โรคหัวใจ...ภัยใกล้ตัว

โรคหัวใจ...ภัยใกล้ตัว


"โรคหัวใจ" มีความหมายกว้าง อาจเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะหมายถึง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ พบบ่อยและเป็นปัญหาในปัจจุบัน

สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดหัวใจที่มีคราบไขมันมากเกาะสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้หลอดเลือดตีบมากขึ้น และเมื่อคราบไขมันแตก ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลัน ก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบหลันตามมา ที่เรียกว่า หัวใจวาย (Heart Attack)

โรคหัวใจ ภัยเงียบที่พบบ่อยในประเทศไทย มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน สามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้แค่ปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวันให้เหมาะสม ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หากพบว่า มีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ


ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจทางการแพทย์ สรุปเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ

1.ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ ได้แก่ ผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน รวมถึงมีญาติพี่น้องสายตรงที่เป็นโรคหัวใจ

2.ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ คือ พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่นำไปสู่โรคหัวใจ ได้แก้ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะเครียด


อาการที่บ่งบอกว่า เริ่มเป็นโรคหัวใจ หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

1.เจ็บแน่นหน้าอก จะเป็นแบบแน่นๆ หนักๆ เหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณทรวงอกด้านหน้า อาจร้าวไปกราม คอ ไหล่ หรือต้นแขนซ้าย เป็นได้ทั้งขณะอยู่เฉยๆ หรือเวลาออกกำลังกาย หรือมีภาวะตึงเครียด ส่วนอาการเจ็บแปล๊บๆ ที่หน้าอก หายใจไม่ออก มักเป็นจากสาเหตุอื่น

2.เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตนเองเคยทำเป็นประจำ เช่น ต้องพักขณะเดินขึ้นสะพานลอย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็น

3.วูบ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เป็นอาการสำคัญที่บ่งชี้ว่า อาจเป็นโรคหัวใจ โรคทางสมอง หรือโรคอื่นๆ และควรตรวจเพิ่มเติมต่อ

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการเลยก็เป็นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะเส้นประสาทรับรู้เสื่อมลง ทำให้ความรู้สึกเจ็บน้อยลง จึงไม่ควรประมาท หมั่นดูแลและเช็คสุขภาพเป็นระยะ เพื่อการสืบค้นโรคหัวใจแต่เนิ่นๆ


การตรวจค้นหาโรคหัวใจที่ซ่อนอยู่

การตรวจวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจที่มีคราบไขมัน และหินปูน เกาะที่ผนังหลอดเลือด เดิมต้องใช้สายสวนเข้าไปที่หลอดเลือดแดง แล้วฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ แต่ปัจจุบัน สามารถตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ และคราบหินปูนที่ผนังเส้นเลือดหัวใจ โดยใช่เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง CT Scan ซึ่งไม่ต้องใส่สายสวนในหลอดเลือดเหมือนในอดีต และวิธีนี้สามารถเห็นหลอดเลือดหัวใจได้แล้ว และมีความแม่นยำค่อนข้างสูง

วิธีหนึ่งที่มีความแม่นยำสูงและง่ายที่สุดในการวินิจฉัยภาวะโรคหัวใจ นั่นคือ การตรวจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง หรือ ทางการแพทย์ เรียกว่า Echocardiography เรียกสั้นๆ ว่า Echo ซึ่งก็คือการอัลตร้าซาวด์ของหัวใจนั่นเอง เป็นการตรวจสภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงลิ้นหัวใจ วิธีการตรวจก็ง่าย เพียงนอนเฉยๆ ไม่ต้องออกแรง ไม่เจ็บปวด เป็นวิธีที่ใช้ตรวจสำหรับผู้ป่วยที่เดินไม่ได้ ในบางรายอาจให้ยากระตุ้นการเต้นของหัวใจควบคู่ไปกับการตรวจ คลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อดูการตอบสนองของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรคหัวใจในขั้นตอนต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์