ลดโคเลสเตอรอล ด้วยอาหารเสริม
พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่ไม่ชอบการรับประทานยา แม้ว่ายาจะผ่านการพิสูจน์ค้นคว้าทดลองแล้วว่าได้ผลดี และ มีอันตรายน้อยก็ตาม คนเหล่านี้แม้จะไม่ชอบรับประทานยา แต่ก็ยอมรับกับ “อาหารเสริมสุขภาพ” ต่างๆ ที่ขายกันอยู่ทั่วไป คำถามที่มีมาเสมอ คือ อาหารเสริมอะไรบ้างที่ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด และ ควรรับประทานหรือไม่
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ต้นตอของไขมันโคเลสเตอรอลในเลือด มาจากอาหารเพียงแค่ร้อยละ 20 ส่วนใหญ่แล้วมาจากการที่ร่างกายสร้างโคเลสเตอรอลขึ้นเองที่ตับ ดังนั้นแม้จะไม่รับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลหรือไขมันสัตว์เลย ระดับโคเลสเตอรอลในร่างกายก็ไม่ลดลงจนเป็นศูนย์ เนื่องจากร่างกายสร้างขึ้นได้นี่เอง... สำหรับการรับประทานยาเพื่อลดระดับไขมันดังกล่าว จึงมีทั้งยาที่ลดการสร้างโคเลสเตอรอลที่ตับ ยาที่ป้องกันการดูดซึมโคเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย ยาที่ช่วยจับและขับโคเลสเตอรอลออกจากร่างกาย
สำหรับอาหารเสริมสุขภาพ ที่มีงานวิจัยว่าสามารถลดระดับโคเลสเตอรอล มีดังนี้
น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว จมูกข้าว น้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น น้ำมันเหล่านี้มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว Polyunsaturated fatty acid, PUFA คือ Linoleic และ Monounsaturated fatty acid, MUFA คือ Oleic ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดโคเลสเตอรอลและแอล ดี แอล โคเลสเตอรอล นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่ม เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีด้วย สารสกัดที่เป็นตัวออกฤทธิ์สำคัญ คือ gamma-oryzanol ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลดีของ oryzanol ค่อนข้างมาก แต่ความสามารถในการลดไขมันโคเลสเตอรอลยังน้อยกว่ายา
สารสกัดจากพืช Plant Stanols /Sterols (Phytosterols) มีอยู่ในข้าวโพด ข้าวสาลี จมูกข้าว ถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวันและพืชอีกหลายชนิด สารนี้หลักๆ คือไปแย่งที่โคเลสเตอรอลในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เป็นผลให้โคเลสเตอรอลที่มาจากอาหารและในน้ำดี ถูกดูดซึมเข้าในกระแสเลือดลดลงนั่นเอง โดยเฉลี่ยแล้วการรับประทาน plant stanols ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ สามารถระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ลงได้ประมาณร้อยละ 15-30 จากค่าเริ่มต้น หากค่าเริ่มต้นสูงมาก ก็จะสามารถลดได้มากขึ้น ปัจจุบัน plant stanols มีจำหน่ายในหลายรูปแบบตั้งแต่ แคปซูล ผงละลายน้ำ (เนื่องจากเป็นไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ เช่น Bios Life ) เครื่องดื่ม (เช่น Hearti Benecol) เนยเทียม โยเกิตร์ เป็นต้น ขนาดที่แนะนำคือ 2 กรัมต่อวัน ซึ่งหากรับประทานผัก ผลไม้จะต้องรับประทานปริมาณมากๆถึงจะได้ plant stanols เพียงพอ การรับประทานสารสกัดจึงเป็นทางเลือกที่ดี ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ สามารถใช้ร่วมกับยาลดการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลได้ผลดี
กระเทียมและน้ำมันปลา (Fish Oil) ลดไขมันโคเลสเตอรอล ได้หรือไม่ ? คำตอบ คือ กระเทียมสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลได้น้อยมากจนแทบไม่มีความสำคัญทางคลินิก สำหรับน้ำมันปลานั้น ไม่ช่วยลดโคเลสเตอรอล แต่ในน้ำมันปลาที่มีความเข้มข้นสูง EPA/DHA สูงๆนั้นสามารถลด ไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้ผลดี
โดยสรุปแล้ว อาหารเสริมสุขภาพหลายชนิดสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลได้ แต่ลดลงได้น้อยกว่าการใช้ยามาก ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลด แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล กับ ราคาแล้ว ยาลดไขมันกลุ่ม statins มีราคาถูกกว่า (cost-effective) อีกทั้งยากลุ่ม statins มีผลงานวิจัยยืนยันว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริง ในขณะที่อาหารเสริมขาดข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมสุขภาพยังเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ไม่ชอบรับประทานยา หรือ ไม่สามารถรับประทานยาได้เนื่องจากผลแทรกซ้อนของยา