ทุนที่ไม่มีวันหมด
หลังจากที่ หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้ริเริ่มบุกเบิกวัดหนองป่าพง
ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา วัดนี้ก็ค่อยๆ เติบโตกลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเหตุให้มีผู้คนหลั่งไหลมาจาริกบุญศึกษาธรรมที่วัดนี้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งมีความคิดว่า วัดหนองป่าพงควรมีมูลนิธิเหมือนอย่างวัดอื่นบ้าง เพื่อวัดจะได้มีทุนดำเนินงานอย่างมั่นคง
เมื่อลูกศิษย์นำความดังกล่าวไปปรึกษาหลวงพ่อ
ประโยคแรกที่ ท่านตอบก็คือ “อย่างนั้นก็ดีอยู่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ถูกต้อง” แล้วท่านก็ให้ความเห็นต่อว่า “ถ้าพวกท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้วคงจะไม่อด พระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่เคยมีมูลนิธิเลย ท่านก็โกนหัวปลงผมทำอะไรเหมือนพวกเรา ท่านก็ยังอยู่ได้ ท่านได้ปูทางไว้ให้แล้ว เราก็เดินตามทางของท่าน ก็น่าจะพอใจไปได้นะ”
แล้วหลวงพ่อก็สรุปว่า
“บาตรกับจีวรนี่แหละมูลนิธิที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้ให้เรา กินไม่หมดหรอก”
หลวงพ่อชาเป็นอยู่อย่างมักน้อยสันโดษมาก กุฏิของท่านแทบจะโล่งเพราะมีแต่เตียงนอนและของใช้ที่จำเป็น เช่น กระโถน ไม่มีของใช้ฟุ่มเฟือยเลยส่วนวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ญาติโยมนำมาถวายอยู่เสมอนั้น ท่านก็ส่งต่อไปให้ลูกศิษย์ตามวัดสาขาต่างๆ หมด
ท่านไม่เคยมีบัญชีเงินฝากส่วนตัว
ปัจจัยหรือเงินทำบุญที่โยมถวายนั้น ท่านก็ให้เป็นของกลางหมด “เราพอกิน พออยู่แล้ว จะมากอะไรทำไมนะกินข้าวมื้อเดียว” ท่านเคยพูดให้ฟัง บ่อยครั้งที่โยมตัดพ้อว่า เพราะได้ปวารณาถวายปัจจัยไว้ให้ท่านใช้ในกิจส่วนตัว แต่หลวงพ่อไม่เคยเรียกใช้สักที ท่านเคยปรารภกับลูกศิษย์ว่า “ยิ่งเขามาปวารณาแล้ว ผมยิ่งกลัว”
คราวหนึ่งมีผู้เอารถไปถวายหลวงพ่อ
รบเร้าให้หลวงพ่อรับให้ได้โดยขับมาจอดไว้หลังกุฏิท่าน แล้วเอากุญแจใส่ย่ามท่านไว้ แต่ปรากฏว่าหลวงพ่อไม่เคยดูรถคันนั้นเลย พอออกจากกุฏิท่านจะเดินไปทางอื่น จะไปในเมืองท่านก็ขึ้นรถคันอื่น หลังจากนั้น ๗ วัน ท่านก็เรียกโยมคนหนึ่งมาหาแล้วบอกว่า “ไปบอกเขาเอารถกลับคืนไปนะ เอามาถวายข้อย ข้อยก็รับไปแล้ว ได้บุญแล้วเดี๋ยวนี้ข้อยจะส่งคืน มันไม่ใช่ของพระ”
อีกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อจะไปวัดถ้ำแสงเพชร
ลูกศิษย์ที่มีรถส่วนตัวคันงามยี่ห้อดัง ต่างก็แย่งกันนิมนต์ให้ท่านขึ้นรถของตนที่จอดเรียงรายอยู่ที่ลานวัดให้ได้ หลวงพ่อกวาดตาดูสักครู่ ก็ชี้มือไปที่รถเก่าบุโรทั่งคันหนึ่งพร้อมกับพูดว่า “อ้า...ไปคันนั้น” เจ้าของได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจสุดขีด รีบเปิดประตูนิมนต์ให้หลวงพ่อนั่ง
ว่ากันว่า การเดินทางวันนั้นใช้เวลานานกว่าปกติ เพราะขบวนรถคันงามความเร็วสูง ต้องค่อยๆ ขับตามหลังรถโกโรโกโสไปโดยดุษณียภาพ
เรียบเรียงโดย : พระไพศาล วิสาโล