ยามีไว้เพื่อรักษาโรคและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต แต่ยานอกจากจะใช้รักษาโรคแล้วบางครั้งก็อาจจะทำอันตรายเราถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เรามาดูกันดีกว่าว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่ปลอดภัย
1. ปรับขนาดยาเองตามใจชอบ ด้วยความเชื่อที่ว่ารับประทานยามากไม่ดี เมื่อมีอาการดีขึ้นแล้วก็หยุดยาโดยไม่ยอมรับประทานยาต่อจนครบตามแพทย์สั่ง
2. นำยาของคนอื่นมาใช้ กล่าวคือเมื่อมีอาการใดอาการหนึ่งแล้วบอกเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง ซึ่งอาจจะมีอาการคล้ายกันก็เอื้ออาทรนำยาที่ตนเคยรับประทานมาให้เพื่อนทาน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าอาการที่เหมือนกันนั้นอาจจะเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน ซึ่งนอกจากจะรับประทานยาไม่หายแล้วยังเสี่ยงต่อการอาการข้างเคียงจากยาอีก
3. ไม่พร้อมฟังคำอธิบายจากเภสัช ผู้ป่วยมักจะรีบกลับบ้านไม่สนใจคำอธิบายของเภสัชกรที่จ่ายยาว่ายาแต่ละชนิด ต้องใช้อย่างไรในปริมาณเท่าใด เพราะเข้าใจว่าเดี๋ยวกลับมาอ่านเองที่บ้านก็ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะมียาบางตัวที่มีข้อแนะนำการใช้จากเภสัชกรเพื่อใช้ยาได้ถูกวิธี
4. เก็บยาไม่ถูกต้อง ยาทุกชนิดมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันตามแต่ประสิทธิภาพในการรักษาของยา บางชนิดต้องเก็บในที่เย็น บางชนิดต้องอยู่ในที่ที่มีแสง หากไม่อ่านฉลาก หรือ ฟังคำอธิบายจากเภสัชกร อาจทำให้ยานั้นๆ มีประสิทธิภาพน้อยลงหากจัดเก็บไม่ถูกวิธี
5. ไม่ดูวันหมดอายุเวลาซื้อยา ทุกครั้งที่ซื้อยารับประทานเองควรดูวันหมดอายุที่แผงยา ข้างขวดหรือหลอดบรรจุยา ให้มั่นใจว่ายาที่ซื้อไปยังไม่ถึงวันหมดอายุอย่างน้อยที่สุดยาไม่ควรผลิดมา แล้วมากว่า 6 เดือนถึง 1 ปี
6. ใช้ยาไม่ถูกต้อง โดยเฉพายาที่มีเทคนิคพิเศษในการใช้ทำให้ใช้ยาไม่ได้ผล เช่น ยาพ่นป้องกันหอบหืด ซึ่งมีชนิดต่างๆ มากมาย เป็นต้น
7. ลืมรับประทานยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังต้องรับประทานยาจำนวนมากหรือรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน มักลืมรับประทานยาในมื้อกลางวันบ่อยที่สุด หรือมักลืมรับประทานยาก่อนอาหาร
8. ไม่นำยาเก่ามาด้วยเวลามารักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้บางครั้งไม่ได้รับยาที่รับประทานต่อเนื่องเพื่อรักษาโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิม
9. ชอบไปรับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล ทำให้ได้รับยาซ้ำซ้อนบางครั้งยามีปฏิกิริยาต่อกัน อาจเสริมฤทธิ์หรืออาจทำให้ฤทธิ์ยาลดลง
10. เชื่อว่าการใช้ยาดีกว่าการป้องกันการเกิดโรค คนส่วนใหญ่ชอบที่จะได้รับยาจากแพทย์เพื่อรักษาอาการมากกว่าการรับฟังคำแนะนำ เรื่องการดูแลรักษาตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดโรค ซึ่งแท้จริงแล้วการป้องกันการเกิดโรคย่อมดีกว่าการรักษา
และวิชาการดอทคอม