ตู้ยาสามัญประจำบ้าน หรือคลังโอสถขนาดย่อมที่ทุกครัวเรือนควรมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ยามป่วยไข้ หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุเลือดตกยางออก ซึ่งคุณผู้อ่านควรรู้วิธีการจัดวางตู้ยา และจัดระเบียบตู้ยาอย่างเหมาะสม หากจำเป็นต้องใช้งานจะได้สะดวก ปลอดภัย
สิ่งแรก คือ ตำแหน่งที่ตั้งตู้ยา ต้องมีอุณหภูมิพอเหมาะ แสงแดดส่องไม่ถึง ไม่ร้อนหรือชื้น ไม่วางในห้องน้ำ และห้องครัว เพื่อป้องกันยาเสื่อมคุณภาพ ที่สำคัญต้องจัดวางให้สูงเกินกว่าที่เด็กจะเอื้อมหยิบถึง
ต่อมาต้องนำยาหรือใช้ยาที่มีฉลากระบุรายละเอียดชัดเจนเท่านั้น เช่น ชื่อ ขนาด วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุ คำเตือน และคำสั่งในการใช้ เช่น ห้ามรับประทาน หรือ ยาใช้ภายนอก
การจัดวางภายในตู้ยา ควรแยกประเภทของยาให้ชัดเจน เช่น ยารับประทาน ยาทา โดยไม่วางปะปนกันเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการหยิบใช้ ส่วนยาชนิดเดียวกันควรวางที่หมดอายุเร็วกว่าไว้ด้านนอกเพื่อหยิบใช้ก่อน
หมั่นทำความสะอาดตู้ยาให้มีสภาพพร้อมใช้งานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตัวยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะดูวันหมดายุ กรณีที่ยาหมดอายุแล้วต้องทิ้งทันที
สำหรับวิธีการสังเกตยาหมดอายุ หรือเสื่อมคุณภาพ
จะมีลักษณะที่พิจารณาได้ง่าย ๆ สำหรับ 'ยาเม็ด' เม็ดยาจะแตกร่วน สีซีดจางลง หรือสีเปลี่ยน
'ยาเม็ดเคลือบ' จะมีลักษณะเยิ้ม เหนียว ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่วน 'ยาเม็ดแคปซูล' แคปซูลจะบวม พองตัว ติดกัน หรืออาจมีราขึ้นบนเปลือกแคปซูล
ถ้าเป็น 'ยาน้ำแขวนตะกอน' อาทิ ยาลดกรด ยาคาลาไมน์ จะจับกันเป็นก้อน นอนก้น แม้เขย่าแรงๆ ก็ไม่กระจายตัว ขณะที่ 'ยาน้ำเชื่อม' เกิดตะกอน มีสีและกลิ่นที่เปลี่ยน สุดท้าย 'ยาครีม' จะสังเกตเห็นเนื้อครีมเปลี่ยนสีและมีกลิ่นเหม็น
วิธีดูแลตู้ยาสามัญประจำบ้านง่าย ๆ แค่นี้ หวังว่า คุณผู้อ่านรักษ์สุขภาพคงไม่มองข้าม.