ทำไมรถโดยสารภายใน ม.เกษตรฯ วิทยาเขตบางเขน จึงถูกเรียกว่า “รถตะลัย” และเพราะเหตุใดจึงกลายเป็นขวัญใจชาวนนทรี “เดลินิวส์ แคมปัส” จะพาไปคลายข้อสงสัยนี้กัน
ถ้าไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน น้อง ๆ คงมีโอกาสได้ขึ้น “รถตะลัย” หรืออาจได้ยินชื่อนี้จากรุ่นพี่ ๆ มาบ้าง หลายคนอาจจะสงสัยว่าย่อมาจากคำไหน และมีที่มาอย่างไร วันนี้เราจะพาไปคลายข้อสงสัยกัน
การสัญจรในยุคแรก ๆ ของนิสิต และบุคลากรส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยานกันค่ะ แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตบางเขน มีพื้นที่ถึง 846 ไร่ ประกอบด้วย 16 คณะ 2 สถาบันสมทบ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้จัดให้มีรถโดยสารสวัสดิการภายใน มก.ขึ้น ไว้ให้บริการนิสิต บุคลากร ตลอดจนผู้มาติดต่อราชการ เพื่อรองรับการสัญจร และลดปริมาณการใช้รถยนต์ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการสร้างมลภาวะที่เป็นพิษนั่นเอง โดยมีชื่อที่รู้จักกันว่า “รถมหาวิทยาลัย รถตระเวณทั่วมหาวิทยาลัย หรือ รถตะลุยมหาวิทยาลัย” แต่ด้วยคำที่ค่อนข้างยาว เรียกไปเรียกมาจึงกลายเป็น “รถตะลัย” กันไป ว่ากันว่า เกิดจากการเอาตัวหน้าคือ “ตะ” รวมกับตัวหลังคือ “ลัย” จนได้เป็นชื่อรถเก๋ ๆ ถึงปัจจุบัน
หากใครเข้าไปใน มก.จะเห็นว่า มีรถโดยสารสวัสดิการภายในหลายแบบ หลายสไตล์ รวมกว่า 20 คัน ทั้งแบบรถราง รถปรับอากาศ รถไฟฟ้า และแบบรถโดยสารปกติ สีเขียวขาว คล้ายรถเมล์มินิบัส ขนาดกะทัดรัด ด้านหน้ารถมีป้ายบอกสาย เช่น สาย 1 สาย 2 สาย 3 สาย 4 ไว้เป็นสัญลักษณ์รู้กันถึงเส้นทางเดินรถที่จะผ่านตามคณะต่าง ๆ ซึ่งคันนี้นี่เองที่เป็น “รถตะลัย” แบบดั้งเดิม โดยจะให้บริการแตกต่างตามช่วงเวลาราชการ นอกเวลาราชการ และวันหยุดราชการ ราว 06.30-21.00 น. ถ้าจะใช้บริการก็สามารถหาข้อมูลได้จากผังต้นทางของแต่ละป้าย เช่น บริเวณศาลาที่พักหกเหลี่ยม, ประตูงามวงศ์วาน 1 (อาคารจอดรถ), คณะสัตวแพทยฯ (ประตูพหลโยธิน 2) เป็นต้น นอกจากนี้ ช่วงเวลาเร่งด่วน ราว 07.30-09.30 น. และ 15.30-17.30 น. ก็จะมีรถสายเสริมพิเศษไว้บริการด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา ก็จะมีประเพณี “พาน้องขึ้นรถตะลัย” เพื่อให้นิสิตเฟรชชี่ปี 1 ได้สัมผัสบรรยากาศการนั่ง “รถตะลัย” และแนะนำส่วนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยไปพร้อม ๆ กับเส้นทางเดินรถแต่ละสายด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา (ราวหลายสิบปี) ช่วงที่ “รถตะลัย” ยังต้องใช้น้ำมัน จึงต้องมีการจ่ายค่าโดยสาร (ด้วยตัวเอง) ไม่มีกระเป๋ามาโหวกเหวก โดยจะมีกล่องรับเหรียญติดไว้ตรงบริเวณประตูทางขึ้น เก็บ 1 บาทตลอดสาย จากนั้น ปรับเพิ่มเป็น 2 บาทตลอดสาย (ในตอนนั้น ว่ากันว่า ใครจะจ่ายหรือไม่ อยู่ที่วินัยของคนขึ้นค่ะ)
อดีตผู้โดยสารเคยใช้บริการในยุคนั้นหลายคน (ที่คาดว่า จ่ายแน่นอน) เล่าว่า ดูเหมือนง่าย จ่ายแล้วขึ้น แต่เวลาขาดแคลนเหรียญช่วงเวลาเร่งด่วนจะลำบากมาก จึงต้องเตรียมสตางค์ให้พอดี ไม่ควรขาด และอย่าเกิน (เพราะไม่มีคนทอน) แต่หากรีบจริง ๆ จะจ่ายไปก่อนแล้วขึ้นตามจำนวนเงินทีหลังก็มี นอกจากนี้ ด้วยขนาดพื้นที่ค่อนข้างจำกัดเวลามีผู้ใช้บริการอย่างเต็มที่ บ่อยครั้งจึงต้องยืนท่านั้น ๆ จนถึงที่หมาย แต่ถึงอย่างไร ก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ประทับใจใน ม. และสร้างความสะดวกในการเดินทางภายในได้มาก
ปัจจุบัน กล่องรับเหรียญได้ถูกถอดเก็บไป เพื่อให้บริการฟรี!! โดย มก.ได้มีการรณรงค์ให้นิสิตตระหนัก รู้จักอนุรักษ์พลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม “รถตะลัย” จึงเปลี่ยนมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงไบโอดีเซลแทน ซึ่ง มก.มีสถานีผลิตเองจากน้ำมันที่ใช้แล้ว ด้วยเครื่องผลิตไบโอดีเซล (KUB-200)
สำหรับน้อง ๆ ที่แวะเวียนไปแถว มก.ก็อย่าลืมไปใช้บริการ “รถตะลัย” กันดูนะคะ ไปสัมผัสอีกหนึ่งตำนานน่าสนใจของชาวนนทรีกัน.