มีงานวิจัยระบุว่า การยกโทษให้คนอื่นมีผลดีต่อตัวคุณเอง อย่างน้อยก็ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์โกรธ มีความไว้วางใจผู้อื่นมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำให้สุขภาพจิตแข็งแรง ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพกายแน่นอน
ถ้าคุณจะอยากให้อภัย แต่ดูมันช่างยากเย็นเสียจริงๆ ลองปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ดูซิ แล้วคุณจะได้รู้จักกับคำว่า "อภัย"
1. นึกถึงเรื่องที่ทำให้เสียใจ หลายคนพยายามปฏิเสธเรื่องที่คนอื่นกระทำต่อเราเพราะเชื่อว่าถ้าไม่คิดก็จะไม่โกรธ แต่ถ้าต้องเจอหน้าคนที่ทำให้คุณต้องเจ็บปวดใจทุกวันคุณอาจรู้สึกหงุดหงิดรำคาญจนทนไม่ได้ ดังนั้นเมื่อนึกถึงเรื่องนี้พยายามอย่าให้ความโกรธ ความรู้สึกสงสารตัวเองหรือความเชื่อที่ว่าผู้อื่นจะมาขอโทษเอง มาบิดเบือนความคิดของคุณ
2. มองด้วยสายตาผู้อื่น ลองนึกดูว่า ผู้ที่ทำให้คุณเจ็บใจอาจมีความกดดันบางอย่าง ลองเขียนจดหมายโดยสมมติว่าคุณเป็นคนๆ นั้น เขาหรือเธอจะอธิบายการกระทำนั้นๆ อย่างไร การมองในมุมอื่นอาจทำให้เราพิจารณา และเข้าใจการกระทำนั้นได้ง่ายและยอมรับได้มากขึ้น
3. พิจารณาตัวเอง คุณเคยทำร้ายหรือทำให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวโกรธบ้างไหม ลองนึกย้อนดูว่าคุณเองรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขายกโทษให้ การทบทวนความรู้สึกสำนึกผิดและความรู้สึกขอบคุณที่เขาไม่โกรธ อาจช่วยให้คุณอยากปฏิบัติเช่นเดียวกันต่อคนที่เคยทำให้คุณเสียใจ
4. บอกคนที่คุณให้อภัย บอกเขาว่าคุณไม่โกรธแล้ว หรืออาจเขียนไว้ในกระดาษหรือในสมุดบันทึก บางครั้งคุณอาจนึกถึงเรื่องที่เคยทำให้ช้ำใจ และความเป็นจริงคุณก็ยังไม่อยากจะยกโทษให้ แต่คุณหลีกเลี่ยงความรู้สึกเช่นนี้ได้หากมีเครื่องเตือนใจในการให้อภัย
5. ยึดมั่นในการให้อภัย ความทรงจำอันเจ็บปวดไม่อาจลบเลือน เช่นเดียวกับไม่มีใครทำอะไรได้ถูกใจเราไปซะทุกอย่าง คุณค่าของความพยายามที่จะให้อภัยใครสักคน ความรู้สึกขมขื่นอาจจะหวนคืนมาบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ หากเป็นเช่นนั้น คุณควรทบทวนดูข้อความที่ใช้เตือนใจและนึกถึงการให้อภัยที่คุณเคยให้และได้รับจากผู้อื่น
พระท่านบอกว่า เมื่อไรที่เราโกรธก็เหมือนเรากำลังวางระเบิดตัวเอง ระเบิดที่พร้อมจะเผาผลาญทุกอย่างให้ลุกเป็นไฟ และมอดไหม้โดยไม่เหลือร่องรอยเดิม
ให้อภัยซะ… ชีวิตคนเราไม่ได้ยืนยาวนักหรอก