ขี่ช้างจับตั๊กแตน
หมายความว่า ลงทุนเสียมากมายเพื่อทำงานเล็ก ๆ เท่านั้น เป็นทำนองว่าผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่ลงทุน หรือทำให้เป็นการใหญ่โต หรือแปลความหมายสั้น ๆ "ทำงานใหญ่เกินตัว"
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
แปลตามประโยคสำนวนก็ว่า เข้าเมืองตาบอดข้างเดียว ถึงแม้ตาเราไม่บอด ก็ต้องทำตาบอดข้างเดียวตามเขาไปด้วย (ตาหลิ่ว ในที่นี้หมายถึงตาบอดข้างเดียวหรือคนตาเดียว ไม่ใช่หมายถึงทำตาหลิ่ว หรือหลิ่วตา) หมายความว่า ที่แห่งใดเขาประพฤติอย่างไรก็ให้ตามเขาไปด้วย อย่าไปประพฤติขัดแย้งกับเขา
ขว้างงูไม่พ้นคอ
หมายความว่า มีภาระหรือมีเรื่องเดือดร้อน ทั้งของตนเองและที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่ไม่สามารถจะแก้ไขให้รอดพ้นไปได้
ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง
สำนวนนี่เปรียบเทียบได้สองทาง ทางหนึ่งก็หมายถึงสิ่งที่แลดูภายนอกเป็นของดีหรือของแท้ แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่ของดี หรือของแท้นัก อีกทางหนึ่งก็เปรียบได้กับสตรีที่งามแต่รูป แต่กิริยาและความประพฤติไม่ดี หรืองามเหมือนรูป ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า "ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง"
ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง
สำนวนตรงข้ามกับ "ข้างนอกสุกใส" คือดูแต่ภายนอกไม่งาม แต่แท้จริงกลับเป็นของแท้ของงาม สตรีที่มีรูปร่างขี้ริ้วไม่งดงาม แต่กิริยามารยาทเรียบร้อย จิตใจก็ดีงาม ตรงข้ามกับรูปร่าง
ข้าวใหม่ปลามัน
คนในสมัยโบราณถือว่า "ข้าวใหม่ปลามัน" คือข้าวที่เก็บเกี่ยวในครึ่งปีหลัง เป็นข้าวที่ดีกว่าข้าวเก่า และปลาเป็นอาหารคู่กับข้าว "ปลามัน" หมายถึงปลาในฟุดน้ำลดมีมันมาก รับประทานอร่อย จึงมาผูกเป็นสำนวนพังเพยเปรียบเทียบเช่น สามีภรรยาที่เพิ่งจะแต่งงานกันใหม่ ๆ ย่อมจะอยู่ในระหว่างกำลังเสพสุขสมรสมีรสชาติ
เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
สำนวนนี้ เวลาพูดมักจะใช้คำตรง ๆ ว่า "เขียนด้วยมือลบด้วยตีน" เป็นความเปรียบเปรยถึง คนที่แต่แรกทำความดีจนเป็นที่เชื่อถือไว้แล้ว แต่ภายหลัง กลับทำความชั่วลบล้างความดีของตนเสียง่าย ๆ หรือเปรียบอีกทางหนึ่งถึงคนที่ออกคำสั่ง หรือให้สัญญาไว้แต่แรกอย่างหนึ่ง แล้วปุบปับกลับเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือสัญญานั้นเสีย ให้อยู่ในลักษณะตรงข้ามโดยไม่มีเหตุผล
เขียนเสือให้วัวกลัว
ตามธรรมชาติ เท่าที่รู้จักกันอยู่ว่า วัวเป็นสัตว์ที่กลัวเสืออยู่มาก แม้จะมีรูปร่างใหญ่โตกว่าเสือก็ตามแต่ และวัวมักจะเป็นเหยื่อเสือเสียส่วนมาก เขาจึงเอามาเป็นสำนวนพังเพยเปรียบเทียบถึง การที่ทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นการข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่งไว้ก่อนให้กลัว เรียกว่า "เขียนเสือให้วัวกลัว"
ขมิ้นกับปูน
สำนวนนี้หมายถึง คนที่ไม่ลงรอยกัน หรือ รสนิยมเข้ากันไม่ได้ เมื่ออยู่ใกล้กัน ก็มักเป็นปากเสียงทะเลาะวิวาทกัน เปรียบดังขมิ้นกับปูนที่กินกับหมาก
สุภาษิตและสำนวนไทย ( ข.ไข่ )
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!