ช่องปากของคนเรานั้นเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสกับเชื้อโรคที่แฝงมากับอาหารทุกมื้อ และเมื่อใช้งานหนักเข้าก็มีโอกาสป่วยได้เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่เรื่องที่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และอาการที่ซ่อนอยู่จนลุกลามเป็นโรครุนแรง
เปิด (ช่อง) ปาก เล่าอาการ (ปาก) ป่วย
สุขภาพในช่องปากและฟันเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามความสำคัญได้ เพราะไม่ใช่เพียงกลิ่นปากที่ทำให้เราสูญเสียความมั่นใจเท่านั้น ปากและฟันของเรายังสามารถก่อโรคที่ลามไปถึงอวัยวะใกล้เคียงได้อีกด้วย เช่น หู ตา คอ จมูก ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องและมีต้นทางมาจากแหล่งเดียวกัน ดังนั้นการที่เราใส่ใจสุขภาพช่องปากในเบื้องต้น จึงเป็นเหมือนการป้องกันโรคต่างๆ ที่จะตามมาด้วย แต่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการใดบ้างที่จะ
เป็นสัญญาณความผิดปกติที่บ่งบอกว่าปากของเราเริ่มมีอาการป่วยแล้ว
เมื่อปากเป็นช่องทางก่อโรค การสัมผัสกับอาหาร เครื่องดื่ม หรืออากาศภายนอก มักจะทำให้ช่องปากของเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอยู่มาก อาการป่วยเหล่านี้อาจจะตามมาได้
ร้อนใน คือ อาการแผลเปื่อยในช่องปาก ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่เมื่อเป็นแล้วจะสร้างความรำคาญเพราะมักเป็นๆ หายๆ พบมากในวัยรุ่นและผู้หญิงในช่วงที่ใกล้มีประจำเดือน ผู้ที่มีอาการร้อนในจะรู้สึกเจ็บบริเวณที่เป็นแผลซึ่งมีลักษณะตื้นขอบแผลมีสีแดงและกลางแผลจะเป็นสีขาวปนเหลือง ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น ส่วนมากแผลจะหายเองภายใน 2- 5 วัน
สาเหตุ เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ ส่งผลให้เยื่อบุผิวหนังในช่องปากเป็นแผล โรคนี้มักเกิดขณะที่มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังเกิดจากอาหารไม่ย่อย ท้องผูก เป็นไข้เรื้อรัง เป็นต้น
โรคฟันผุ คนที่เป็นโรคฟันผุอาจมีกลิ่นปากได้ง่าย เนื่องจากฟันที่ผุเป็นรู (cavity) จะกลายเป็นที่หมักหมมของเศษอาหารและเมื่อทับถมกันนานเข้าก็ย่อมจะเกิดการบูดเน่าและส่งกลิ่นเหม็น ผู้ป่วยที่มีอาการฟันผุบางคนมักหาทางออกด้วยการขวนขวายหายามากินเองเวลาปวดฟัน เพราะคิดว่าการกินยาแก้ปวดนั้นอาจจะช่วยให้อาการดีขึ้น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะการกินยาเป็นเพียงการระงับปวดแค่ชั่วคราว แต่ไม่ใช่การบำบัดดูแลที่ถูกต้อง
ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการเสียวฟันจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเสียวฟันอาจจะเป็นสาเหตุของฟันผุซึ่งอาจจะโยงไปถึงเรื่องของระบบประสาทฟันได้ ถ้าฟันเริ่มผุจะมีอาการเสียวฟันบ้างเป็นครั้งคราว จนรู้สึกเสียวฟันอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดก็จะมีอาการปวดฟัน กระทั่งลุกลามกลายเป็นการปวดแบบเรื้อรัง ซึ่งทำให้เวลาแปรงฟันอาจมีเลือดออก ฟันโยก มีหนองค้างอยู่ในร่องเหงือก มีกลิ่นเหม็น จนในที่สุด
ต้องถอนฟันซี่ดังกล่าวออกไป
ปริทันต์ (รำมะนาด) คือ อาการที่เหงือกเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและมีเลือดออกบ่อยๆ รู้สึกเจ็บหรือเสียวที่คอฟันเป็นตุ่มหนองที่เหงือก ทำให้ฟันไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้และเกิดอาการโยกไปมาหรือเคลื่อนห่างออกจากกัน สร้างความรำคาญและเจ็บปวดแก่ผู้ที่มีอาการเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดกลิ่นปากเหม็นอย่างรุนแรงอีกด้วย
สาเหตุ เกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์และเชื้อแบคทีเรียในช่องปากหรือมีสาเหตุมาจากฟันเกหรือการใส่ฟันปลอมที่หลวมหรือแน่นเกินไป โรคประจำตัวบางโรคที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของเหงือกก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบเลือดหรือแม้แต่การแพ้ยาบางชนิด เช่นยารักษาโรคลมชักและอีกหลายๆ สาเหตุไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ ระยะหมดประจำเดือน การสูบบุหรี่ หรือการกินหมาก เป็นต้น
มะเร็งช่องปาก ได้แก่ มะเร็งที่กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก เพดาน มักจะพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป อาการเริ่มต้นของโรคนี้คือ มีแผลในช่องปากนานเกิน 3 สัปดาห์ แต่ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดและรักษาไม่หาย มีฝ้าขาวในช่องปากร่วมกับตุ่มนูนบนเยื่อบุช่องปากและลิ้นซึ่งโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บวมโตขึ้นเรื่อยๆ จนแตกออกเป็นแผล
สาเหตุ มะเร็งช่องปากนั้นเกิดจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับการระคายเคืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากฟันแหลมคม ฟันผุ เหงือกเป็นหนอง จนมีการอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้ การกินหมากพลูอมยาฉุน สูบบุหรี่ และดื่มเหล้า ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งช่องปากได้
อาการปากป่วยที่ควรพบแพทย์ เมื่อรู้จักโรคที่สามารถเกิดจากช่องปากแล้ว สิ่งที่ละเลยมิได้คือการสังเกตอาการของตนเองว่าเมื่อใดที่ผิดปกติและควรไปปรึกษาทันตแพทย์
1. มีตุ่มหรือก้อนเกิดขึ้นบริเวณใต้คาง คอ และบวมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. มีอาการอักเสบเรื้อรังในช่องปากและไม่หายภายในสามสัปดาห์
3. มีฝ้าขาวลักษณะเป็นรอยนูนในช่องปาก
4. มีแผลบนเหงือกและฟันโยก บางรายอาจมีฟันผุร่วมด้วย
5. มีแผลเรื้อรังที่ลิ้น รู้สึกเจ็บที่ลิ้น และเป็นแผลเปื่อยเกิน 14 วัน
6. อาการที่เป็นทำให้กินอาหารไม่ได้นานเกินสองวัน
7. เป็นผื่นและมีเลือดออกหรือแผลเปื่อยในปาก
8. มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ขากรรไกร เหงือก หรือปาก
วิธีดูแล (ช่อง) ปากเลี่ยงโรค อาการดังกล่าวข้างต้นสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. แปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ3-5 นาที หรือบ้วนปากหลังกินอาหารทันที
2. ล้างฟันปลอมชนิดถอดได้หลังอาหารทุกครั้งโดยเฉพาะบริเวณตะขอ และควรถอดออกเวลากลางคืน
3. กินอาหารเนื้อหยาบบ้าง เพื่อช่วยทำความสะอาดฟัน ได้แก่ ผักผลไม้ต่างๆ เช่น ก้านผัก ฝรั่ง มันแกว
4. ควรใช้ฟันทุกซี่เคี้ยวอาหาร ไม่ควรถนัดเคี้ยวข้างเดียว เพื่อบริหารให้เหงือกและฟันแข็งแรง
5. งดสิ่งเสพติดจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาฉุน และหมากพลู
6. สำหรับผู้ที่มีอาการร้อนในควรพักผ่อนให้เพียงพอ หากแผลไม่หายภายในสามสัปดาห์ควรรีบไปพบแพทย์
7. ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
เหงือกแข็งแรงด้วยสมุนไพรไทย นอกจากคนไทยจะมีปัญหาเรื่องฟันแล้ว อีกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ยังมีปัญหาโรคเหงือกอีกด้วย โดยส่วนใหญ่เกิดจากคราบแบคทีเรียที่ทำความสะอาดออกไปไม่หมด เกาะติดแน่นอยู่ตามขอบเหงือกคราบแบคทีเรียนี้จะมีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ สีขาวขุ่นหรือเหลืองซึ่งจะปล่อยกรดออกมาทำลายเนื้อเยื่อเหงือกทำให้เหงือกอักเสบ
อาการที่สังเกตได้คือ มีกลิ่นปาก เลือดออกตามไรฟัน เหงือกร่นลงไม่แนบชิดกับฟันปวดบริเวณเหงือกและฟันโยกคลอน บำบัดด้วยสมุนไพร สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาอาการเลือดออกที่เหงือกคือใช้ใบหนุมานประสานกายสด 5-10 ช่อ ต้มกับน้ำ 10 แก้วจนเดือดแล้วใช้ดื่มแทนน้ำตลอดวัน ถ้าเป็นรำมะนาดใช้ต้นชะพลูทั้งราก6-7 ต้น หรือใช้ผลมะขามป้อม 1 กำมือ ทุบพอแตกแล้วต้มกับเกลือจนเดือดนำน้ำที่ได้มาอมกลั้วคอเท่านี้ เหงือกก็จะแข็งแรงอยู่คู่กับฟันไปอีกนาน
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthandcuisine.com/beauty.aspx?cId=14&aId=880