เลือกซื้อบ้านหน้าฝน เคล็ดลับที่ถูกมองข้าม | ||
ฤดูิฝนใกล้เข้ามาแล้ว แต่แปลกที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบซื้อบ้านในฤดูฝน อาจเป็นเพราะความไม่สะดวกในการเดินทาง ทำให้หน้าฝนกลายเป็นโลว์ซีซันของการขายบ้านกันไปโดยปริยาย แต่ในความเป็นจริงเราต้องอยู่บ้านในฤดูฝนยาวนานถึง 5-6 เดือน ถ้าบ้านหรือโครงการไม่พร้อมรับมือ ฝนนี่แหละจะสร้างปัญหาในการอยู่อาศัยได้มากที่สุด แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบ้านเราพร้อมรับกับฤดูฝนได้เป็นอย่างดี บททดสอบจากฟ้าฝนจึงเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาในการเลือกซื้อบ้านที่ใครหลายๆคนมองข้ามไป |
เลือกซื้อบ้านหน้าฝน เคล็ดลับที่ถูกมองข้าม
เริ่มจากภายนอกโครงการ เมื่อมีฝนและน้ำท่วมจะทำให้เราได้รับรู้ว่าทำเล ที่เราเลือกจะไปอยู่นั้นสูงต่ำมากน้อยแค่ไหน พอที่จะรับกับสภาพปัญหาน้ำท่วมได้หรือไม่ ฝนตกน้ำท่วมขนาดนี้ดูด้วยตาก็รู้ว่าควรอยู่หรือไม่ควรอยู่อาศัยในทำเลนั้น นอกจากนี้ยังสามารถสำรวจพื้นที่ตั้งโครงการได้ว่า เจ้าของโครงการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมมากน้อยขนาดไหน ตั้งแต่เรื่องการถมดินเพื่อพัฒนาโครงการสูงพอหรือไม่ ไปจนถึงการวางระบบระบายน้ำในโครงการดีพอ กับการรับมือเมื่อน้ำท่วมหรือเปล่า
สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้จากฝนที่ตกลงมาต่อคุณภาพของการก่อสร้างบ้านว่ามีคุณภาพดีพอหรือไม่ ไล่กันตั้งแต่หลังคายันฝาบ้าน รวมไปถึงระบบสุขาภิบาลในบ้าน ในช่วงเวลาที่มีฝนตกลงมา หลายโครงการประสบปัญหารั่วซึมให้เห็นกันจะจะ แถมการระบายน้ำภายในบ้านยังไม่ดีพอ รวมไปถึงการเทพื้นที่ไม่ได้มาตรฐานจึงทำให้เห็นน้ำท่วมขังกันบ่อยๆ
1. ระหว่างวงกบและผนังปูนจะมีขอบยางกันน้ำรั่วเข้ามาเวลาฝนตกแรงๆ โดยปกติน้ำจะไม่รั่วเข้ามาภายในรอยต่อที่ผนังปูนฉาบกับวงกบประตู
2. หน้าต่าง เมื่อวัสดุต่างชนิดกันมาเชื่อมต่อกัน จึงไม่สามารถทำให้แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันได้ วัสดุจะมีการยืดหดตัวอยู่เสมอตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นเมื่อฝนตกแรงๆ อาจทำให้ฝนเซาะเข้าตามร่องรอยต่อระหว่างวงกบและผนัง อีกทั้งเกิดแรงดูดของอากาศจากภายในห้องในช่วงฝนตก ทำให้น้ำฝนวิ่งเข้าสู่ช่องว่างของรอยต่อได้
3. พื้นเฉลียงและระเบียง หลังฝนตกให้สังเกตดูว่าบริเวณพื้นเฉลียง และระเบียงมีน้ำเจิ่งนองหรือน้ำฝนขังเป็นแอ่งหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าพื้นผิวมีการระบายน้ำไม่ดีพอ
สาเหตุและการแก้ไขรอยรั่วซึมน้ำฝน
1. เกิดจากน้ำฝนไหลย้อนเข้าตามรอยต่อของกระเบื้องมุงหลังคา เนื่องจากกระเบื้องมุงหลังคามีรอยแตกร้าว เพราะมีเศษกิ่งไม้หรือวัสดุปลิวมาถูกหลังคา หรือปูนยาแนวที่รอยต่อสันหลังคาและครอบหลังคาร้าว รางน้ำฝนมีเศษใบไม้และขยะไปอุดตัน ทำให้น้ำฝนไหลออกจากหลังคาไม่ได้ จึงไหลย้อนเข้าไปสู่ฝ้าเพดานภายใน และฝ้าระแนงภายนอกเกิดเป็นรอยด่างน้ำขึ้น
การแก้ไข
ต้องให้ช่างซ่อมหลังคาขึ้นไปตรวจสอบหาสาเหตุ หรืออาจต้องเปิดฝ้าเพดานภายใน เพื่อตรวจหาจุดที่น้ำไหลย้อนสัมพันธ์กับส่วนหลังคาตรงจุดใด เมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงแล้วก็แก้ไขเสีย เช่น เปลี่ยนกระเบื้องที่แตกร้าว หรือซ่อมปูนยาแนวสันหลังคาและครอบข้าง (ส่วนครอบที่ต่อผนังบ้าน) หรือเก็บกวาดเศษใบไม้ที่ทำให้รางน้ำอุดตัน หลังจากการแก้ไขแล้ว ใ้ห้ทิ้งระยะรอให้ฝนตกรอบใหม่ หรือรอจนสิ้นสุดฤดูฝนเพื่อจะได้ตรวจให้มั่นใจว่าไม่มีรอยรั่วซึมเพิ่มจากรอยเดิม จึงค่อยซ่อมแซมเปลี่ยนฝ้าเพดานและทาสีให้เรียบร้อยเมื่อหมดฝน
2. เกิดจากน้ำซึมเข้ามาจากรอยร้าวที่ผนังตรงรอยต่อของวงกบผนัง ทำให้น้ำไหลซึมไปที่ฝ้าเพดานและรอยร้าวของปูนฉาบ (ถ้ามี)
การแก้ไข
ต้องซ่อมแซมรอยร้าวที่ผนังให้เรียบร้อย อาจใช้ซีแลนต์ยาแนวตามรอยร้าว แล้วทดสอบโดยดูจากที่ฝนตกลงมาแรงๆ แล้วไม่รั่วซึมอีกหรือจนสิ้นสุดฤดูฝนแล้วซ่อมแซม จากนั้นจึงค่อยซ่อมแซมฝ้าเพดาน ควรทำการซ่อมแซมในช่วงฤดูหนาว เพื่อให้ช่างทำงานได้สะดวก
สิ่งเหล่านี้สามารถตรวจสอบและแก้ไขปรับได้ในช่วงฤดูฝน แล้วอย่างนี้ใครจะว่าซื้อบ้านหน้าฝนไม่ดีไม่ได้แล้ว
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ ทูเดย์-ไกด์