เลเซอร์ดวงตาให้ชัดแจ๋ว

เลเซอร์ดวงตาให้ชัดแจ๋ว


          การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วยเลเซอร์ทำให้คุณไม่ต้องพึ่งแว่นตา อีกต่อไปจริงหรือ มาหาคำตอบ พร้อมกับวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้กัน

        คุณทำแว่นหายหรือไม่ก็ทำคอนเทกซ์เลนซ์หล่นหายบนพื้นห้องน้ำเป็นประจำ หรือไม่ก็ต้องใช้สายตาเพ่งมองสายรถเมล์จนตาแทบเหล่ เหตุผลเพราะไม่ชอบสวมแว่นในที่สาธารณะ ถ้าเป็นอย่างนั้น การทำเลเซอร์ตาก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ในแต่ละปีมีคนประมาณ 7 หมื่นในอังกฤษที่ใช้เลเซอร์ช่วยแก้ไขความผิดปกติของสายตา ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
วิธีดังกล่าวกลายเป็นกระแสหลักในการรักษาความผิดปกติของสายตา ว่าแต่มันเหมาะกับคุณหรือเปล่า

   ใครกันที่เหมาะจะทำเลเซอร์  
        ถ้าคุณป่วยเป็นเบาหวานที่คุมไม่ได้ (uncontrolled diabetes) มีความบกพร่องเกี่ยวกับระบบประสาท หรือเป็นโรคตาแห้งเรื้อรัง คุณลืมวิธีเลเซอร์ไปได้เลย แต่ถ้าคุณสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง และได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์ต่อเนื่อง จึงทำให้สายตาคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นเช่นนี้เลเซอร์ช่วยคุณได้

        ก่อนรักษาด้วยวิธีเลเซอร์ จักษุแพทย์จะวัดพื้นผิวตาและสแกนดูรายละเอียดต่างๆ ของตาเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเหมาะจะทำเลเซอร์

        การรักษามีหลากหลายขึ้นกับแต่ละคน แต่โดยมากจักษุแพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดด้วยเลเซอร์กับคนที่มีกำลังการมองเห็น ของแว่นตาระหว่าง +2 และ -8 ไดออปเตอร์ แต่การผ่าตัดด้วยเลเซอร์จะได้ผลดีที่สุด ถ้ากำลังการมองเห็นอยู่ที่ระหว่าง -1/2 ถึง -6

        “ไม่ว่าคลินิกแพทย์จะบอกอะไรกับคุณ จำไว้ว่าการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ให้ผลดีในกรณีที่ความผิดปกติของสายตาที่ต้อง แก้ไขมีไม่มาก” ศจ.จอห์น มาร์แชล ฟรอส ศาสตราจารย์ด้านการรักษาโรคเกี่ยวกับตาแห่งโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอนกล่าว

  
ประสิทธิภาพดีแค่ไหน  
         การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วยเลเซอร์มีให้เลือกหลายวิธี ซึ่งจะไปแก้ไขรูปร่างของกระจกตา (เป็นเลนส์แข็งที่อยู่ด้านหน้าของตา) ปัญหาสายตาเกิดจากการที่กระจกตามีรูปร่างผิดเพี้ยน ทำให้แสงไม่สามารถตกลงบนเรตินาที่ด้านหลังตา ทำให้ไม่สามารถโฟกัสภาพให้ชัดเจน มองเห็นรางๆ เลเซอร์จะแก้ไขรูปร่างของกระจกตาด้วยการตัดเนื้อเยื่อออกจากตา แต่จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับลักษณะของกระจกตา

       • PRK (Photorefractive Keratectomy) นี่เป็นเทคนิคดั้งเดิม การเลเซอร์ด้วยวิธีนี้เจ็บกว่าวิธีอื่น เป็นการใช้เลเซอร์ฉายลงไปตรงกลางกระจกตา หลังขูดผิวกระจกตาออก เนื้อกระจกตาจะถูกตัดหายไป ทำให้ความโค้งของกระจกตาลดลง มีผลให้สายตากลับมาเป็นปกติ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้มีสายตาสั้นหรือยาวไม่มาก ใช้เวลาในการรักษานานกว่าวิธีเลสิก

       • LASIK (Laser Assisted In Situ Keratomileusis) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เป็นการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา เพื่อทำฝาเปิดชั้นนอก คล้ายการฝานชั้นบนสุดของไข่ต้ม หลังจากนั้นจึงฉายเลเซอร์ลงไปบนชั้นในของกระจกตาโดยตรง แล้วปิดฝากระจกตากลับลงมาที่เดิม วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวทุกขนาด ข้อดีคือไม่ต้องขูดผิวกระจกตาออกเหมือนวิธีแรก จึงไม่ก่อให้เกิดแผลถลอกเป็นวงกว้างบนกระจกตา อาการเจ็บหรือระคายเคืองตาหลังการรักษาจะน้อยกว่า และแผลจะหายเร็วกว่าวิธีแรก

       • LASEK (Laser Epithelial Keramileusis) เป็นเทคนิคล่าสุดที่มาแทนการแยกชั้นกระจกตาอย่าง LASIK เป็นการยิงเลเซอร์ที่ไม่ต้องแยกชั้นกระจกตา โดยใช้แอลกอฮอล์ช่วยในการลอกผิวกระจกตาออก ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถขูดผิวกระจกตาลอกออกมาเป็นแผ่นบางๆ ได้ง่ายขึ้นโดยเมื่อยิงเลเซอร์เสร็จสามารถปิดผิวกระจกตาที่ลอกเป็นแผ่นไว้ นั้นกลับไปได้ จากนั้นแพทย์มักให้ผู้ป่วยใส่คอนแท็กเลนส์หลังผ่าตัดประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากจะมีอาการระคายเคืองจากแผลที่กระจกตา ต้องรอจนผิวกระจกตาสมานดีแล้วจึงถอดคอนแท็กเลนส์ออก LASEK เหมาะสำหรับการแก้ไขค่าสายตาระดับต่ำ (-4 ไดออปเตอร์หรือต่ำกว่า)

                             “ไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
                       การผ่าตัดด้วยการเลเซอร์ช่วยแก้ปัญหาความผิดปกติดังกล่าวได้”


   เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด   

         เทคโนโลยี Wavefront เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรักษาค่าสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาค่าสายตาผิดปกติได้อย่างแม่นยำ มากขึ้น เทคโนโลยี Wavefront จะใช้หลักการในการใช้แสงความยาวคลื่นเดียวไปกระทบที่พื้นผิวของกระจกตาทะลุ ผ่านไปยังส่วนหลังของลูกตาและสะท้อนกลับจากบริเวณเรตินาออกสู่ภายนอก ค่าของแสงที่สะท้อนกลับออกมาจะถูกนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ ทำให้แพทย์สามารถสร้างแผนที่ลูกตาได้ ทำให้การรักษาด้วยวิธี LASIK และ LASEK แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อคุณภาพในการมองเห็นที่ดีขึ้น

          Wavefront กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากนำไปสู่วิธีแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วยการศัลยกรรมที่เรียกว่า super-sight อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนเรื่องนี้ เดวิด การ์ทรี้ แพทย์ศัลยกรรมแห่งโรงพยาบาลมัวร์ฟิลด์อาย (Moorfields Eye Hospital) ในลอนดอน และเป็นคนแรกที่ใช้วิธี Wavefront รักษาผู้มีสายตาสั้นในอังกฤษเตือนว่า แม้ Wavefront ให้ผลทดสอบการมองเห็นที่เที่ยงตรงแม่นยำ แต่ก็ขึ้นกับคุณภาพของเลเซอร์และการผันแปรในการรักษา Wavefront อาจไม่ทำให้การมองเห็นของคุณชัดแจ๋วก็ได้

       ผลกระทบในระยะยาว
         แม้ขั้นตอนการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ใช้เวลาเล็กน้อยในการรักษา แต่ผลกระทบในระยะยาวยังเป็นที่ตั้งคำถาม “ผลการศึกษาชี้ว่าการรักษาด้วยวิธี PRK และ LASEK จะทำให้สายตาคงที่ ขณะที่ LASIK ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน” ศจ.จอห์น มาร์แชล แห่งโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน กล่าว “PRK และ LASEK ใช้แค่การขูดผิวกระจกตา แต่ LASIK เป็นการตัดผ่านความหนาของตาถึง 1/3 เราจึงไม่แน่ใจว่าจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของลูกตาหรือไม่”

         แต่ เดวิด การ์ทรี้ เชื่อว่า ตราบที่คนเรายังทำตามคำแนะนำที่แพทย์สั่ง อย่าใช้วิธีผ่าตัดที่ต้องมีการตัดเนื้อเยื่อออกไปเป็นจำนวนมาก ก็จะไม่น่าจะมีปัญหาตามมาในอนาคต “หากคุณเข้ารับการผ่าตัดและมีแผลเป็นหลงเหลือ แผลเป็นนั้นอาจจะหายไปเองหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่หาย ก็อาจจะกลับมากำเริบได้ภายในเวลา 10 ปี” เขากล่าว “ไม่มีใครการันตีได้ว่าภายใน 10 ปีนับจากนี้ สายตาของคุณจะไม่กลับมามีปัญหาอีก แต่สำหรับผมคงทึ่งมาก ถ้าการรักษาด้วยเลเซอร์ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว”

     ข้อดี     

       สะดวก
ส่วน มากคนสายตาสั้นจะเริ่มสวมแว่นในช่วงต้นวัยรุ่น ดังนั้นช่วง 2-3 ปีแรกให้สวมแว่นหรือใส่คอนแทกเลนส์ดีกว่า นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของตาเสื่อมลง นั่นหมายความว่าเมื่ออายุเข้าสู่วัย 40 ตอนกลาง คุณต้องการแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือและแว่นตาสำหรับมองไกล

“ตาของคุณ จะแห้งลงเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นการใส่คอนแทกเลนส์จะก่อให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่คนในวัย 50 จะใส่คอนแทกเลนส์ แต่ต้องสวมแว่น” เดวิด การ์ทรี้ อธิบาย

“นั่นหมายความว่าคนวัย 50 จำเป็นต้องมีแว่นตา 2 อัน และบ่อยครั้งที่พวกเขาหันไปพึ่งการผ่าตัด เพื่อให้เหลือแค่แว่นตาสำหรับอ่านหนังสือเพียงอันเดียว”

สำหรับคนที่ สายตาสั้นไม่มาก มีวิธีรักษาที่เรียกว่า โมโนวิชั่น (monovision) นั่นหมายความว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องมีแว่นตาสองอัน “ในระหว่างผ่าตัด เราจะไม่แก้ไขสายตาสั้นให้ตาทั้งสองข้าง ทั้งนี้เพื่อให้ตาข้างหนึ่งสามารถมองไกลและอีกข้างสำหรับอ่านหนังสือ” เดวิด คาร์ทไรท์ ผู้อำนวยการด้านบริการของบู๊ทส์ออฟติเชี่ยน (Boots Optician) กล่าว

“คนส่วนมากจะไม่รู้เลยว่าตาข้างไหนเป็นแบบไหน เราให้คนไข้ลองสวมคอนแท็กเลนส์สัก 2-3 สัปดาห์ เพื่อดูผล ซึ่งพวกเขาจะรู้ว่ามันได้ผลกับพวกเขาหรือไม่”

       รวดเร็ว ไม่เจ็บ
เทคนิค ล่าสุดในการแก้ไขความผิดปกติของสายตามีความรวดเร็วและไม่เจ็บ “คนส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น” เดวิด คาร์ทไรท์ บอก ในระหว่างผ่าตัดด้วยเลเซอร์ คุณจะไม่รู้สึกเจ็บ แม้บางครั้งอาจรู้สึกไม่สบายบ้าง คนไข้บางคนบอกว่าสายตาของเขาดีขึ้นเกือบจะในทันที และการมองเห็นจะดีขึ้นอย่างชัดเจนในวันรุ่งขึ้น

        ฟื้นตัวเร็ว
ระยะ เวลาในการรักษาตัวแตกต่างกัน สำหรับคนที่ทำ LASIK เพียงแค่สวมเกราะครอบตาหนึ่งคืนหลังออกจากคลินิก เพื่อป้องกันไม่ให้ขยี้ตา และใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะนาน 2-3 สัปดาห์ LASEK และ PRK ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า คนไข้ต้องใส่ซอฟท์คอนแทกเลนส์ เพื่อป้องกันขณะรักษาตัว

        การแก้ไขระยะยาว
เมื่อ การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ผ่านไปอย่างราบรื่น ผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจ “ตาจะเข้าที่เป็นปกติหลังผ่านไป 1 เดือน สายตาจะคงที่” เดวิด คาร์ทไรท์กล่าว “คนที่สวมแว่นตาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจะขาดแว่นไม่ได้ LASIK เป็นวิธีแก้ไขความผิดปกติของสายตาแบบถาวร หากใช้กับคนเหมาะสม ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงชีวิต”

                          “การรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า monovision
                       ซึ่งทำให้คุณไม่จำเป็นต้องสวมแว่นสองเลนส์อีก”


     ข้อเสีย     

       ไม่รับรองความชัด แจ๋ว
“สิ่งสำคัญที่คนคาดหวังคือหลังแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์แล้ว การมองเห็นจะชัดแจ๋ว แต่นั่นอาจทำให้คุณผิดหวังได้” เดวิด การ์ทรี้ กล่าว

หาก การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น คุณอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง ประมาณ 5% ของคนไข้ที่ต้องกลับมาแก้ไขสายตาใหม่ “เราไม่ต้องการทำให้คนสายตาสั้นมีสายตายาว เราจะแก้ไขสายตาโดยปรับสายตาให้สั้นน้อยลงอีกเล็กน้อย ถ้ายังชัดไม่พอ เราจะผ่าตัดซ้ำให้อีก โดยที่คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด” เดวิด คาร์ทไรท์ อธิบาย

       ยังต้องพึ่งแว่นตา
การ ผ่าตัดสายตาด้วยเลเซอร์โดยเฉพาะในรายที่มีอายุ 40 และ 50 ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถโยนแว่นตาทิ้งลงขยะได้ “เราจะไม่ใช้การรักษาด้วยเลเซอร์กับคนที่มีสายตาเป็นปกติมาตลอดชีวิต แต่ต้องมาใส่แว่นอ่านหนังสือตอนอายุเข้าเลข 4 คนเหล่านี้ไม่เหมาะกับวิธีนี้ เพราะจะไปทำลายการมองเห็นระยะไกล” เดวิด การ์ทรี้กล่าว

       ราคาแพง
การ แก้ไขสายตาให้ดีขึ้นด้วยเลเซอร์มีราคาสูงประมาณ 30,000 – 60,000 บาท ขึ้นกับตา 1 ข้างหรือ 2 ข้าง เลเซอร์ยังเหมาะกับคนที่มีปัญหาในการใส่แว่นตาเช่น เป็นโรคพาร์กินสัน หรือเป็นโรคในกลุ่มทำลายเซลล์ประสาทที่ควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ของกล้ามเนื้อในร่างกาย (Motor Neurone disease)

       ผลข้างเคียง
ผล ข้างเคียงมีหลากหลายตั้งแต่ตาแห้งไปจนถึงตาฟาง ตามัว มองเห็นภาพเบลอๆ “ประมาณ 30% ของคนไข้จะรู้สึกตาแห้งและเคืองตาเหมือนมีผงเข้าตาหลังผ่าตัดเสร็จ แต่อาการดังกล่าวจะหายไปเองภายในหนึ่งเดือน” เดวิด การ์ทรี้กล่าว

        “ความบกพร่องอีกประการคือปัญหาเทคนิคในการผ่าตัด หากการผ่าตัดไม่เรียบร้อยหรือแม่นยำเพียงพอ หรือมีอะไรผิดปกติที่เครื่องมือผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,000 คน แต่ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดใด ล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แทบทั้งสิ้น”

    เพื่อให้การรักษาได้ผลเป็นเลิศ

     •
ขอรับคำแนะนำจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
     • อย่าตัดสินใจเลือกคลินิกเลเซอร์ตามคำโฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเพียงอย่างเดียว
     • ไป คลินิกที่ให้บริการพร้อมคุยกับจักษุแพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัด ในบางคลินิกคุณจะไม่ได้พบแพทย์จนกว่าจะผ่าตัด ระวัง...นี่คือข่าวร้าย เพราะคุณอาจเจอปัญหาตามมาได้
     • อย่าอายที่จะตั้งคำถาม ถามแพทย์ผู้ผ่าตัดว่าเขาเคยผ่าตัดคนไข้มากี่รายแล้ว แล้วพบปัญหายุ่งยากบ้างไหม
     • อย่าสร้างความกดดันให้ตัวเองในการตัดสินใจ อย่าไขว้เขว้ไปกับคำยุยงส่งเสริมที่ให้คุณควรผ่าตัดในวันนั้นวันนี้
     •
ทำตามข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังการผ่าตัดที่คลินิกแนะนำ
     •
หากมีอาการผิดปกติหลังผ่าตัด ควรไปพบแพทย์ทันที เดวิด การ์ทรี้แนะ “มีปัญหามากมายที่แก้ไขได้ง่าย ควรเปิดโอกาสให้แพทย์ได้ลงมือแก้ไข”




ที่มา ... Health Plus

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์