รู้ไว้ห่างไกลข้อเสื่อม
คนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่า การออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เลี้ยงลูกบาส กระโดดตบวอลเลย์บอล รวมถึงกีฬาอื่น ๆ
ที่ต้องใช้เท้าวิ่งและกระโดด อาจทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น สู้อยู่เฉยๆ ดีกว่า ข้อกระดูกไม่ต้องทำงานหนัก โรคข้อเสื่อมก็จะไม่ถามหา
นักวิจัยพยายามค้นหาข้อเท็จจริง มาอธิบาย "หักล้าง" ข้อสงสัยของคนจำนวนมากนี้ สรุปสั้นๆได้ว่า การออกกำลังกายไม่ได้เร่งให้เป็นโรคข้อเสื่อมในคนปกติ แต่คนที่เป็นโรคข้อเสื่อมอยู่แล้ว การออกกำลังกายบางอย่างทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้ามรูปแบบการออกกำลังกายบางอย่างที่เหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ กลับช่วยบำบัดรักษาให้ผู้ป่วยข้อเสื่อมดีขึ้น
นายแพทย์เอกชัย เจริญอาภรณ์วัฒนา กลุ่มงานศัลยกรรมกระดูก เวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลกลาง อธิบายว่า ข้อเสื่อมได้รับการจัดอันดับให้เป็นโรคยอดนิยมในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอาการเสื่อมที่บริเวณข้อเข่า ซึ่งพบมากกว่าข้อเสื่อมในบริเวณอื่นๆ อย่างสะโพก เพราะเข่าเป็นจุดรองรับน้ำหนักตัวและรับแรงกระแทกจากการก้าวเดิน
ข้อเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตาม "วัย" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรคนี้จะกลายเป็น "เพื่อนตัวร้าย" ของคุณปู่คุณย่าที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จากสถิติทางการแพทย์พบว่า ผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป 100% มีภาวะข้อเสื่อม ส่วนคุณลุงคุณป้าในวัย 40 กว่าๆ ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาหารการกินและการใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้ ส่งเสริมให้เข้าใกล้ "เพื่อนตัวร้าย" เร็วขึ้น
"ข้อมูลข้างต้นเป็นสิ่งที่พวกเราทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ที่น่าตกใจคือโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยตัวเอง แล้วทำไมจึงยังพบผู้ป่วยโรคข้ออยู่เป็นประจำและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ" นายแพทย์เอกชัย ตั้งข้อสังเกต
กลับบ้านไปสังเกตคนใกล้ตัวรวมถึงตัวคุณเอง ว่า "เพื่อนตัวร้าย" เริ่มเคาะประตูบ้านหรือยัง
อาการเริ่มต้นของข้อเสื่อมสังเกตได้ไม่ยาก เช่น ขาเรียวยาวที่เคยภาคภูมิใจเริ่มโก่งงอเป็นขาเป็ด เพื่อที่จะรับน้ำหนักตัวได้อย่างมั่นคง รู้สึกเจ็บขัดตามกระดูกข้อ ทั้งข้อเข่า ต้นคอ หลังและนิ้วมือ มีอาการข้อติดขยับหรือเหยียดตรงไม่ได้ บางคนอาจมีเสียงกระดูกข้อลั่นก็อบ ๆ ยามลุกนั่งและก้าวขึ้นลงบันได้
อาการเตือนเหล่านี้หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข กระดูกข้ออย่างข้อเข่าข้อสะโพกจะเสียดสีมากขึ้น เคลื่อนไหวได้ลำบาก อาการอักเสบบวมก็จะรุนแรงตาม
สุดท้ายกลายเป็นโรคข้อเสื่อม ที่ต้องเรียกหาลูกหลานให้มาช่วยพยุงลุกพยุงเดิน "ภาวะข้อเสื่อมเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่บั่นทอนความสามารถในการใช้ชีวิต จากที่เคยเดินคล่องแคล่วหรือขึ้นลงบันไดได้ราวติดปีก อาจถูกจำกัดด้วยอาการปวด ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในบางขณะ และสิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอน คือคุณภาพชีวิตที่แย่ลง" นายแพทย์เอกชัย กล่าว
โรคข้อเสื่อมเกิดขึ้นเนื่องจากความสึกของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน ซึ่งหุ้มอยู่ปลายกระดูกของแต่ละข้อ ทำให้ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกที่กดลงบนข้อ เมื่อมีการเคลื่อนไหว ข้อจะฝืดทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก ที่สำคัญบริเวณข้อที่เสื่อมจะเกิดอาการปวดรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ การรักษาควบคู่กับป้องกัน จะชะลอให้ข้อเสื่อมช้าลง ลดอาการปวดอักเสบ ป้องกันการเกิด "ขาเป็ด"
การรักษาแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็ไม่สามารถทำให้ "ข้อ" กลับมาปกติดังเดิม อีกทั้งจะเป็นวิธีสุดท้ายที่เลือกใช้ หลังจากใช้ยาบำรุงข้อในรูปของยากินและยาฉีดไม่ได้ผล ดังนั้น การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะข้อเสื่อม น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
การรักษาถัดมาคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ควบคุมน้ำหนักตัวให้พอดี
ไม่มากจนเกินไป ช่วยปกป้องข้อได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอริยาบถที่ทำให้ข้อเข่าทำงานหนัก เช่น คุกเข่า นั่งพับเพียบ พร้อมทั้งใช้อุปกรณ์เสริมช่วยพยุงน้ำหนักตัว ลดแรงกดทับลงบนข้อ และบรรเทาอาการปวดได้ด้วยเทคนิคประคบร้อนประคบเย็น
อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์เสริมไม่สามารถทดแทนการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายสามารถสร้างกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง และปกป้องข้อเข่าข้อสะโพกจากความเสื่อมได้อย่างมั่นใจ
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา : bangkokbiznews