เจาะลึกวลี “เคมีตรงกัน” รู้ให้ทันวัยรุ้น

เจาะลึกวลี “เคมีตรงกัน” รู้ให้ทันวัยรุ้น



“ก็เคมีมันตรงกันน่ะ” วลีนี้อาจจะออกจากวัยรุ่นหลายคน เมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่ปิ๊งปั๊ง หรือรู้สึกดีต่อเพศตรงข้าม
 
และมันอาจจะเป็นวลีที่โดนใจคนที่กำลังมีความรักอีกนับร้อยนับพัน จนถูกใช้บ่อยๆ และทำให้เป็นอีกวลีคุ้นหูของเราๆ ท่านๆ ในยุคนี้ ทำให้พ่อแม่หลายคนอาจจะถึงกับปวดเศียรเวียนเกล้าเมื่อเจ้าลูกวัยโจ๋บอกเล่า ถึงแฟนหนุ่มหรือแฟนสาวก่อนจะสรุปให้ฟังง่ายๆ ว่า เขาหรือเธอทั้งคู่เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อการด้วยเหตุผลง่ายๆ แต่ชวนเข้าใจยากอย่าง “เพราะเคมีตรงกัน”      

       แต่ในความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์นั้น คำว่า “เคมีตรงกัน” ไม่ใช่แค่คำพูดสุดกวนในความคิดของพ่อแม่ เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาชื่อดัง ยืนยันแล้วว่ามันมีจริงๆ !     

       “ถ้าเด็กๆ รู้จักใช้คำนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีนะครับ นั่นคือ เขามีความรู้ระดับหนึ่งละ เพราะความรักมันก็เป็นเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองเหมือนกัน มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่ระบุว่า ความรู้สึกรักนั้นเชื่อมโยงกับสารเคมีในสมอง 7-8 ตัว”      

       นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต อธิบายต่อไปอีกว่า ระดับความสัมพันธ์ของความรัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวกับเคมีในร่างกายทั้งสิ้น โดยในระดับแรกคือระดับ “ดึงดูด”      

       “คำว่าเคมีตรงกันมันอาจจะเป็นคำอธิบายที่ดี ของความรู้สึกที่เราไปปิ๊งคนๆ หนึ่ง แต่เพื่อนที่มากับเรารู้สึกเฉยๆ หรือว่าทำไมผู้ชายคนหนึ่งเห็นผู้หญิงคนนี้แล้วถูกใจ รู้สึกชอบ แต่ผู้ชายอีกคนเมื่อมองผ้หญิงคนนี้ กลับไม่รู้สึกอะไร มีการวิจัยในสัตว์ว่า สัตว์มีฟีโรโมนที่ดึงดูดสัตว์เพศตรงข้ามให้สนใจได้ มนุษย์เองก็มี ซึ่งเมื่อเราพบคนที่เรารู้สึกดึงดูดแล้ว ร่างกายจะบอกเราทันที เพราะจะมีการหลั่งเคมีที่ชื่อว่าฮอร์โมน Dopamine และ Norepinephrine ซึ่งจะส่งผลต่อประสาทอัตโนมัติกระตุ้นให้ใจเต้นเร็ว”    
  

       ในสเต็ปต่อมา หลังจากผ่านภาวะการดึงดูดซึ่งกันและกันแล้ว หากความสัมพันธ์พัฒนาต่อมาเป็น “ผูกพัน” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาวัยรุ่นรายนี้ กล่าวว่า เมื่อหญิงชายที่รู้สึกดึงดูดกันและกัน ตกลงคบหาเรียนรู้ ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ก็จะเกิดความรู้สึกผูกพัน โดยในระดับนี้ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า Oxytonin และ Vasopressin ซึ่งมีผลต่ออารมณ์ของคู่รัก ทำให้อยากทนุถนอมอีกฝ่าย      

     
  “ระดับสุดท้ายคือ ระดับที่คู่รักเกิดความรู้สึกทางเพศ ซึ่งเกิดจาก Testosterone ในผู้ชาย และ Estrogen ในผู้หญิง อันนี้ที่น่าเป็นห่วง เพราะทุกวันนี้การสื่อสารเร็วกว่าเดิมมาก ความสัมพันธ์ระดับนี้อาจจะเกิดเร็วซึ่งน่ากังวล โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในเยาวชน โบราณเรามักจะสอนลูกหลานให้ดูกันนานๆ หมั้นไว้ก่อน 2-3 ปี หรืออย่าชิงสุกก่อนห่าม อันนี้น่าสนใจ เพราะฮอร์โมน Vasopressin ที่เกิดในระดับความสัมพันธ์ที่ 2 นั้นเป็นฮอร์โมนที่มีเทอมของมัน ในระดับคู่รักมันจะหลั่งอยู่ประมาณ 2 ปี แล้วก็จะหายไป แล้วจะกลับมาอีกทีในช่วงที่แม่ให้นมลูก อันนั้นจะเป็นการหลั่งแบบระยะยาว”      

      
นพ.ทวีศิลป์กล่าวการสอนให้รักนวลสงวนตัวของผู้ใหญ่ สอดคล้องกันกับเรื่องเคมีในร่างกายอย่างน่าสนใจ เพราะหากทำตามที่ผู้ใหญ่สอนแล้ว บางครั้งวัยรุ่นอาจจะพบว่า คนที่คบอยู่อาจจะเกิดภาวะ “เคมีไม่ตรงกัน” หลังจากดูใจผ่านไปแล้ว 2-3 ปี เพราะเคมีดังกล่าวเกิดไม่หลั่งขึ้นมา ถึงตอนนั้นถ้ายังทำอะไรที่อยู่ในกรอบที่ดีงามแบบไทยๆ การเลิกรากันอาจจะไม่เสียใจและเสียดายมากนัก เพราะไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ดีไม่งามที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ ดังนั้นช่วงระยะที่ดีที่สุด ที่อยากฝากถึงวัยรุ่นและทุกๆ วัยที่มีความรัก ที่ควรยืดระยะเวลาให้อยู่ในช่วงนั้นได้นานๆ คือ ช่วงที่ 2 ที่เป็นช่วงของความผูกพันและการทนุถนอมซึ่งกันและกัน      

      
ไม่อยากให้วลีนี้ เป็นคำโก้ๆ อยากให้เด็กๆ พูดแบบเข้าใจและรู้เท่าทัน เพราะถ้าไม่รู้เท่าทัน เคมีตรงกันอาจจะกลายเป็นเคมีอันตรายก็ได้ ที่เรามีอารมณ์ความรู้สึกระหว่างมีความรัก มันเป็นเรื่องของเคมีในร่างกาย เป็นเรื่องของฮอร์โมน ซึ่งหากวัยรุ่นเรียนรู้ เข้าใจ และรู้เท่าทันแล้ว ก็จะเกิดความระมัดระวัง และวางแผนการปฏิบัติตัวในความสัมพันธ์ได้”


เครดิต :
เครดิต : ที่นี่ดอทคอม บันเทิงดารา


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์