จังหวัดชัยนาทตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ถือเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายทั้งทางด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และเกษตรกรรม โดยเฉพาะทางด้านศาสนา พอได้ไปเยี่ยมชมดูด้วยตนเองแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า “ชัยนาท” จะมีวัดสำคัญ ๆ และมีความน่าสนใจ มากขนาดนี้
วัดแห่งแรกที่จะพาไป คือ “วัดปากคลองมะขามเฒ่า” หรือ “วัดหลวงปู่ศุข” ที่มีชื่อเสียงทางด้านพระเครื่อง เป็นวัดเก่าแก่อยู่ในอำเภอวัดสิงห์ จ.ชัยนาท ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดแห่งนี้มีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอย่างคึกคักตลอดเวลา เนื่องจากต่างศรัทธาใน "หลวงปู่ศุข" หรือ “พระครูวิมลคุณากร”
ตามตำนานเล่าว่า ท่านมีวิชาอาคมแก่กล้า ถึงขนาดเสกใบไม้ให้กลายเป็นตัวต่อตัวแตนได้ จน “เสด็จเตี่ย” หรือ “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” บังเอิญทอดพระเนตรเห็น จึงเลื่อมใสและขอฝากตัวเป็นศิษย์ วัดนี้จึงมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของกรมหลวงชุมพรฯ บนผนังพระอุโบสถ ซึ่งเป็นภาพพุทธประวัติ
วัดต่อมาที่จะพามารู้จักคือ “วัดเขาพลอง” หรือ “วัดปฐมเทศนาอรัญวาสี” ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองชัยนาท นอกจากท่านจะได้ดื่มด่ำกับทัศนียภาพตัวเมืองชัยนาทแล้ว ทุกคนยังจะได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุไว้ในเจดีย์บนยอดเขา และมีวิหารหลวงพ่อชื้น ผู้สร้างวัดและผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน โดยภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทศชาติของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ที่เชิงเขาพลองยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ชื่อว่า “พระพุทธอริยธัมโม” ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากมาย
จากนั้นล่องเรือมาต่อกันที่ “วัดพระบรมธาตุวรวิหาร” ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ถ้าท่านไปช่วงวันเพ็ญเดือน 6 หรือมีผู้ติดตามไปด้วยมากเพียงพอท่านจะได้ร่วมทำบุญห่มพระธาตุเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยวัดแห่งนี้มีเป็นวัดที่ราชสำนักมักมาเอาน้ำไปทำน้ำมนต์เวลามีพระราชพิธีมงคลต่างๆ เพราะมีตาน้ำที่มีน้ำผุดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากอย่างหนึ่ง
วัดต่อไปที่อยู่ในทริปการเดินทางคือ “วัดธรรมามูลวรวิหาร” ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาธรรมามูล เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักร ที่ว่ากันว่าลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงหน้าวัด ที่ฝ่าพระหัตถ์ขวามีรูป “ธรรมจักร” ติดอยู่ จ.ชัยนาทจึงได้นำสัญลักษณ์นี้มาเป็นตราประจำจังหวัด มีเสมาหินทรายแดง มีรอยพระพุทธบาทในวิหาร ที่องค์พระประธานทำมาจากสำริด และเศียรโดนตัดขโมยไป กรมศิลปากรจึงทำจำลองขึ้นมา และไม่เปิดให้เข้าชม บนยอดเขาธรรมามูลมีบันไดทางขึ้น 565 ขั้น ไปยังวิหารหลวงพ่อนาค ใครศรัทธาก็เชิญปีนขึ้นกันได้
สำหรับวัดอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอสรรคบุรีชื่อว่า “วัดมหาธาตุ” หรือชาวบ้านจะเรียกกันว่า “วัดหัวเมือง” มีความสำคัญถึงขนาดที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้วัดนี้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เพราะเป็นวัดเก่าสร้างขึ้นมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียอีก มีพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง ศิลปะลพบุรี ที่เก่าแก่
นอกจากนั้นภายในวิหารคด ยังมีหลักเมืองสรรค์ ที่สร้างอยู่หลังพระพุทธรูปหลวงพ่อหลักเมือง เป็นที่แปลกใจแก่ผู้พบเห็น ภายในบริเวณวัดมีซากโบราณสถานเก่าแก่ที่รอการบูรณะ และวัดนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย ที่มีมูลค่ามหาศาลไว้อีกด้วย เรียกได้ว่าที่นี่มีความน่าสนใจและเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก
ถ้ามาถึงอำเภอสวรรคบุรีวัดอีกหนึ่งแห่งที่ไม่ควรพลาดไปเยี่ยมชมคือ “วัดพระแก้ว” ที่ภายในมีเจดีย์แบบละโว้ทรงสูง ศิลปะสมัยสุโขทัยกับศรีวิชัยผสมผสานกัน ได้ชื่อว่า “ราชินีแห่งเจดีย์ทั้งมวลในเอเชียอาคเนย์” ขอบอกว่าสวยจนเกินจะบรรยายได้จริงๆ แต่จะสวยขนาดไหน ทำไมถึงได้รับการยกย่องขนาดนี้ต้องไปชมกัน และที่วัดแห่งนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ “ทับหลัง” ที่แกะสลักติดอยู่ด้านหลังขององค์พระพุทธรูป หลวงพ่อฉาย ภายในวิหารด้านหน้าเจดีย์อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยอำเภอหันคากับ 2 วัดดังที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยนาททั้ง “วัดไกลกังวล” หรือ “เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม” วัดนี้เป็นวัดโบราณสมัยลพบุรี แต่ตอนที่ค้นพบใหม่นี้กลายเป็นวัดร้าง จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ บนยอดเขาของวัดมีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ และถ้ายืนบนยอดเขานี้จะเห็นวิวเมืองชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียงอย่างชัดเจนและสวยงามในมุมมองที่หาชมได้ยาก
โดยอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของวัดแห่งนี้คือกำแพงวัดที่ขอบอกว่ายาวมากเรียกว่าเป็นกำแพงวัดที่ยาวที่สุดในประเทศไทยหรือในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะมีความยาวถึง 5 กิโลเมตร ซึ่งที่วัดนี้มีการนำสัตว์มาเลี้ยงตามธรรมชาติหลายพันตัว ทั้ง นกยูง กวาง ละมั่ง เราสามารถให้อาหารสัตว์พวกนี้ได้อย่างใกล้ชิด กระซิบบอกนิดนึงว่า สวนนกชัยนาท ก็ยังมาเอานกยูงจากที่วัดนี้ไป และที่นี่ยังมีหลวงปู่สุ่มที่ท่านนั่งมรณภาพหล่อเรซิ่นไว้ให้ชาวบ้านที่ศรัทธามากราบไว้อีกด้วย
มาถึงวัดสุดท้าย “วัดเทพหิรัณย์” ที่พระครู ดร.ไพศาลชัยกิจ (หลวงปู่ฤาษีตาไฟ) เป็นเจ้าอาวาส และพัฒนาวัดนี้จนเจริญรุ่งเรือง มีเรือนเทวดา ไว้ให้ผู้ที่เลื่อมใสมากราบไหว้ และว่ากันว่าใครมาจุดธูปขออะไรที่องค์ฤาษีตาไฟด้านหน้า ก็จะสัมฤทธิผล ซึ่งความเชื่อในเรื่องนี้มีเหล่าลูกศิษย์ลูกหา รวมถึงคนที่เคารพและศรัทธาในหลวงปู่ฤาษีตาไฟ แห่เข้ามาที่วัดนี้เป็นจำนวนมากทุกวันสำคัญทางศาสนา
วันมาฆบูชาที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ ใครที่คิดยังไม่ออกว่าจะไปทำบุญเสริมสิริมงคลที่ไหน จังหวัดชัยนาทนับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ที่พร้อมต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยวที่ใจบุญทุกคน ด้วยความงดงามและประวัติศาสตร์มากมายที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ใคร
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์