อุ่นอาหารสยบเชื้อโรคได้ผล
ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อครัว-แม่ครัวมือฉมัง หรือเป็นพ่อบ้าน-แม่บ้านอาหารถุง เมื่อปรุงหรือซื้ออาหารมาแล้วรับประทานไม่หมด บางบ้านก็ไม่ทิ้งให้เสียของเพราะยึดหลักประหยัด เหตุนี้จึงต้องเข้าใจเคล็ดลับเก็บและอุ่นให้อาหารเหมือนปรุงเสร็จใหม่ๆ อร่อยปลอดโรค
สำหรับการเก็บอาหารที่รับประทานไม่หมดเอาไว้รับประทานในมื้อหน้า ไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะจะเปิดโอกาสให้เชื้อโรคปนเปื้อนผสมลงไปกับอาหาร ทางที่ดีควรเก็บใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิด หรือเก็บใส่ตู้กับข้าว หากเป็นอาหารที่เสียง่ายควรนำเข้า ตู้เย็น แช่ไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ระยะเวลาในการเก็บไม่ควรนานเกิน 3 วัน หรือ จนกว่าอาหารเริ่มมีลักษณะหรือกลิ่นที่เปลี่ยนไป
เมื่อถึงเวลานำอาหารเหล่านั้นกลับมารับประทาน ขั้นตอนในการอุ่นอาหารเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจและทำให้ถูกต้องเพื่อฆ่าเชื้อโรค ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการรับประทานอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย เพราะอาหารเป็นพิษ
ครัวบ้านไหนพึ่งการอุ่นอาหารด้วยเตาแก๊สเป็นหลัก เมื่อเทใส่ในหม้อหรือกระทะแล้ว ตั้งไฟให้ร้อนจัด อุณหภูมิความร้อนควรอยู่ระหว่าง 60-70 องศาเซลเซียส หรือให้อาหารร้อนจนเดือด ระหว่างอุ่นต้องคนคลุกเคล้าอาหารเพื่อให้ความร้อนกระจายได้ทั่วถึง อุ่นให้นานราว 15นาที
ขณะที่ครัวไฮเทคมีเตาอบไมโครเวฟเป็นตัวช่วย แม้จะเร็วและไม่ทำให้คนทำต้องยืนร้อนอยู่หน้าเตา แต่ไมโครเวฟมีข้อด้อยกว่าเตาแก๊สตรงที่ระหว่างอุ่นอาหารไม่สามารถคลุกเคล้าได้ จึงทำให้อาหารมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน โมเลกุลคลื่นไมโครเวฟก็ลงลึกได้เพียง 1-2นิ้วเท่านั้น หากสังเกตดีๆ อาหารที่อุ่นด้วยไมโครเวฟแบบรีบๆ จะสุกหรือร้อนไม่เท่ากัน
วิธีแก้ไขไม่ยาก คือ อาหารที่จะอุ่นต้องใส่ในภาชนะหรือฝาครอบสำหรับไมโครเวฟโดยเฉพาะอาหารทิ้งมีชิ้นใหญ่หรือหนาให้วางไว้บริเวณขอบฐานรองหมุ่น เพราะจะถูกคลื่นความร้อนมากกว่าวางตรงกลาง ไม่ควรตั้งเวลาอุ่นให้นานแบบทีเดียวเสร็จ ควรแบ่งตั้งเป็นช่วงๆ เพื่อหยุดนำอาหารออกมาคนให้ความร้อนกระจายไปได้ทั่ว
อุณหภูมิของอาหารแต่ละชนิดเมื่ออุ่นในไมโครเวฟยังต้องให้ได้ความร้อนที่เหมาะสมจึงจะสยบเชื้อโรคร้ายได้ อาทิ พวกเนื้อ ปลา ไข่ ต้องตั้งอุณหภูมิ 106 องศาเฟเรนไฮต์ ส่วนไก่กับเป็ดอยู่ที่ 170-180 องศาเฟเรนไฮต์
แม้การเก็บอาหารที่เหลืออิ่มไว้รับประทานในมื้อต่อๆ ไป อาจถือว่าไม่กินทิ้งกินขว้าง แต่ในทางที่เหมาะควรนั่นคือ ปรุงหรือซื้อแต่พอกำลังกระเพาะ เพื่อให้ได้รับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จแบบสดใหม่ คุณค่าทางอาหารไม่สูญเสียไปมาก
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส.
วิชาการดอทคอม และ thaihealth