสนุนข้อคิดนานาสาระโดย:
โดย ว.วชิรเมธี จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์