ลั่นระฆังเปิดเทศกาลเที่ยวเมืองไทย
เย็นวันที่ 7 มิ.ย.50 ดร.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่า
การกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาลเที่ยวเมืองไทย Thailand Tourism Festival ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 ราย
ประกอบด้วย
กลุ่มผู้ขาย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทย 324 ราย และกลุ่มผู้ซื้อ 356 ราย กลุ่ม Trade Visitor 158 ราย จากต่างประเทศที่เดินทางมาร่วมในงานส่งเสริมการขายการท่องเที่ยว Thailand Travel Mart Plus Amazing Gateway to Mekong Sub-region ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดผนวกเข้าด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 7-10 มิถุนายน 2550 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยพิธีการของงาน
เริ่มด้วยการจัดฉายวีดีทัศน์ ชุด "ย้อนอดีตเทศกาลเที่ยวเมืองไทย" จากที่เคยจัดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา จากนั้นนางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขึ้นกล่าวรายงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธีกล่าวและทำพิธีเปิด โดยการลั่นระฆัง มีเอฟเฟคประกอบเป็นควัน เสียงหวูดรถไฟ และภาพการเคลื่อนออกของขบวนรถไฟจากสถานีหัวลำโพง
พร้อมกันนั้น
จะมีเสียงเพลง "ฉันชอบเที่ยวไทย" รวมทั้งภาพแหล่งท่องเที่ยวประกอบเพลง เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเดินทาง เสร็จจากนั้นเป็นการแสดง ชุด "ระบำสมานฉันท์จตุรภาคี" โดยสถาบันพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร
สำหรับกิจกรรมในภาพรวมตลอดทั้งสี่วัน
ประกอบด้วยการจัดกิจกรรมหมู่บ้านสี่ภาค ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตไทย โดยไฮไลท์ของ
หมู่บ้านภาคเหนือ คือ การจำลองประเพณีปีใหม่ไทยแบบล้านนา ภาคกลางเน้นประเพณีลอยกระทงแบบชาวบ้าน และพระราชพิธีจองเปรียงในแบบราชสำนัก
ภาคอีสาน นำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน 6 แห่ง ได้แก่ บ้านคำปุน แหล่งทอผ้ากาบบัว จังหวัดอุบลราชธานี บ้านปลาค้าว แหล่งอนุรักษ์ศิลปะหมอลำ จังหวัดอำนาจเจริญ ชุมชนประดิษฐ์ตกแต่งเทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านทอเสื่อกก แหล่งผลิตสินค้าโอทอปจังหวัดมหาสารคาม หมู่บ้านภูไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม และแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ชมวิถีชีวิตชาวไทยพวน จังหวัดอุดรธานี
ส่วนภาคใต้ จำลองงานประเพณีที่สำคัญ เช่น "แข่งโพนลากพระ" จังหวัดพัทลุง "ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ ขบวนแห่นางดาน และ "สารทเดือนสิบ" จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวใต้ที่ผสมผสานวัฒนธรรม 3 เชื้อชาติ (ไทย จีน มุสลิม) ทั้งด้านสถาปัตยกรรม อาหาร ฯลฯ นอกจากนี้ในแต่ละหมู่บ้าน ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าอาหารพื้นเมือง รวมถึงงานหัตถกรรมที่หาชมได้ยาก