พบยีนตัวการมะเร็งเต้านม
นักวิทยาศาสตร์พบยีนตัวใหม่
ที่ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ปูทางให้แพทย์ใช้เป็นข้อมูลวินิจฉัยมะเร็งเต้านมแม่นยำขึ้น พร้อมกับชี้ทางป้องกันและรักษาภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั่วโลก
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้นำเอาข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม
จำนวน 4,400 ราย มาเปรียบเทียมกับกลุ่มตัวอย่าง 4,300 ราย ที่ไม่ได้เป็นโรคร้ายนี้ จนพบตำแหน่งที่แตกต่างกัน 30 ตำแหน่ง ในหนึ่งลำดับเบสของดีเอ็นเอ ที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม จากนั้นทีมวิจัยได้นำเอาตำแหน่งยีนที่พบไปเทียบเคียงกับผู้หญิงอีกกว่า 2 หมื่นคน ที่เป็นมะเร็งเต้านม และกลุ่มควบคุมเพื่อความชัดเจน
นักวิจัยพบยีนใหม่สามตัวที่มีส่วนควบคุมการเติบโตของเซลล์
โดยยีนที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ FGFR2 เป็นตัวรับโปรตีนที่ช่วยให้เซลล์ ที่เรียกว่า ไฟโบรบลาสต์ แบ่งตัว ส่วนยีนอีกสองตัวเป็นความผิดปกติของยีนที่อยู่ในโครโมโซมคู่ที่ 2 และ 16 ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง
ผู้หญิงที่มียีนเสี่ยงมะเร็งเต้านมตัวนี้อยู่สองชุด
มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 60% เทียบกับคนที่ไม่มีชุดยีนนี้ ปัจจุบันมีเทคนิคที่ช่วยให้แพทย์สืบหายีนในทั่วร่างกายได้เหมือนกับเปิดแผนที่ ถ้าแพทย์สแกนหายีนตัวการเหล่านี้ได้ ก็สามารถบอกได้ว่า ผู้หญิงคนไหนเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ช่วยให้แพทย์อาจเสนอแนวทางปฏิบัติ เพื่อเลี่ยงโอกาสเสี่ยง และหาทางรักษาได้
ขอขอบคุณ ข้อมูลที่มีประโยชน์จาก เว็บไซต์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้บนโลกอินเตอร์เน็ต
ผู้มีบทความทางด้านวิทยาศาสตร์น่ารู้
สามารถส่งผลงานของท่านมาได้ที่ arunee@teeneemedia.com