เริ่มด้วยการสู่ขอ เป็นวัฒนธรรมของว่าที่เจ้าบ่าว และว่าที่เจ้าสาวของการพูดคุยบอกกล่าวทำความตกลงแต่งงาน สำหรับวัฒนธรรมประเพณีแบบไทยๆ ไม่ใช่แค่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวรู้หรือพูดคุยกันเองแค่สองคน แต่ต้องปรึกษาบอกกล่าวผู้ใหญ่ให้รับทราบ และบางคราวท่านก็มีส่วนช่วยในการตัดสินใจด้วย ฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวจะบอกความประสงค์กับพ่อแม่ เพื่อต้องการให้มีการไปทาบทามไว้ก่อน
โดยผู้ที่รับหน้าที่มาสู่ขอทาบทามนี้ เรียกว่า “เถ้าแก่” ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ที่คนให้ความเคารพนับถือ รู้จักพ่อแม่ของทั้งฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวและว่าที่เจ้าสาวเป็นอย่างดี และรู้จักกับฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวพอควรที่จะรับรองอุปนิสัยได้ พิธีการสู่ขอนั้น เถ้าแก่จะไปพบพ่อแม่ หรือ ผู้ปกครองของฝ่ายว่าที่เจ้าสาว แล้วเจรจาสู่ขอ ฝ่ายว่าที่เจ้าสาวที่มีการคุย กับฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวก่อนแล้วเรื่องวันเวลา จะต้องจัดบ้านไว้เตรียมรับรองก่อนที่เถ้าแก่จะมาถึง การตกลงกันจะมีการพูดคุยตั้งแต่เรื่องค่าสินสอดทองหมั้น
รวมถึงการหาฤกษ์ยามวันหมั้น และ วันแต่งงาน จากนั้นเถ้าแก่เป็นผู้แจ้งข่าวแก่ฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าว หลังจากนั้นก็จะพูดคุยปรึกษาเรื่องเตรียมการทั้งหลาย เช่น การจัดขบวนขันหมาก จำนวนแขก เป็นต้น การจัดงานแต่งงานในปัจจุบันนิยมยกขันหมาก ในวันแต่งงานและมักจะจัดรวมพิธีทั้งหมดในวันเดียวให้เสร็จ
การแต่งงานแบบจัดรวมพิธีในวันเดียวกันนั้น จะเริ่มตั้งแต่เช้า พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จำนวนพระสงฆ์นั้น นิยมถือตามเคล็ดความเชื่อที่ต้องเป็นคู่คือ 8 , 10 ,12 รูป แต่เท่าที่พบเห็นบางครอบครัวหรือบางท้องถิ่นก็ไม่แน่นอนเสมอไปมี 7 – 9 รูปก็มี
ข้อนี้สุดแต่นิยม ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวจะนิมนต์รวมกันหรือแยกนิมนต์ก็ได้ ก็สุดแต่จะสะดวก แต่พิธีที่ทางราชการดำเนินการ จะนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 10 รูป จากนั้น เจ้าบ่าวและเจ้าสาวตักบาตร ถวายภัตตาหารเลี้ยงพระ และทำพิธีทางศาสนาจนเสร็จสิ้น
ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวจัดเตรียมขันหมากและเครื่องบริวารประกอบ ได้แก่ พาน หรือขันสินสอดทองหมั้น พานแหวน เตียบ ขนมมงคล ผลไม้ และต้นกล้วย ต้นอ้อย ซึ่งนิยมจัดเป็นจำนวนคู่
แห่ขันหมาก ในขบวนจะมีเถ้าแก่เดินนำเจ้าบ่าวและพ่อแม่ ตามด้วยผู้ที่ยกขันหมาก ต่อจากนั้นเป็นคนถือพานสินสอดทองหมั้น พานแหวน พานขนม ผลไม้ และต้นกล้วย ต้นอ้อย อาจมีกลองยาวและคนรำนำหน้าขบวนเพื่อสร้างสีสันให้งานก็ได้
ฝ่ายเจ้าสาวจะส่งเด็กๆ และญาติพี่น้องออกมากั้นขบวน โดยใช้สายสร้อยเงินหรือทองมากั้น ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องแจกซองซึ่งมีเงินอยู่ เพื่อผ่านประตูทองต่างๆ จนเข้าไปถึงในบ้านฝ่ายหญิง
ฝ่ายเจ้าสาวจะออกมารับขันหมาก ซึ่งเมื่อจัดวางขันหมากเรียบร้อยแล้ว จะตรวจดูสินสอด ทองหมั้น แหวน จากนั้นเถ้าแก่จะเรียกเจ้าสาวออกมา รอถึงฤกษ์จึงสวมแหวน เป็นอันเสร็จพิธีหมั้น
พิธีไหว้ผู้ใหญ่ เจ้าบ่าว เจ้าสาว จะไหว้ตามลำดับอาวุโส แล้วจึงยกพานธูปเทียนแพมอบให้ จากนั้นผู้ใหญ่ให้ของรับไหว้ ซึ่งเป็นเงินหรือของมีค่า อาจผูกข้อไม้ข้อมือด้วยก็ได้ แล้วทั้งคู่มอบผ้าไหว้ให้ผู้ใหญ่ และกราบอีกครั้ง
พิธีหลั่งน้ำสังข์ เจ้าบ่าว เจ้าสาว จุดเทียนและธูปบูชาพระ จากนั้นพ่อแม่จะพาไปนั่งที่ตั่ง โดยที่เจ้าสาวนั่งทางซ้าย เจ้าบ่าวนั่งทางขวา แล้วจากนั้นประธานคล้องพวงมาลัย เจิมหน้าผาก สวมมงคลแฝด แล้วจึงหลั่งน้ำสังข์อวยพร โดยพ่อแม่และผู้อาวุโสจะหลั่งน้ำที่ศีรษะ ถ้าทำพิธีหลั่งน้ำสังข์ในช่วงเช้า จะตามด้วยการเลี้ยงอาหารกลางวัน และมีงานฉลองในตอนเย็นของวันนั้นอีกครั้งหรือไม่มีก็ได้
พิธีปูที่นอน ผู้ที่มาปูจะต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่รักกัน มีลูกหลาน และเป็นคนดีที่น่านับถือ โดยมีของมงคลวางข้างที่นอน ได้แก่ ฟักเขียว หินบดยา แมวคราว เมื่อได้เวลาส่งตัว ผู้ใหญ่จะจูงเจ้าสาวเข้ามาให้เจ้าบ่าว แล้วให้โอวาทและอวยพร