ชะนีมงกุฎ..สัตว์น่ารัก แต่เป็นพาหะนำไวรัสฯบี
"น่ารัก แต่ นำภัยอันตราย"
สัตว์ป่า....เกิดกรณีพิพาทขึ้นอีกแล้ว ณ วัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดพิจิตร ได้กัดเด็กน้อย 2 ราย จนเป็นข่าวฮือฮาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์...สัตว์ตัวนี้คือชะนี...
...อันตรายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่เด็กได้ บาดแผลเท่านั้น ยังต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อจากโรคร้ายอีกด้วย เพราะนักวิจัยค้นพบว่า ชะนีไทยส่วนใหญ่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี และโรคร้ายอีกหลายชนิด
วันนี้ หลายชีวิต จึงพามาสัมผัสกับ ชะนีมงกุฎ สัตว์ป่าสงวนคุ้มครองตัวนี้เป็นการรู้เขารู้เรา เพราะเขาห้ามมีไว้ในครอบครอง..จะได้ไม่เผลอไผลทำผิดตัวบทกฎหมายกัน
ชะนีมงกุฎ....ส่วนใหญ่จะพบอาศัยอยู่ในแถบประเทศลาวและเขมร ทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง สำหรับในประเทศไทยพบทางทิศตะวันออก เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ตราด และ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่...
ลักษณะรูปร่างที่เด่นชัดคือ ตัวผู้เมื่อเกิดใหม่จะมีสีขาวนวล ตัวผู้เมื่ออายุ 3-4 ปี จะเปลี่ยนเป็นสีดำทั่วตัวยกเว้นคิ้ว ถุงอัณฑะ หลังมือ หลังเท้า และวงรอบใบหน้า ส่วนตัวเมียมีสีขาวนวลเหมือนเดิม แต่ที่หน้าอกและบนหัว มีสีดำ
จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่อายุ 6-7 ปีขึ้นไป สามารถผสมพันธุ์กันจนตั้งท้องนานประมาณ 240 วัน ตกลูกแค่ 1 ตัว ชอบกินผลไม้ ยอดไม้ ไข่นก และแมลงต่างๆ เป็นอาหาร สัญลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ เสียงร้อง ผั้ว...ผั้ว.. ผั้ว....เป็นเสียงที่ดัง และยาวต่อเนื่องกัน
น.ส.สุวรรณา นพพรพันธุ์ นิสิตปริญญาเอก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาไวรัสตับอักเสบ บี ในชะนี โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับความร่วมมือจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ลักษณะโครงสร้างและพันธุกรรมของไวรัสตับอักเสบ บี ในชะนี คล้ายคลึงกับไวรัสตับอักเสบของมนุษย์มาก จากการศึกษากับชะนีกว่า 100 ตัว พบว่าชะนีไทยเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ถึง 17 ตัว
และ ทำให้เชื่อว่าการถูกชะนีกัด ข่วนมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากชะนีได้ หากผู้ที่ถูกกัดไม่มีภูมิต้านทานโรค หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี มาก่อน
อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อมูลจากการศึกษาได้รายงานไว้ว่า หากนำไวรัสตับอักเสบ บีของมนุษย์ไปให้กับชะนี จะทำให้ชะนีติดไวรัสตับอักเสบบีของมนุษย์ได้...
นอกจากไวรัสตับอักเสบ บีแล้ว ยังมีไวรัสตัวอื่นที่อยู่ในสัตว์จำพวกลิงและชะนี ซึ่งอาจจะติดต่อมาสู่มนุษย์และก่อโรคข้ามสายพันธุ์มายังมนุษย์ได้อีกหลายชนิด เช่น simian HIV, SimamFoamy Virus (SFV), Herpes B...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Herpes B จะมีอันตรายมากหากมีการติดต่ออาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตเนื่องจากโรคสมองอักเสบ
ดังนั้น.... ทางที่ดีจึงไม่ควรไปจับสัตว์ดังกล่าวมาไว้ในครอบครอง ปล่อยให้มันอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลของป่าและสิ่งแวดล้อม.. เพียงเท่านี้ก็เพียงพอต่อการที่ได้ชื่อว่าเมตตาต่อสัตว์!!
สนับสนุนข้อคิดนานาสาระโดย: