รู้จัก อีโคไล ระบาดที่เยอรมนี

รู้จัก อีโคไล ระบาดที่เยอรมนี


กรณีที่มีการระบาดของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไลและมีผู้ป่วยเสียชีวิตในประเทศเยอรมนีนั้น มีการสันนิษฐานว่า ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้ออีโคไลจากการรับประทานผักบางชนิด  ข่าวดังกล่าวคงทำให้คนทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนกและอยากรู้จักเชื้ออีโคไลกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้ไปพูดคุยกับผู้รู้เพื่อให้คำตอบในเรื่องนี้

เริ่มจาก รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า อีโคไล (E.coli)หรือ เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติคนเรามีเชื้ออีโคไลอาศัยในลำไส้อยู่แล้วทุกคนร่วมกับแบคทีเรียอื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่อีโคไลที่ก่อโรค บางทีก็มีประโยชน์เหมือนกัน เช่นช่วยย่อยอาหาร

ส่วนอีโคไลที่ก่อโรคจะพบได้ทั่วไปตามสิ่งแวดล้อมและในสัตว์ แม้ว่าชื่อเดียวกันแต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน คือเป็นอีโคไลสายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนได้   ซึ่งเชื้อดังกล่าวสามารถก่อโรคได้หลายโรค รวมถึงโรคอุจจาระร่วง  ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ก่อโรคอุจจาระร่วงมีมากมาย แต่ที่จัดกลุ่มกันไว้จะเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ ที่มีลักษณะการดำเนินโรคและความรุนแรงที่แตกต่างกัน คือ

1.เอ็นเทอโรท็อกซิเจนิคอีโคไล หรือ อีเทค  (Enterotoxigenic : ETEC)  ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงที่ถ่ายเหลวแบบเป็นน้ำ  อาการมักไม่รุนแรงและส่วนใหญ่หายได้เอง  พบก่อโรคได้บ่อยโดยเฉพาะพื้นที่เขตร้อนอย่างในบ้านเรา โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน

2.เอ็นเทอโรพาโธเจนิคอีโคไล หรือ อีเปค (Enteropathogenic E. coli : EPEC)  มักก่อโรคในเด็กเล็ก  และพบได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนา  ผู้ป่วยมักมีถ่ายเหลวเป็นมูก ถ่ายไม่มาก แต่มีอาการเรื้อรังได้นานเป็นเดือน ๆในเด็กที่เป็นนาน ๆ บางครั้งอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารแทรกซ้อนได้

3.เอ็นเทอโรอินเวสีฟอีโคไล หรือ อีอิค (Enteroinvasive E. coli : EIEC ) เชื้อกลุ่มนี้จะก่อโรคได้รุนแรงขึ้นโดยเชื้อบุกรุกผนังลำไส้ทำให้เกิดแผล ผู้ป่วยมักปวดเกร็งท้องมาก และอาจถ่ายเป็นมูกปนเลือดออกมาได้ แต่พบก่อโรคได้ไม่บ่อย

4.เอ็นเทอโรแอ็กกรีเกทีฟอีโคไล หรือ อีเอค (Entero-aggregative  E.coli: EAEC ) เชื้อกลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการที่หลากหลาย อาจถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูก และอาจก่อให้เกิดท้องร่วงเรื้อรังได้  แต่ยังไม่ทราบกลไกก่อโรคที่แน่ชัดนัก

และ 5.เอ็นเทอโรเฮโมราจิคอีโคไล หรือ อีเฮค (Enterohemorrhagic E.coli : EHEC) เป็นเชื้อที่ก่อโรคได้รุนแรงมากที่สุด อาการของผู้ป่วยมีความหลากหลาย ตั้งแต่ท้องร่วงถ่ายเหลวเป็นน้ำธรรมดา บางรายอาจถ่ายเป็นมูก แต่อาจมีผู้ป่วยบางส่วนที่อาการรุนแรงมากได้ เนื่องจากเชื้อสามารถบุกรุกผนังลำไส้ ทำให้เกิดแผล รวมถึงเชื้อยังสามารถสร้างสารพิษ "ชิกา" (Shiga toxin) สารพิษนี้สามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ แม้ว่าตัวเชื้ออีโคไลจะไม่ได้เข้าไปในเลือดด้วย โดยเชื้อจะอยู่ในลำไส้และสร้างสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งสารพิษจะไปออกฤทธิ์อยู่ที่ 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ ในระบบเลือด โดยจะไปทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซีดเฉียบพลัน รวมถึงทำลายเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างมาก เป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยจึงอาจเกิดจ้ำเลือดตามผิวหนังและมีเลือดออกที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในได้ อีกระบบหนึ่งคือสารพิษจะไปออกฤทธิ์ทำลายไต หน้าที่การทำงานของไตเสียไป จึงทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน  ภาวะทั้งสามนี้ (ซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก เลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ และไตวาย) เรียกรวมกันว่า กลุ่มอาการ "ฮีโมไลติค ยูเรมิค ซินโดรม" หรือ"เอชยูเอส"  (Hemolytic uremic syndrome : HUS) ซึ่งถือเป็นภาวะที่รุนแรงมาก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วมาก


สำหรับเชื้ออีโคไลที่ระบาดอยู่ที่ประเทศเยอรมนีจนทำให้มีผู้ป่วยมากกว่าพันคน (และยังอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง) และมีผู้เสียชีวิตหลายรายก็คือเชื้อ อีโคไล ในกลุ่มอีเฮค (EHEC) นี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อโรคได้รุนแรงมากที่สุดดังกล่าวข้างต้น มีการแบ่งกลุ่มย่อยของเชื้อในกลุ่มอีเฮคลงอีกตามชนิดของแอนติเจนโอ (O-antigen) ซึ่งเป็นโมเลกุลอยู่ที่ผนังเซลล์ของเชื้อ และเรียกชื่อเป็นหมายเลขตามชนิดของแอนติเจนโอ  ซึ่งเชื้อในกลุ่มอีเฮคที่พบก่อโรคและเป็นสาเหตุการระบาดได้บ่อยที่สุดคือ โอ-157  ส่วนใหญ่พบก่อโรคในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น เคยมีรายงานการระบาดในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา รวมถึงเคยมีการสันนิษฐานว่าอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เชื้อดังกล่าวเป็นอาวุธชีวภาพได้

สำหรับเชื้ออีโคไลกลุ่ม "อีเฮค" ที่ระบาดในประเทศเยอรมนีขณะนี้พบว่าไม่ใช่ โอ-157 มีรายงานเบื้องต้นว่าอาจจะเป็น โอ-104  แต่ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนโรค  ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ เช่น โอ-111 ก็อาจเป็นสาเหตุก่อโรคดังกล่าวได้เช่นกัน  คงต้องรอผลการพิสูจน์เชื้อเพิ่มเติมต่อไป

โอกาสที่เชื้อแบคทีเรียอีโคไลที่ระบาดในประเทศเยอรมนีจะก่อโรคในคนไทยมีมากน้อยเพียงใด?รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กล่าวว่า เชื้อในกลุ่มนี้ยังไม่มีรายงานการก่อโรค หรือระบาดในประเทศไทย เชื้อพวกนี้ติดต่อทางการกิน เชื้อสามารถปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารได้หลากหลายประเภท เคยมีรายงานการระบาดที่พบเชื้อในอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด เช่น ในแฮมเบอร์เกอร์ เชื้ออาจปนเปื้อนในเนื้อสัตว์

ถ้าปรุงไม่สุกก็อาจก่อโรคได้ รวมทั้งในผักและผลไม้ต่าง ๆ ก็สามารถพบเชื้อได้ การป้องกันการได้รับเชื้อที่สำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ  ดังนั้นต้องกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกหรือผ่านความร้อนที่เหมาะสม  ส่วนผักและผลไม้ จะค่อนข้างป้องกันยาก  เพราะนิยมกินสด  ที่ระบาดในประเทศเยอรมนีคราวนี้อยู่ในระหว่างสันนิษฐานว่ามาจากผัก  จึงต้องอาศัยการล้างให้สะอาดเป็นหลัก เพราะเชื้อจะอยู่ตามสิ่งแวดล้อม ตามน้ำ ตามดิน ได้ทั่วไป

"ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันการติดเชื้อกลุ่มนี้ได้ แต่ไม่อยากให้ประชาชนกังวลหรือตกใจ ควรป้องกันโรคด้วยการรักษาสุขอนามัยตามปกติ คือการกินอาหารที่ปรุงสุกในขณะที่ยังร้อน ดื่มน้ำที่สะอาดได้มาตรฐาน และล้างผักผลไม้ให้สะอาด ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่ควรทำในชีวิตประจำวัน เท่านี้ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งอีโคไล และเชื้อทำในชีวิตประจำวัน เท่านี้ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งอีโคไล และเชื้ออื่น ๆ อีกหลายชนิดที่เป็นสาเหตุก่อโรคอุจจาระร่วงได้" รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กล่าว

ด้าน นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย น.ส.กรองแก้ว ศุภวัฒน์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญด้านบัคเตรีลำไส้ และ น.ส.ศรีวรรณา หัทยานานนท์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้

โดย นพ.ปฐม อธิบายว่า อีโคไล (E.coli) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีทั้งก่อโรคและไม่ก่อโรค โดยอีโคไลทำให้เกิดโรคในคนได้ ดังนี้  

1. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ นิ่วในไตโดยการเกิดโรคมักมีสาเหตุมาจากเชื้ออีโคไลที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของผู้ป่วยเอง 

2. โรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โลหิตติดเชื้อ ไส้ติ่งอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ฝีในตับ  

3. โรคอุจจาระร่วง เชื้ออีโคไลเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น พบมากในลำไส้คน สัตว์เลือดอุ่น มีเชื้ออีโคไลบางสายพันธุ์ทำให้เกิดอุจจาระร่วงได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยเชื้ออาจปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม น้ำนม โดยเชื้ออีโคไลที่ก่อโรคอุจจาระร่วงแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มตามกลไกการก่อโรค คือ เอ็นเทอโรท็อกซิเจนิคอีโคไล, เอ็นเทอโรพาโธเจนิคอีโคไล,  เอ็นเทอโรอินเวสีฟอีโคไล, เอ็นเทอโรแอ็กกรีเกทีฟอีโคไล และเอ็นเทอโรเฮโมราจิคอีโคไล

สำหรับเชื้ออีโคไลที่ระบาดในประเทศเยอรมนีนั้น เป็นแบคทีเรียก่อโรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเอ็นเทอโรเฮโมราจิคอีโคไล หรือ "ชิกา ท็อคซิน โปรดิวซิ่งอีโคไล" คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ โอ-104 ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2538 โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ส่งเชื้ออีโคไลมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยฝ่ายแบคทีเรียลำไส้ ตรวจยืนยันสายพันธุ์กว่า 1,000 เชื้อต่อปี จนถึงปัจจุบัน ตรวจไปแล้วกว่า 10,000 เชื้อ  ปรากฏว่า ยังไม่พบ  โอ-104 ในประเทศไทยแต่อย่างใด  แต่พบเชื้อ กลุ่มเอ็นเทอโรเฮโมราจิคอีโคไล หรือ "ชิกา ท็อคซิน โปรดิวซิ่ง อีโคไล"  ในผู้ป่วยเพียง  7 รายเท่านั้น  ดังนี้

ปี พ.ศ.  2540 จ.นนทบุรี พบ โอ-8  ในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวี

ปี พ.ศ.  2545 กรุงเทพฯ พบ  โอ-91  ในผู้ใหญ่ที่สัมผัสโรค

ปี พ.ศ.  2546 กรุงเทพฯ พบ โอ-111ในเด็กอายุ 2ขวบ

ปี พ.ศ.   2547  จ.สงขลา พบ โอ-111ในเด็กอายุ  2 ขวบ  และ จ.อุดรธานี พบ โอ-8 ในเด็กอายุ 1 ขวบ  9เดือน

ปี พ.ศ. 2548 จ.สมุทรสงคราม พบ โอ-157 ในเด็กไม่ทราบอายุ

และปี พ.ศ. 2549 กรุงเทพฯ พบ โอ-111 ในเด็กแรกเกิด

แม้ประเทศไทยจะยังไม่พบ โอ-104 แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เฝ้าระวังเชื้ออีโคไลอยู่แล้ว กรณีที่สันนิษฐานว่าเชื้อน่าจะปนเปื้อนในผักนั้นคงต้องบอกว่าผักจากยุโรปไม่ค่อยมีการนำเข้ามาประเทศไทยเนื่องจากราคาแพง ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน คือโอกาสที่เชื้อจะเข้ามาประเทศไทยน้อยมาก ดังนั้นไม่ควรตื่นตระหนก สำหรับข้อแนะนำประชาชนทั่วไป คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์