ด้วงก้นกระดก พิษเข้าตา - บอด

ด้วงก้นกระดก พิษเข้าตา - บอด

เตือนประชาชนระวังอันตรายจากด้วงก้นกระดก พิษทำให้ผิวหนังอักเสบ อาจถึงขั้นตาบอดได้ เผยราชบุรี สมุทรปราการ นครสวรรค์ อยุธยา พบผู้ป่วยอื้อ เข้าหน้าฝนมีแมลงชนิดนี้ชุกชุม  

          นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้มักจะมีด้วงก้นกระดก หรือที่เรียกว่าด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน (Rove beetle) ชุกชุมกว่าฤดูอื่น ด้วงชนิดนี้เป็นแมลงที่มีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ แต่มีพิษสำหรับคน ทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังอย่างเฉียบพลัน แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต มีรายงานผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ โดยด้วงกระดกจะมีพิษชื่อว่าเพเดอริน (Paederin) อยู่ทั่วตัว ด้วง 1 ตัวจะมีสารพิษอยู่ในตัวประมาณ 0.025 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว พิษมีฤทธิ์ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ หากถูกผิวหนังจะเกิดอาการอักเสบ แสบร้อน พุพอง ส่วนใหญ่พิษจะมีในด้วงตัวเมีย โดยด้วงจะปล่อยน้ำพิษออกมาในกรณีที่ด้วงตกใจ หรือถูกตี ถูกบีบ ถูกบดขยี้ เพื่อป้องกันตัว

          โฆษก สธ.กล่าวว่า หลังจากที่คนสัมผัสพิษด้วงกระดกอาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ สัมผัส โดยหลังสัมผัสใน 24 ชั่วโมงแรก ผิวจะมีผื่นแดง คัน แสบร้อน เกิดเป็นแผลพุพองภายใน 48 ชั่วโมง และมีการอักเสบขยายวงใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงตกสะเก็ดภายใน 8 วัน อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังจะอักเสบหลายแห่งคล้ายงูสวัด บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เป็นผื่นบวมแดงติดต่อกันหลายเดือน หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้

          นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายนที่ ผ่านมา มีรายงานผู้ถูกพิษด้วงกระดกที่ จ.ราชบุรี 26 ราย ทุกรายมีผื่นแดงที่ผิวหนัง ปวดแสบปวดร้อน บางรายตาแดง ปวดหู ที่ผ่านมาเคยพบกลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดสมุทรปราการเกิดอาการผิวหนัง อักเสบเฉียบพลันจากด้วงกระดก 27 ราย ใน พ.ศ.2536 ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2549 พบผู้ป่วยที่ จ.นครสวรรค์ 113 ราย และที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 30 ราย ส่วนใหญ่มีผื่นแดงเป็นทางยาว ลักษณะคล้ายรอยไหม้ ปวดแสบปวดร้อน
ส่วนที่ต่างประเทศเคยมีรายงานที่เมืองโอ กินาวา ใน พ.ศ.2512 มีผู้สัมผัสพิษด้วงเกิดอาการรุนแรงกว่า 2,000 ราย และที่อินเดีย ใน พ.ศ.2548 มีผู้ป่วย 123 ราย

          ลักษณะของด้วงก้นกระดกจะมีลำตัวเป็นเงามัน ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีสีดำสลับส้ม มักจะงอท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น ปกติจะอาศัยอยู่ในบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟตามบ้านเรือนตอนกลางคืน โดยจะมีมากในฤดูฝน พบด้วงชนิดนี้ได้ทั่วโลกมากที่สุดที่อเมริกาเหนือ ซึ่งมีถึง 3,100 ชนิด สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีประมาณ 20 ชนิด

          ตามปกติ ด้วงก้นกระดกจะไม่กัดหรือต่อยคน แต่คนจะได้รับพิษหากไปสัมผัส จับมาเล่น หรือตบ ตี บี้จนน้ำพิษแตกออกมา เป็นการป้องกันด้วงก้นกระดก ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเปิดไฟในช่วงกลางคืนเท่าที่จำเป็น ก่อนนอนให้ปัดที่นอน หมอน ผ้าห่ม หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็ก ๆ อย่าจับด้วงมาเล่น ไม่ตบหรือตีเมื่อด้วงบินมาเกาะตามตัว และหากถูกพิษของด้วงให้ล้างด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย และควรไปพบแพทย์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์