‘3 วิธีธรรม’ลดความกดดันวัยทำงาน

‘3 วิธีธรรม’ลดความกดดันวัยทำงาน



เป็นปกติที่หลายบ้านพบเจอกับความเครียดไม่เว้นแต่ละวัน เนื่องจากสมาชิกในบ้านหอบหิ้วเอาความความตึงเครียดข้างนอกกลับมาบ้านทุกๆ เย็น โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่วัยทำงาน ที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากล้วนไม่ว่าจะเรื่องงานหรือหน้าที่ในบ้าน บางคนให้ความสำคัญเรื่องงานมากกว่าเรื่องครอบครัว จนลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ครอบครัว แต่ก็ไม่อาจทิ้งงานไปได้ วันนี้มีวิธีที่สามารถทำทั้งสองสิ่งให้ดำเนินไปด้วยกันได้อย่างลงตัว

      

       "พี่โอ๋-อโนทัย เจียรสถาวงศ์" นักเขียนอิสระ ผู้คร่ำหวอดในวงการนวนินายอิงธรรมะ กล่าวสะท้อนมุมมองกับเรื่องนี้ว่า ไม่แปลกนักที่คุณพ่อคุณแม่วัยทำงานต้องพอเจอกับความเครียดและความกดดันตลอดเวลา เนื่องจากความรับผิดชอบในหน้าที่การงานต่างๆ ที่บางครั้งมาพร้อมกับปัญหาที่คอยรุมเร้า ทำให้เกิดเป็นความเครียดที่หนักหนาสาหัสจนไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนให้ความกดดันและความเครียดเหล่านั้นเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เกิดเป็นกำลังใจได้

      

       "เมื่อเรามีความกดดันในตัวเองมากๆ ควรเปลี่ยนให้มันเป็นเครื่องฝึกสติปัญญา เพราะมนุษย์จะใช้ปัญญาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความสามารถ อารมณ์ รวมถึงทุกสิ่งที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ เพราะบางทีการควบคุมอารมณ์ของตัวเองทำได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถฝึกได้ดีกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ เพราะสัตว์จะอาศัยเพียงการใช้สัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่มนุษย์มีขอบการควบคุมสภาวะในจิตใจ ถ้าเราสามารถควบคุมมันได้ ก็จะเป็นการฝึกฝนให้เกิดความอดทนและความชำนาญในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างง่ายดาย"

      

       เช่นเดียวกับ ความอดทน อดกลั้น และพยายามในการทำงาน ถ้าทำงานโดยปราศจากสิ่งเหล่านี้ เชื่อได้เลยว่าการทำงานจะไม่มีความสุข มีแต่ความกดดัน จนเกิดความเครียดตามมา ทำให้งานที่ออกมาจึงไม่มีคุณภาพ นักเขียนนวนิยายอิงธรรมะท่านนี้แนะว่า ควรใช้ปัญญามองปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วพลิกกลับให้ปัญหาและความกดดันต่างๆ มาเป็นเครื่องมือในการฝึกและพัฒนาตัวเองให้เกิดปัญญา โดยการสังเกตจากการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ดังนี้

      

       1. การพัฒนาพฤติกรรม ควรเรียนรู้ว่าเวลาติดต่อหรือสื่อสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เราเป็นคนอ่อนโยนหรือแข็งกระด้าง เราเป็นคนหยาบคายหรืออ่อนน้อม เราเป็นคนเข้มแข็งหรืออ่อนแอ เราสงบหรือว่าเรากำลังวุ่นวาย รวมถึงการพูดจาด้วยว่า เราใช้คำพูดแบบไหนในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน

      

       2. การพัฒนาจิตใจ เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า งานที่เราทำนั้น มันทำให้รู้สึกสดชื่น กระตือรือร้น และมีความสุขหรือไม่เมื่อใช้เวลาอยู่กับงาน เรามีจิตใจที่เมตตาและเอื้ออาทรต่อเพื่อร่วมงานมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งลองสังเกตว่าเราแสดงจิตใจที่ละโมบเห็นแก่ตัวกับผู้อื่นหรือไม่ ฉะนั้น ถ้าอยากให้สิ่งเหล่านี้มาเป็นทุนให้เกิดความสุขในการทำงาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนจิตใจให้คิดถึงผู้อื่นมากขึ้น

      

       3. การพัฒนาสติปัญญา จะเป็นการพัฒนาความชำนาญในหน้าที่การงานของตัวเอง เพราะเราได้พัฒนาความสามารถอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเจอปัญหาบ่อยๆ ใจของเราจะเห็นความเป็นจริงของโลกอย่างถ่องแท้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่คงอยู่กับที่ ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน มันไม่มีอะไรแน่นอน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานมันก็สามารถเป็นได้เสมอ

 

       ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามขึ้นว่า ความกดดันมักเกิดขึ้น เมื่อกำหนดส่งงานแต่งานยังไม่เสร็จ พี่โอ๋ ได้ยกตัวอย่างจากนิทานให้ฟังว่า มีผู้ชาย 3 คน ทำอาชีพเป็นช่างก่อสร้าง วันหนึ่งได้รับคำสั่งให้ไปก่ออิฐ ทุกคนก็ก่ออิฐในพื้นที่ใกล้ๆ กัน ผู้ชายคนที่หนึ่งก่ออิฐไปได้ 10 นาที ก็หยุดพักแล้วเหนื่อยหน่ายกับงานที่ทำอยู่ ทำไปก็พักไปเรื่อยๆ ส่วนผู้ชายคนที่สองทำงานได้มากกว่าผู้ชายคนแรก แต่ขณะที่ทำงานก็ยกนาฬิกาขึ้นดูตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่จะเลิกงานลักที แต่ผู้ชายคนที่สาม ตั้งใจก่ออิฐอย่างขมักเขม้นไม่ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวมากแค่ไหน เหงื่อจะไหลอาบตัวเท่าไร เขาก็ตั้งใจก่ออิฐไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอาการเหนื่อยหน่ายและพร่ำบ่นกับงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ หลังจากนั้นก็มีคนไปถามว่า ทั้ง 3 คน กำลังทำอะไร คนแรกตอบว่า "กำลังก่ออิฐ" คนที่สองตอบว่า "กำลังก่อกำแพง" ส่วนคนสุดท้ายตอบว่า "กำลังสร้างวัด"

      

       "การที่ผู้ชายคนสุดท้ายตอบว่า เขากำลังสร้างวัดนั้นจิตใจของเขากำลังจดจ่ออยู่กับงานที่ทำด้วยความตั้งใจ และเขาก็คิดอยู่เสมอว่างานที่ทำจะเกิดประโยชน์กับผู้อื่นอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับการที่ต้องเร่งส่งงาน หรือต้องรับผิดชอบงานที่หนักหนาสาหัสเท่าไร ถ้าเราระลึกและรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาด้วยการมีสติ ความเครียดและความกดดันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นได้ แต่ถ้าคนๆ หนึ่งทำงาน เพื่อหวังว่าเจ้านายจะรัก หรือจะได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเร็วๆ ตรงข้ามถ้าคิดว่างานที่ทำจะเกิดประโยชน์กับผู้อื่นอย่างไรบ้างมันจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการมานั่งคาดหวังกับสิ่งตอบแทน และเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานให้สำเร็จจนได้ ไม่ว่ามันจะมีอุปสรรคมากมายแค่ไหน" พี่โอ๋ อธิบายให้เห็นภาพ

      

       อย่างไรก็ตาม หากต้องแก้งานแล้วแก้งานอีกจนหมดกำลังใจ พี่โอ๋ แนะวิธีแก้ปัญหาและทิ้งท้ายว่า ก่อนอื่นเราต้องถามใจตัวเองว่ารักงานนี้หรือไม่ ถ้ารักและมีความสุขที่ได้ทำงานนี้ก็ต้องมาปรับการคิดว่าวิสัยทัศน์ของหัวหน้าหรือเจ้านายนั้นเป็นอย่างไร และสิ่งที่เขาบอกให้เราแก้ไขนั้น มันนำไปสู่สิ่งที่ดีและเหมาะสมหรือไม่ ถ้ารักงานก็จะต้องตั้งใจแก้ไขและฝึกจนเกิดความชำนาญ หรือเวลาที่เราฟังคำตำหนิติเตือนบ่อยๆ ก็เอามันมาเป็นแรงผลักดันตั้งใจทำให้มันดีกว่าสิ่งที่คนอื่นมองเห็น ถึงที่สุดแล้วถ้าเราทำเต็มความสามารถผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

 ที่มา

สสส. 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์