อากาศที่เปลี่ยนกะทันหันเป็นต้นเหตุให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันทำให้เกิดภาวะไม่ปกติ เกิดอาการเจ็บป่วย เป็นไข้ ไม่สบายเนื้อตัว จากเย็นเป็นร้อนก็พอทน แต่ถ้าจากอากาศร้อนอยู่ดีๆ เปลี่ยนเป็นหนาว หรือฤดูฝนที่กำลังแปรเปลี่ยนเป็นฤดูหนาว ที่คนโบราณบอกว่าเป็นปลายฝนต้นหนาวจะส่งผลให้ร่างกายเป็นไข้เปลี่ยนฤดูนั่นคือ เกิดสภาวะไม่สมดุลในร่างกาย ด้วยไออุ่นในร่างกายไม่สมดุลกับสภาพอากาศร่างกายจะต้านทานอากาศหนาวไม่ได้ แล้วถ้าหนาวฉับพลันทันใดร่างกายทนทานไม่ได้ก็อาจถึงขึ้นเสียชีวิต เช่นตัวอย่างที่พบบ่อยๆ จากคนในชนบท
แพทย์แผนไทยมีตำราว่าด้วยการป้องกันภัยจากลมหนาวแนะนำให้ดูแลตัวเองให้ร่างกายอบอุ่น กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และหมั่นสังเกตความผิดปกติในร่างกาย เช่น ผิวหนังภายนอกแห้งแตก หนังหลุดลอกเป็นชั้นๆ รู้สึกคันตามเนื้อตัว ภายในปากเหมือนปากแห้ง ริมฝีปากแตก มีอาการคัดจมูก แน่นหน้าอก เจ็บคอ มีเสมหะตอนเช้า บางทีก็ท้องเสีย เวียนหัวแต่ไม่มีไข้ อาการที่ดูเหมือนผิดปกติเพียงนิดหน่อยแต่เป็นสัญญาณที่ร่างกายส่งเตือนแล้ว ว่านี่คืออาการของไข้เปลี่ยนฤดูที่มากับลมหนาว