เทคนิคเลือกวิตามิน กินดีได้ กินร้ายเสีย

หลายๆ คนพอเข้าใจตัวเองว่า หน้าที่การงานรัดตัวจนเหลือเวลาดูแลสุขภาพน้อยลง

อาหารดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพก็ไม่ค่อยได้ตกถึงท้องสักเท่าไหร่ พึ่งได้ก็แต่จานด่วนๆ ยิ่งเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ร่างกายก็ยากที่จะได้สารอาหารที่ครบถ้วน จึงต้องเรียกหาอาหารเสริม วิตามินเสริม มาเป็นตัวช่วย


แต่จะเลือกอย่างไรให้เหมาะ ให้ดี นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ จะช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้เอง...

วารสารโภชนาการคลินิกอเมริกันเผยว่า วิตามินอีธรรมชาติจะซึมซับเข้าเนื้อตัวเราได้ดีกว่าวิตามินอีสังเคราะห์ถึง 2 เท่า  ซึ่งการศึกษาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า วิตามินเทียมสู้วิตามินแท้ไม่ได้ในแง่ของการดูดซึม  เพราะความลับอยู่ที่คำว่า “ครบทีม”

วิตามินธรรมชาติมีเพื่อนฝูงครบทีมคือสุดยอดปรารถนาของวิตามิน ดียิ่งกว่าวิตามินเทียมที่แยกออกมาเป็นตัวๆ  และวิตามินธรรมชาติที่ดีที่สุดก็คืออาหารสดครับ 

ส้มลูกหนึ่งไม่ได้มีแต่วิตามินซีหากแต่มีไบโอฟลาโวนอยด์ที่ช่วยดึงวิตามินซีเข้าได้ดีด้วย มะเขือเทศลูกเดียวมีวิตามินเอนับร้อยชนิด  มากกว่าวิตามินเอในอาหารเสริมยี่ห้อใดๆ

และยังอีกมากที่หากจับรวมกันเป็นทีมแล้วจะดีกว่ากินเดี่ยวให้มันออกฤทธิ์อย่างเดียวดายเหนื่อยยาก  เป็นพระเอกคนเดียวสู้กับผู้ร้ายตั้งพัน ถ้าได้พระรองสักทีมหนึ่งถึงค่อยสมน้ำสมเนื้อ เรามาดูวิตามินที่เป็นพระเอกตัวจริงกันครับ...


เทคนิคเลือกวิตามิน กินดีได้ กินร้ายเสีย


4 เทคนิคเลือกวิตามิน จาก “วิตามินโหล” ถึง “โหงวเฮ้งวิตามิน”

ปัญหา “ทางสายเกิน” ของวิตามินเป็นเรื่องใหญ่พอดูครับถึงแก่มีงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสารเลื่องชื่ออย่าง New England Journal of Medicine ว่าวิตามินอีสังเคราะห์ยิ่งทำให้เกิดเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้น 

กินก็เสี่ยง ไม่กินก็ไม่ได้ ใช้วิธี “กินๆหยุดๆ” เป็นเทคนิคที่ผมเคยให้ไว้ดีกว่าไม่ต้องอึดอัดใจว่าจะมีอะไรมาสะสมด้วย  ให้ใช้เวลาที่เราไม่แน่ใจในอาหารเสริมที่เรากินอยู่  ซึ่งปัญหาที่ดูจะพบบ่อยมีอยู่ 2 ประการหลักครับคือ 

1 เลือกไม่ถูก
2 ไม่รู้ที่เหมาะกับตัว


ปัญหาข้อแรกแก้ได้ง่ายเพราะผมได้เคยเขียนหนังสือไว้กว่ายี่สิบเล่มแล้วเกี่ยวกับการเลือกอาหารสดและอาหารเสริมครับ  หรือจะลองเสิร์ชดูด้วยชื่อผมในกูเกิลก็จะเห็นบทความที่เคยเขียนโผล่ขึ้นมา 

ทีนี้ก็มาถึงปัญหาข้อสองที่ต้องลึกซึ้งนิดหนึ่งครับคืออาจตรวจจากเลือดว่าเราขาดวิตามิน,เกลือแร่และฮอร์โมนตัวใดก่อนที่จะไปหามากิน  เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “วิตามินเกิน” และก่อผลตรงกันข้ามให้ร่างกายยิ่งโทรมเร็ว

ทีนี้เมื่อก้าวมาถึงขั้นรู้ตัวทั่วพร้อมดีหมดแล้ว  ก็ขอพาท่านที่รักข้ามขึ้นไปอีกระดับคือการเลือกวิตามินธรรมชาติ  ซึ่งมีเทคนิกดูโหงวเฮ้งวิตามินให้เหมาะกับตัวเราอยู่ 4 ประการดังนี้ครับ...

ดูชื่อข้างฉลาก  อันเป็นชื่อวิทยาศาสตร์สากลแล้วตรวจดูกับตำราวิตามิน  หรือวิธีง่ายกว่านั้นคือดู “ราคา” ครับ  วิตามินธรรมชาติไม่ควรถูกจนเกินไป  แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่น่าแพงเกินไปเช่นกัน

ดูว่าไม่ได้ “รวมมิตร”  ส่วนใหญ่วิตามินแบบรวมหลายมิตรในเม็ดเดียวกันมักทำมาจากวิตามินสังเคราะห์ครับ

ดูการดูดซึม  โดยดูจากชื่อและนามสกุล เช่น แคลเซียม-ซิเตรท,วิตามินอี-ดีอัลฟ่าโทโคฟีรอล, โครเมียม-พิโคลิเนต ดังนี้เป็นต้น

ดูการจับคู่  ประการนี้สำคัญเพราะต้อง mix and match ให้ถูกคู่ถึงจะดูดซึมได้ดีไม่เช่นนั้นกินเข้าไปเป็นเม็ดอย่างไรก็ออกมาอย่างนั้น  ตัวอย่างเช่น วิตามินซี-ไบโอฟลาโวนอยด์(สัดส่วน 2:1), แคลเซียม-แมกนีเซียม(2:1), น้ำมันปลาอีพีเอ-ดีเอชเอ, โคคิวเท็น-วิตามินอี, ลูทีน-ซีแซนทิน  ฯลฯ

จะเห็นว่าเรื่องราคาก็เข้ามามีส่วนเหมือนกันไม่ใช่ยิ่งถูกจะดีเสมอไปอาจได้ “วิตามินโหล” ที่มีแต่แป้งกับน้ำตาลบานพะเรอก็ได้  ซึ่ง 4 ข้อนี้ก็ช่วยแก้ปัญหาไดเล็มม่าคิดไม่ตกของวิตามินได้ส่วนใหญ่แล้วครับ 

สำหรับคำถามเดิมๆว่าควรกินหรือไม่ควรกิน  ก็กราบเรียนได้เลยครับว่าได้ทั้งนั้นแล้วแต่ศรัทธา ส่วนจะยี่ห้อไหนดีก็ให้ใช้คาถาศักดิ์สิทธิ์สี่ประการเป็นหลัก แล้วพักกินอาหารสดสลับฉาก.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์