รอบรู้เรื่อง ยาแก้แพ้
ปัจจุบันอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวนมากขึ้นเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เต็มไปด้วยมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เชื้อรา ที่ปะปนอยู่ในอากาศสารเคมีที่มนุษย์ สังเคราะห์ขึ้นมาเอง ซึ่งอาจแอบแฝงอยู่ในรูปของอาหารการกิน สิ่งที่เราสัมผัส ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายของคนเราได้ทั้งสิ้น จากสาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดอาการเป็นหวัด คัดจมูก แพ้อากาศได้
ด้วยเหตุนี้ยาแก้แพ้จึงเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอัตราการใช้สูงมากในประเทศไทย แม้ยาในกลุ่มนี้จะจัดอยู่ในกลุ่มยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ดังนั้นเราจึงมาเรียนรู้ถึงประโยชน์ ข้อแนะนำ และข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้กันค่ะ
ประโยชน์ของยาแก้แพ้
1. ใช้บรรเทาอาการแพ้อากาศ บรรเทาอาการจาม น้ำมูกไหล เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) กินในตอนเช้าและก่อนนอน หรือเวลาใดเวลาหนึ่ง จะช่วยบรรเทาอาการได้และต้องกินไปเรื่อยๆ หากหยุดเมื่อใดก็จะเป็นอีก นอกจากเป็นเฉพาะฤดูใดก็กินเฉพาะช่วงฤดูนั้น
2. ใช้บรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนัง ลมพิษ ผื่นคันต่างๆ ที่นิยมใช้ คือ ฮัยดร็อกซิซีน (Hydroxyzine) ซัยโปรเฮ็ปตาดีน (Cyproheptadine) ยาซัยโปรเฮ็ปตาดีน ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบเนื่องจากมีผลกดสมอง ทำให้เด็กเตี้ยแคระแกร็นได้
3. การใช้ยาแก้แพ้ในโรคหวัดความจริงแล้ว ยาจะมีฤทธิ์ลดน้ำมูก ทำให้น้ำมูกแห้ง ช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้นเท่านั้นยังไม่มียาใดที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสอันเป็นสาเหตุของหวัด และควรใช้กรณีที่มีน้ำมูกใสเท่านั้น เมื่อน้ำมูกข้นเหนียวควรหยุดใช้ยา มิฉะนั้นอาจทำให้น้ำมูกเหนียวข้นมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะเด็กเล็ก
ข้อแนะนำ-ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้
1. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควรใช้ก่อนสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้แพ้หรือใช้ทันทีที่แพ้แล้ง
2. ยาแก้แพ้ส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ปากแห้ง จมูกแห้ง ปัสสาวะลำบาก และที่สำคัญทำให้ง่วงนอน ซึม เวลาใช้ยา นี้จึงควรระวังการขับขี่ยานยนต์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลอย่างไรก็ตาม หากกินยาชนิดนี้แล้วมีอาการง่วงนอนมาก และจำเป็นต้องทำงานอาจเลี่ยงไปใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดอาการง่วง เช่น เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine) แอสทิมิโซล (Astemizole)
3. ห้ามกินยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ กดสมอง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากันชัก
4. ในกรณีหอบหืด ซึ่งแม้จะเป็นอาการแพ้อย่างหนึ่งก็ตาม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ควรระวังการใช้ยานี้เนื่องจากเด็กมีความไวในการตอบสนองต่อยานี้มาก อาการข้างเคียงของยาอาจเกิดในทางกลับกัน คือ แทนที่เด็กจะง่วงนอน กลับนอนไม่หลับร้องไห้ กวนโยเย เด็กบางคนจะมีอากาใจสั่น ตื่นเต้นหรือถึงกับชัก ถ้าได้รับยาในขนาดสูงๆ
5. ในหญิงมีครรภ์ มักใช้ยาประเภทนี้ในรูปของยาแก้แพ้ท้อง ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรจะดีกว่า สำหรับหญิงให้นมบุตรการกินยาแก้แพ้อาจทำให้น้ำนมลดน้อยลง และยาจะขับออกทางน้ำนม จึงควรให้ลูกงดนมแม่ ดูดนมขวดชั่วคราวขณะใช้ยา
นอกจากการใช้ยาแล้ว ก็ต้องพยายามสังเกตุว่าสิ่งที่แพ้คืออะไรแล้วหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้นั้นเสียการออกกำลังกายที่เหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอทำให้จิตใจให้เบิกบานเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ดีขึ้นได้ค่ะ