สุขภาพจะดีได้ส่วนหนึ่งก็เพราะอาหารที่กินเข้าไป ซึ่งไม่ใช่แค่ที่เป็นของดี ของสด ของปลอดสารพิษ การจะให้ร่างกายได้รับคุณค่าจากอาหารสูงสุดยังต้องรู้ว่า อาหารเหล่านั้นควรกินตอนร้อนหรือเย็น นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างกระจ่าง
ผู้ใหญ่สมัยก่อนมักขอให้เลือกอาหารสดใหม่กินกัน ยิ่งถ้าเป็นของร้อนได้จะดี เพราะมีกระสายแห่งความสดสะอาดอยู่ ดูทุกวัฒนธรรมต่างก็มีของร้อนที่เป็นจานเด็ดของตัว อย่างจีนก็มีบะหมี่ข้ามสะพานที่โรยหน้าด้วยฝ้าน้ำมันหนาแต่ว่าน้ำซุปข้างใต้ นั้นร้อนระอุขนาดลวกเนื้อสุกได้ ส่วนญี่ปุ่นก็มีต้มชาบูและสุกี้ที่คนไทยชอบหนักหนา ส่วนบ้านเรานอกจากอาหารร้อนอย่างต้มยำ,แกงส้ม,ต้มโคล้งแล้วยังมีประเพณีกิน ร้อนที่พิเศษไม่เหมือนใครด้วย
อย่างท่านใดที่เคยไปโคราชคงไม่พลาดชิม “ผัดหมี่โคราช” ที่เลื่องชื่อ แต่คนสมัยก่อนนั้นมีวิธีกินที่สนุกไปด้วยนั่นคือต้องหยิบฉวยเอาตอนร้อนจัด ผัดอยู่ในกระทะใบบัวแล้วก็รีบเอามาเป่ากินในมือนั่นแหละครับ ถือเป็นเรื่องสนุกกันในหมู่หนุ่มๆ เลยมีชื่อเล่นว่า “หมี่โจร”
ซึ่งโจร(สมัครเล่น)ทั้งหลายก็คงโดน “ลวก” กันไปไม่มากก็น้อยทั้ง ปากพอง มือพอง แต่ก็ต้องเล่นกันเพราะมันสนุก ซึ่งความสุขจากของร้อนนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่รู้สึกว่าการกินของสด ใหม่คงไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่จะใช่เช่นนั้นเสมอไปหรือไม่ มาช่วยกันดูให้ “รู้ร้อน” กันครับ
กินเย็น กินร้อน กินตอนไหนไร้โรค
"กินร้อนดี"
เนื้อแดง มีแรงเยอะให้พลังงานดีแต่ถ้ามีเข้าไปมากก็จะกลายเป็นแกล้งลำไส้ให้ย่อยยาก แต่ถ้าได้ผ่านความร้อน กินสุกสักหน่อยก็จะช่วยย่อยให้ง่ายเข้า แต่อย่าเอาให้ติดร้อนนานไปไม่ว่าปิ้ง,ย่าง,นึ่ง,ต้ม เพราะจะล้นไปด้วย “ธาตุมะเร็ง” ได้ครับ
มะเขือเทศ มีเหตุให้ชอบความรุนแรงเพราะยิ่งถูกคั้น,บด,บี้,ขยี้จะยิ่งมีของดีต้าน แก่(ไลโคพีน)ออกมากขึ้น หรือจะผ่านความร้อนก็ไม่ทำให้ของดีหายน่าเสียดายแต่อย่างใด ใช้เอามาทำเมนูอย่างน้ำพริกอ่อง,น้ำเงี้ยว,ข้าวผัดหรือซอสราดสปาเก็ตตี้ก็ดีไม่น้อย
กุ้ง,หอย,ปลาน้ำจืด ต้องผ่านร้อนจนสุกดีเพราะจะมีพยาธิและอาจมีเชื้อร้ายถึงขนาดไส้เน่าได้ การใช้แค่กรดเปรี้ยวจากมะนาวคงไม่สามารถไล่เชื้อได้ ผิดกับในกรณีปลาดิบญี่ปุ่นที่กินแกล้ม “วาซาบิ” เป็นของไล่พยาธิชั้นดีทำให้ไม่ค่อยเจ็บป่วยจากพิษปนเปื้อนนัก
เนื้อไก่และไข่ จะได้ “ซัลโมเนลล่า” เป็นเชื้อน่ากลัวเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ไส้เน่า เคยเกิดเรื่องเช่นนี้ในต่างประเทศเป็นเหตุให้ถึงกับต้องปิดฟาร์ม นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์จากไข่และไก่ไม่ว่าจะเป็นน้ำสลัด,ครีม,มายองเนสใส่ไข่แดงก็มีสิทธิ์ปนเปื้อนได้
ชาเขียวและกาแฟ เป็นของต้องกินร้อนถึงจะได้ “ธาตุดี” ออกมาบำรุง จะเป็นถุงสำเร็จมาหรือว่าชงใบชาเองก็ช่วยเร่งให้ธาตุดีออกมาได้ถ้าใช้ร้อนเข้าช่วย ดังจะสังเกตได้ว่าถ้าแช่นานก็จะ “เข้ม” ขึ้น ดังที่ว่ามีรสชาติ “แก่” ถ้าไม่อยากตาค้างก็แค่แช่น้ำร้อนพอสังเขปก็ได้ครับ
"กินเย็นดี"
เนื้อปลาทะเล กินแบบปลาดิบญี่ปุ่นก็ไม่วุ่นดี หรือถ้าไม่ชินดิบก็ขอให้กินแบบผ่านความร้อนก็ยังอร่อย จะเป็นแป๊ะซะหรือนึ่งธรรมดาก็ได้ แต่ถ้าให้ดีก็สลับไปกับซาซิมิ “กินดิบ” แบบญี่ปุ่นจะได้น้ำมันปลาสดๆดีครับ สำหรับเชื้อถ้าเป็นปลาสดและทำสะอาดก็กันเชื้อได้มากครับ
ผักเขียว ถ้ากินเย็นได้บ้างก็จะดีคือกินผักสดจิ้มน้ำพริก การกินเย็นแบบไม่ปรุงจะมุ่งช่วยรักษาวิตามินบีและซีที่ใจเสาะกับความร้อน ไว้ ขอให้กินกับน้ำสลัดใสที่มีน้ำมันนิดได้จะช่วยละลายวิตามินให้กินง่ายเข้าด้วย ช่วยให้วิตามินในผักนั้นซึมเข้าตัวเราได้ดีกว่ากินแต่ผักสดเพียวๆเป็นไหนๆ
แฮม,เนื้อ รมควัน,เบคอน,หมูแดดเดียว กินแล้วเพลินเกินเบรกใจ ไม่นานหมดห่อ ก็ขอบอกว่าถ้าจะต้องกินขอให้เลือกชนิดที่ “ไม่แดงสด” กับ “ไม่ผ่านร้อนจัด” เพราะสีแดงที่แต่งแต้มนั้นจะแปลงร่างเป็น “ธาตุมะเร็ง” ได้ถ้ายิ่งโดนความร้อนจัด
อาหารจานเย็น(Cold dish)ที่ทำจากเนื้อไก่,แฮมหรือแกะนี้ถ้าจะกินเย็นขอให้เป็นเย็นจัด ไม่ใช่เย็นจากการที่ตั้งทิ้งไว้ข้างนอกนาน ถ้ากินเย็นขอให้เย็นจัดเพิ่งออกจากตู้แช่ ไม่ใช่แค่เย็นเยือกๆพอเชื้อสะดุ้งเท่านั้น นอกจากนั้นเครื่องประกอบเมนูเย็นเหล่านี้ก็ต้องดูให้ดีครับทั้งผักสดและโดย เฉพาะ “หัวหอม”
น้ำผลไม้และขนมปัง บางท่านอาจว่าใครจะอุตริเอาไปกินร้อน ซึ่งจริงอยู่ครับแต่สำหรับสองอย่างนี้ต้องดูให้ดีเพราะแค่มีแสงไฟหรือแสงแดด ตามห้างก็ทำให้วิตามินเสียไปได้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบี ถ้าให้ดีไม่ควรปิ้งขนมปังนานและถ้าทานน้ำผลไม้ไม่หมดขอให้เก็บในกล่องทึบมิดชิดไว้ในตู้เย็นครับ
ความไวต่อร้อนของอาหารนี้มีต่างกันออกไป ไม่ใช่ว่าร้อนแล้วต้องดีเสมอ เผลอๆอาจกลายเป็นเพิ่มพิษร้ายต่อกายด้วย เป็นต้นว่าคนจีนและคนญี่ปุ่นที่จิบชาร้อนจัดแบบลวกปากได้ นานไปก็จะได้มะเร็งช่องปากลากยาวไปถึงมะเร็งหลอดอาหารได้มากกว่าชาติอื่น แต่ก็ไม่ต้องตื่นเต้นไปในท่านที่ไม่ได้ดื่มทุกวันวันละสามมื้อ
ซึ่งเมื่อดูให้ดีแล้วก็คือ “กาลเทศะ” แห่งการกินนั่นเองครับ โภชนาจะดีได้ก็ต้องได้จังหวะที่ถูกทั้งเวลา,อาหารและตัวคนบริโภคด้วย ถ้าจะช่วยให้ง่ายขึ้นก็คือท่องไว้ว่ากินให้หลากหลายเข้าไว้ครับ ได้ความรู้เกี่ยวกับอาหารการกินไปอย่างนี้ นำไปใช้เป็นเคล็ดลับในการเลือกวิธีปรุงอาหารได้สุขภาพแบบสบายๆ.