♥ เรื่องกล้วยๆ ♥
คนไทยกินกล้วยอะไรกันบ้าง
ของโปรดของลิง คือกล้วย ค้างคาวก็ชอบกินกล้วยจนมีเพลง "ค้างคาวกินกล้วย" ถ้าไม่ใช่ลิงไม่ใช่ค้างคาวอะไรอีกที่ชอบกินกล้วย...ก็คนนี่แหละค่ะ สำหรับชนิดของกล้วยที่คนไทยนิยมปลูกได้แก่
- กล้วยน้ำว้า
นิยมปลูกกันมากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพราะผลสุกมีรสหวาน เนื้อแน่น อร่อยถูกปากทุกเพศทุกวัย สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน ในช่วงที่ออกผลมากก็นำมาทำกล้วยตาก กล้วยกวน หรือกล้วยฉาบ สำหรับกล้วยน้ำว้าที่ปลูกในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ คือ กล้วยน้ำว้าไส้แดง ซึ่งปัจจุบันหากินได้ยาก กล้วยน้ำว้าไส้เหลือง หรือที่บางคนเรียกกันว่า กล้วยน้ำว้าขาว แล้วกล้วยน้ำว้าค่อมที่มีต้นเตี้ยกว่าพันธุ์อื่นๆ
- กล้วยหอมทอง
ด้วยเสน่ห์ของผิวผลที่มีสีสวยงาม ผลใหญ่ ให้กลิ่นหอมชวนกิน และรสหอมหวานจึงนิยมบริโภคสดกันมาก ทำรายได้ให้เกษตรกรมากกว่ากล้วยชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ มีการส่งไปขายในฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่กล้วยหอมปลูกเลี้ยงยากกว่ากล้วยอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์กล้วยหอมเขียว ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศเช่นกัน โดยมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยหอมทองคือ ปลายผลมน ผลสุกสีเหลืองอมเขียว เปลือกหนา และกล้วยหอมค่อม มีต้นเตี้ยกว่ากล้วยหอมเขียว ให้ผลคล้ายกัน บางท้องถิ่นจึงเรียกว่า กล้วยหอมเขียวเตี้ย
- กล้วยไข่
เครือผลเล็ก ผลกลมสั้น เปลือกผลบาง เปลือกและเนื้อเมื่อสุกมีสีเหลืองเข้ม รสหวานหอม ปลูกได้ทุกภาค มีปลูกกันมากที่จังหวัดกำแพงเพชร
- กล้วยหักมุก
เครือผลใหญ่ ผลเป็นเหลี่ยม เปลือกหนา และมีรอยแตกลายงา เมื่อสุกมีสีเหลืองนวล ไม่นิยมกินสดกันมากนัก เพราะเนื้อหยาบกว่ากล้วยชนิดอื่นๆ จึงนำมาย่างหรือเชื่อมกิน
- กล้วยเล็บมือนาง
เครือผลเล็ก และมีขนสีน้ำตาลปกคลุมตามก้านเครือและก้านหวี ผลเรียว เมื่อสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น รสหวานหอมคล้ายกล้วยหอม นิยมกินผลสุกหรือทำเป็นกล้วยตาก ปลูกได้ทุกภาค และโดยเฉพาะภาคใต้ที่จังหวัดชุมพร
- กล้วยนาก
เครือผลใหญ่ ผลกลมคล้ายกล้วยไข่ แต่ยาวถึง 14 เซนติเมตร เปลือกผลสีม่วงแดง พอสุกมีสีเหลืองเล็กน้อย เนื้อในสีเหลืองอมส้ม และมีกลิ่นหอม นิยมใช้บูชาในงานมงคลต่างๆ
จาระไนคุณค่าของกล้วย
กล้วย เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี โพแทสเซียม และใยอาหาร นอกจากนั้นยังมี วิตามินบี6 ซึ่งสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์แอนติบอดีของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในกระบวนการย่อยโปรตีน การสร้างเม็ดเลือดแดง และการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง วิตามินซีในกล้วย ช่วยรักษาและป้องกันการติดเชื้อได้ มีประโยชน์กับร่างกายในการดูดซึมธาตุเหล็ก และการสร้างเม็ดเลือด ส่วนโพแทสเซียม นั้นช่วยรักษาความสมดุลของของเหลวในเลือดและเซลล์ เป็นแร่ธาตุหลักในการสังเคราะห์โปรตีนและกระบวนการสร้างกล้ามเนื้อ เพราะไปกระตุ้นการส่งกระแสประสาทในตอนที่กล้ามเนื้อหดตัว
นอกจากนั้นกล้วยยังเป็นผลไม้ที่มี คาร์โบไฮเดรต ซึ่งย่อยง่ายกว่าผลไม้ชนิดอื่น ทำให้ร่างกายเปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว และง่ายกว่าการเปลี่ยนพลังงานจากโปรตีนและไขมันอีกทั้งมีโซเดียม (เกลือแร่) ต่ำ และไม่มีไขมันกับคอเลสเทอรอลด้วย กล้วยมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการทุกวันเมื่อเทียบกับแอปเปิ้ลกล้วยมีโปรตีน มากกว่า 4 เท่า คาร์โบไฮเดรตมากกว่า 2 เท่า ฟอสฟอรัสมากกว่า 3 เท่า วิตามินเอและธาตุเหล็กมากกว่า 5 เท่า วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆมากกว่า 2 เท่า แถมยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียม
ทำไมกล้วยจึงเป็น "อาหารสมุนไพร"
กล้วยนอกจากมีคุณค่าเป็นอาหารมากคุณค่าแล้ว ยังถือเป็นอาหารสมุนไพรใกล้ตัวที่ทั้งราคาถูกและหารับประทานไ้ด้ง่ายอีกด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. วันดี กฤษณพันธ์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังถึงความหมายของ "อาหารสมุนไพร" ว่า "อาหารสมุนไพร คือสมุนไพรที่ให้ประโยชน์เ็ป็นทั้งอาหารและยารักษาโรค ในแง่ของอาหาร สมุนไพรดังกล่าวสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายในการดำรง ชีวิต เื่นื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายอยู่ โดยสารเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในพืช อาหารสมุนไพรอาจอยู่ในรูปของธัญญาหารและถั่วต่างๆ ผักผลไม้ เครื่องเทศ และเครื่องดื่มสมุนไพร เช่น
ฝรั่ง เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และให้กากใย ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้แก้ท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อได้อีกด้วย
ขิง ใช้เป็นอาหารและใช้เตรียมเป็นเครื่องดื่ม และยังสามารถใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้
จะเห็นได้ว่าวันหนึ่ง ๆ เรารับประทานยาเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกว่าเป็นยา
กระเทียม ใช้ในการปรุงอาหาร มีฤทธิ์ขับเหงื่อ ขับเสมหะ และฆ่าเชื้อโรคได้
มะขามเปียก ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ และมีฤทธิ์ช่วยทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงได้ เป็นต้น"
เช่นเดียวกันกับกล้วย ที่จัดเป็นอาหารสมุนไพร เพราะนอกจากเป็นอาหารชั้นเลิศแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ดังนี้
- แก้ท้องเสีย
ผลดิบของกล้วยมีสารเทนนิน ซึ่งฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยบรรเทาโรคท้องร่วงที่ไม่รุนแรง และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
วิธีใช้ ใช้ผลดิบหั่นเป็นแว่น ตากให้แห้ง บดเป็นผง ใช้ชงน้ำร้อนดื่ม โดยใช้ผงยาครั้งละเท่ากับกล้วย1/2-1ผล หรืออาจจะรับประทานกล้วยห่ามๆครั้งละ1/2-1ผล เพื่อแก้อาการท้องเดิน
ข้อควรระวัง เมื่อรับประมานยานี้แล้วอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ซึ่งแก้ได้โดยดื่มน้ำขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ
- แก้ท้องผูก
กล้วยน้ำว้าสุกมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆได้ เนื่องจากสารเพคตินที่มีอยู่ในกล้วยจะช่วยเพิ่มกากอาหารและช่วยหล่อลื่นให้ การขับถ่ายสะดวก
วิธีใช้ รับประทานกล้วยน้ำว้าสุกวันละ 2-4 ผล
- ป้องกันและรักษาโรคกระเพาะ
จาผลการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ผงกล้วยดิบสามารถป้องกันและรักษาโรคกระเพาะได้ โดยสารในกล้วยดิบจะไปกระตุ้นเซลล์เยื่อบุกระเพาะให้หลั่งสารมิวซินออกมา เคลือบกระเพาะ
วิธีใช้ ใช้เช่นเดียวกับการรับประทานเพื่อแก้ท้องเสีย หรือใช้ผงกล้วยดิบ 1-2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน ใช้รับประทานก่อนอาหารและก่อนนอน
นอกจากกล้วยจะมีสรรพคุณดังข้างต้นแล้ว ยังช่วยให้เราเอาชนะหรือป้องกันอาการบางอย่างได้ด้วย ดังนี้
- ภาวะซึมเศร้า กล้วยช่วยให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น เพราะมีทริปโทเฟน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายจะเปลี่ยนให้เป็นซีโรโทนิน ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมีอารมณ์ดีขึ้น
- ภาวะเลือดจาง กล้วยมีปริมาณธาตุเหล็กสูง ช่วยกระตุ้นการผลิตเฮโมโกลบินในเลือด
- ความดันเืลือด กล้วยช่วยให้เอาชนะโรคความดันเลือดได้ เพราะมีปริมาณโพแทสเซียมสูงแต่โซเดียมต่ำ??
- แพ้ท้อง รับประทานกล้วยเป็นอาหารว่าง ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และหลีกเลี่ยงอาการแพ้ท้องได้?
- ยุงกัด ก่อนทายาหม่อง ให้นำผิวด้านในของเปลือกกล้วยมาทาบริเวณที่ยุงกัด จะช่วยลดอาการบวมและแดง??
- ระบบประสาท กล้วยอุดมด้วยวิตามินบี 6 ที่ช่วยควบคุมระบบประสาท
- ควบคุมอุณหภูมิ ว่ากันว่ากล้วยเป็นผลไม้เย็น ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้
- เลิกบุหรี่ วิตามินบี 6 และบี12 รวมทั้งโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในกล้วยช่วยลดอาการอยากนิโคตินของร่างกาย
- ความเครียด เมื่อเราเครียดอัตราเมทาบอลิซึมจะเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับของโพแทสเซียมลดลง การรับประทานกล้วยจึงเป็นการเพิ่มระดับโพแทสเซียมได้ เพราะโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นสำหรับร่างกาย ซึ่งช่วยใ้ห้หัวใจเต้นเป็นปรกติ ขนออกซิเจนไปที่สมองเพื่อควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย
Tips กินกล้วย ในมื้ออาหารชีวจิต
กล้วยเป็นอาหารที่ชาวชีวจิตรู้จักกันเป็นอย่างดี ในหนังสือ "ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 70" อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เจ้าตำรับชีวจิตได้จัดตัวอย่างเมนูอาหารชีวจิตไว้ 1 สำปดาห์ จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะรายการอาหารในหนึ่งวัน ที่มีกล้วยน้ำว้า มาเล่าให้ฟัง
- เช้า น้ำส้มคั้น ขนมปังโฮลวีทปิ้ง 2 แผ่นทาแยมหรือเนยถั่วหรือน้ำพริกเผา กล้วยน้ำว้า 1 ลูก มะละกอ 1 ชิ้นยาว ฝรั่งครึ่งลูก
- กลางวัน เย็นตาโฟประยุกต์ ผักบุ้งมากๆเต้าหู้มากๆ ผลไม้ ถั่วกินเล่น
- เย็น ข้าวซ้อมมือ ผักน้ำพริกปลาเผา ผัดถั่วงอกเต้าหู้เห็ด ยำเต้าหู้ใส่มันฝรั่ง ใส่ผักต่างๆ ใส่น้ำพริกเผา แกงเลียง
ที่มา : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 184