สารกัมมันตรังสี คุณอนันต์...โทษมหันต์
ภัยพิบัติครั้งใหญ่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.9 ริคเตอร์ และคลื่นยักษ์สึนามิทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ฟูกูชิมา เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ เนื่องจากระบบหล่อเย็นถูกทำลาย...เกิดความหวาดวิตกไปทั่วโลก!!
กิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ให้ความรู้เกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีว่า
สารกัมมันตรังสี เป็นสารชนิดหนึ่งซึ่งตัวมันเองสามารถแผ่รังสีออกมาได้ อาจจะอยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ก็ได้ โดยรังสีที่ปลดปล่อยออกมานั้น อาจจะเป็นรังสีแอลฟา บีตา หรือแกมมา ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งปรากฏการณ์ที่มีการแผ่รังสีออกมานั้น ทางวิชาการเรียกว่า กัมมันตภาพรังสี ทั้งนี้ รังสีทั้ง 3 ชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน และมีอำนาจทะลุทะลวงต่างกันด้วย
โดยปกติการใช้งานสารกัมมันตรังสีจะแผ่รังสีอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องหาอะไรมาห่อหุ้มสารกัมมันตรังสีไว้ เวลาจะใช้งานถึงจะเอาสารกัมมันตรังสีออกมา โดยวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มขึ้นอยู่กับชนิดของรังสีที่แผ่ออกมา ถ้าเป็นรังสีแอลฟา สามารถที่จะห่อหุ้มได้ด้วยกระดาษธรรมดา ซึ่งสามารถหยุดการแผ่ของรังสีแอลฟาได้ แต่ถ้าเป็นรังสีบีตา อาจจะต้องใช้วัสดุที่มีความหนามากขึ้น อาจจะเป็นแผ่นพลาสติก แผ่นอะลูมิเนียม หากเป็นรังสีแกมมา ซึ่งมีพลังงานในการทะลุทะลวงสูงอาจจะต้องใช้เป็นวัสดุตะกั่ว หรือคอนกรีต ในการห่อหุ้มแทนเพื่อยับยั้งการแผ่ของรังสี
“อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารกัมมันตรังสี มาจากเมื่อสารกัมมันตรังสีชนิดต่าง ๆ ที่ได้รับการห่อหุ้ม ภาชนะที่บรรจุเกิดตก หรือมีการกระแทก เกิดการชำรุดขึ้น ทำให้สารกัมมันตรังสีหลุด หล่นออกมาโดยที่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ก็สามารถแผ่รังสีออกมาโดนบุคคลที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ แต่ถ้าตามปกติแล้ว จะมีการห่อหุ้มไว้เป็นอย่างดี”
ด้วยคุณสมบัติของกัมมันตภาพรังสี คือ การแผ่รังสีอยู่ตลอดเวลา
มนุษย์จึงนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านธรณีวิทยา มีการใช้ C-14 คำนวณหาอายุของวัตถุโบราณ หรืออายุของซากดึกดำบรรพ์ ด้านการแพทย์ ใช้รังสีแกมมาจากโคบอลต์–60 ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยฉายรังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง ใช้ไอโอดีน-131 ตรวจและรักษาโรคมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ ด้านเกษตรกรรม มีการใช้ธาตุกัมมันตภาพรังสีติดตามระยะเวลาการหมุนเวียนแร่ธาตุในพืช โดยเริ่มต้นจากการดูดซึมที่รากจนกระทั่งถึงการคายออกที่ใบ หรือใช้ศึกษาความต้องการแร่ธาตุของพืช ทางอุตสาหกรรม ใช้รังสีแกมมาและรังสีเอ็กซ์ ตรวจหารอยรั่วของท่อแก๊สใต้พื้น ใช้ในการ
วัดความหนาของวัตถุที่เป็นแผ่น
จึงกลายเป็นที่มาของคำถามที่ว่า การนำสารกัมมันตรังสีมาใช้ถือว่าอันตรายหรือไม่
ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี กล่าวว่า ตรงนี้เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน คือ มีทั้งประโยชน์และโทษ ลักษณะเดียวกับไฟฟ้า ที่รู้กันดีอยู่แล้วถึงประโยชน์ของไฟฟ้า หากมีการใช้งานอย่างถูกวิธี แต่ถ้าเอามือไปแหย่เล่น หรือใช้งานแบบผิดวิธี ก็สามารถเกิดอันตรายเสียชีวิตได้ สารกัมมันตรังสีก็ เช่นเดียวกัน มีประโยชน์ แต่ถ้าใช้งานไม่ถูกต้องก็มีอันตราย เกิดโทษได้เช่นกัน
การได้รับสารกัมมันตรังสีของคน มีอยู่ 2 แบบ คือ ได้รับนอกร่างกายจากการแผ่รังสี คือ มีสารกัมมันตรังสีวางอยู่แล้วแผ่รังสีมาโดนเรา ไม่ว่าจะเป็นรังสีอะไรก็แล้วแต่ที่แผ่ออกมา อาจจะเป็นรังสีแกมมา บีตา หรือแอลฟา อย่างนี้เรียกว่า การได้รับรังสีเมื่อต้นกำเนิดรังสีอยู่นอกร่างกายแล้วแผ่รังสีมาโดนเรา อีกประเภทหนึ่ง การได้รับวัตถุหรือสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะจากการทานเข้าไป หรือการหายใจ หรือแม้กระทั่งการซึมเข้าไปตามผิวหนัง
เมื่อได้รับสารกัมมันตรังสีไม่ว่าจะเป็นภายนอกร่างกายหรือเข้าสู่ร่างกาย ความอันตรายขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นสารที่ได้รับว่าเป็นสารประเภทใด เพราะสารกัมมันตรังสีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป รวมทั้ง รังสีแต่ละชนิดก็มีอันตรายแตกต่างกันไปด้วย นอกจากนั้น ยังขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับด้วย ถ้าได้รับในปริมาณเล็กน้อยก็อาจจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากก็อาจเป็นอันตรายได้ เพราะมีการแผ่รังสีออกมามาก
การวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่ได้รับ มีหน่วยเป็น มิลลิซีเวิร์ต (millisievert หรือ mSv) โดยผู้ที่ทำงานทางรังสีจะมีเครื่องวัดรังสีประจำตัวบุคคลติดไว้ที่เอว เรียกว่า ฟิล์มแบดจ์ เป็นกลักสี่เหลี่ยมสีฟ้าเล็ก ๆ ภายในบรรจุฟิล์มซึ่งไวต่อรังสี เมื่อนำไปล้างออกมาแล้วจะบอกให้ทราบถึงปริมาณรังสีที่ได้รับว่ามีมากน้อยเท่าใด
รวมทั้งสามารถทำได้โดยใช้เครื่องมือในการสำรวจรังสีที่เรียกว่า เซอร์เวย์ มิเตอร์ (Survey Meter) ซึ่งจะแสดงผลทันที
โดยจะสามารถตรวจการแผ่รังสีได้ว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าเราอยู่เฉย ๆ จะไม่สามารถรู้ได้เลย เพื่อจะได้ป้องกันตนเองว่า ควรเข้าใกล้วัตถุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่มีสารกัมมันตรังสีได้มากน้อยแค่ไหน
อันตรายจากสารกัมมันตรังสีเมื่อแผ่รังสีเข้าสู่ภายนอกร่างกาย จะเข้าไปทำอันตรายเซลล์ ซึ่งเซลล์บางชนิดจะไวต่อรังสี
โดยเฉพาะเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร เซลล์ที่ผลิตเม็ดเลือด ไขกระดูก ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะไวต่อสารกัมมันตรังสีมาก ถัดมาจะเป็นเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร ฉะนั้น จะมีตัวบ่งชี้ในกรณีที่ได้รับการแผ่รังสีที่สูง คือ การตรวจเลือด โดยจะพบความผิดปกติที่เม็ดเลือด เนื่องจากรังสีจะไปทำอันตรายระบบสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูก
ในขณะที่เมื่อสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าสารกัมมันตรังสีที่เข้าสู่ร่างกายเป็นสารชนิดใด เช่น ไอโอดีน-131 เมื่อหายใจเข้าไปจะเข้าไปสู่กระแสเลือด แล้วก็จะวนไปวนมาท้ายสุดจะไปรวมกันอยู่ที่ต่อมไทรอยด์ โดยรังสีแต่ละชนิดจะชอบไม่เหมือนกัน บางชนิดจะไปที่ต่อมไทรอยด์ บางชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปที่กระดูก
ถึงอย่างไรก็ตาม ผอ.กิตติศักดิ์ ให้ความรู้ต่อว่า สารกัมมันตรังสีจะมีคุณสมบัติ โดยจะมีค่าครึ่งชีวิต
หมายความว่า อายุของรังสีจะลดลงครึ่งหนึ่งจากปริมาณเดิม เช่น สารไอโอดีน-131 มีค่าครึ่งชีวิต 8 วัน หมายความว่า ทุก ๆ 8 วัน อายุของรังสีจะหายหรือตายไปครึ่งหนึ่ง ถ้ามีไอโอดีน-131จำนวน 1 กรัม เมื่อเวลาผ่านไป 8 วัน จะเหลือไอโอดีน-131 อยู่ 0.5 กรัม เป็นดังนี้ไปเรื่อย ๆ กล่าวได้ว่า ทุก ๆ 8 วัน จะเหลือสารไอโอดีน-131 เพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม
ทั้งนี้ สารกัมมันตรังสีแต่ละชนิดมีค่าครึ่งชีวิตไม่เท่ากัน มีตั้งแต่มีค่าครึ่งชีวิตเป็นวินาที เป็นนาที เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นพัน ๆ ปี ก็มี แล้วแต่ชนิดของรังสี โดยค่าครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ มีผลเมื่อต้องการนำสารกัมมันตรังสีนั้น ๆ มาใช้งาน จำเป็นต้องเลือกด้วยว่าให้รังสีอะไร ค่าครึ่งชีวิตมากน้อยเท่าไร จะได้คำนวณได้ว่าจะใช้งานรังสีได้ในระยะเวลาเท่าไร เพียงพอกับการทำงานหรือไม่
“ที่น่าเป็นห่วง น่าจะเป็นทั้ง 2 ส่วน คือ การแผ่รังสีและการได้รับรังสีเข้าไปในร่างกาย โดยอันตรายจากรังสีมี 2 แบบ คือ ได้รับรังสีเข้าไปมาก ๆ ก็มีโอกาสเจ็บป่วยทางรังสีได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อีกกรณีหนึ่ง คือ ได้รับรังสีปริมาณไม่มากแต่ได้รับบ่อย ๆ ในระยะนาน ตรงนี้ก็มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการเป็น โรคมะเร็งได้”
การใช้งานเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีชนิดต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีการกำกับดูแล ไม่ใช่ใครจะใช้งานก็ได้ จะต้องมีการขออนุญาตในการใช้งานอย่างถูกต้อง สำหรับประเทศไทย มีการกำกับควบคุมดูแลสารกัมมันตรังสี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีหน้าที่ดูแลในส่วนนี้
โดยกำหนดให้ผู้ที่จะขอใช้ ทดลอง นำเข้า ส่งออก วัสดุเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี จะต้องมาขออนุญาตที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
ซึ่งจะมีเกณฑ์กำหนดไว้ว่า ถ้าต้องการใช้งานสารประเภทนี้จะต้องมีอะไรบ้าง อาทิ สถานที่จัดเก็บ มีบุคลากร มีเครื่องมือตรวจวัด มีหนังสือบันทึกประจำตัวบุคคล ฯลฯ ถึงจะสามารถอนุญาตให้ใช้งานสารต่าง ๆ ที่ยื่นขอได้ เมื่อได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ทางสำนักงานจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่า เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ดำเนินการไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ทางสำนักก็จะไม่อนุญาตให้ดำเนินการต่อหรือใช้สารต่อไป
“ใบอนุญาตจะมีอายุแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสารที่ยื่นขอมา ซึ่งถ้าสารที่อันตรายมากก็จะมีอายุในการอนุญาตสั้น คือ 1 ปี เมื่อครบปี หรือครบกำหนดที่ใบอนุญาตกำหนดไว้ จะต้องมายื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาต โดยทางสำนักจะดูประวัติการทำงานว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะต่ออายุให้ ถ้ามีข้อบกพร่องก็จะไม่ต่ออายุให้ ในระหว่างปีจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปทดลอง โดยถ้าพบว่า มีข้อบกพร่องก็จะแนะนำให้แก้ไขโดยทันที ถ้าทำตามที่แนะนำ ก็จะอนุญาตให้ทำต่อ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะเพิกถอนใบอนุญาต”
ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี ทิ้งท้ายว่า ขึ้นชื่อว่ารังสี ทุกคนจะกลัวไว้ก่อน มีความฝังใจ มีทัศนคติในทางลบต่อสารกัมมันตรังสี
จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วสารกัมมันตรังสีมีประโยชน์ หากนำมาใช้งานอย่างถูกต้อง โดยผู้ที่มีความรู้ ผู้ ที่มีประสบการณ์ จะทำให้การใช้งานดำเนินการไปได้อย่างปลอดภัย อันตรายที่จะเกิดขึ้นก็น้อยลง สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นภัยธรรมชาติ ที่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์ เป็นเหตุการณ์ ที่เหนือการควบคุมในด้านความปลอดภัย
ทั้งนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน ทางรังสี 08-9200-6243 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือโทรศัพท์ 0-2596-7699 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทาง www.oaep.go.th
ปริมาณรังสีกับผลกระทบต่อร่างกายองค์การสากลในการป้องกันอันตรายจากรังสี หรือ International Commission Radiological Protection (ICRP)ได้รวบรวม ปริมาณรังสีที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ไว้ดังนี้
ปริมาณรังสี อาการ
2.2 เป็นระดับรังสีปกติในธรรมชาติ ที่มนุษย์แต่ละคนได้รับใน 1 ปี
5 เกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้สาธารณชนได้รับใน 1 ปี
50 เกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีได้รับใน 1 ปี
250 ไม่ปรากฏอาการผิดปกติใด ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
500 เม็ดเลือดขาวลดลงเล็กน้อย
1,000 มีอาการคลื่นเหียน และอ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวลดลง
3,000 อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องเสีย เม็ดเลือดขาวลดลง ผมร่วง เบื่ออาหาร ตัวซีด คอแห้ง มีไข้ อายุสั้น อาจเสียชีวิตภายใน 3-6 สัปดาห์
6,000 อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วงภายใน 1-2 ชั่วโมง เม็ดเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว ผมร่วง มีไข้ อักเสบบริเวณปากและลำคออย่างรุนแรง มีเลือดออก มีโอกาสเสียชีวิตถึง 50% ภายใน 2-6 สัปดาห์
10,000 มีอาการเหมือนข้างต้น ผิวหนังพองบวม ผมร่วงเสียชีวิตภายใน 2-3 สัปดาห์