ต้านกระดูกพรุนกันเถอะ
กระดูกเป็นอวัยวะสำคัญที่นับได้ว่าแข็งแรงที่สุด เนื่องจากทำหน้าที่เป็นโครงร่างให้แก่ร่างกายของเรา
"กระดูก"เป็นอวัยวะสำคัญที่นับได้ว่าแข็งแรงที่สุด เนื่องจากทำหน้าที่เป็นโครงร่างให้แก่ร่างกายของเรา ซึ่งหากอวัยวะส่วนนี้เกิดการสลายของเนื้อกระดูกก็อาจทำให้กระดูกบางลง เมื่อนานวันเข้าก็จะส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "กระดูกพรุน" ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้นั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเมื่อกระดูกเกิดการสลายมากขึ้นก็จะเสี่ยงต่อการที่กระดูกหักและส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด ทรมาน และทำให้การเคลื่อนไหวเคลื่อนที่เป็นไปได้อย่างยากลำบาก
สำหรับภาวะกระดูกพรุนจะค่อยๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ และผู้ป่วยก็มักไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นอะไรอยู่ กว่าจะทราบอาการก็เป็นไปมากแล้ว ดังนั้นการค้นหาความเสี่ยง จัดการ และป้องกัน เพื่อชะลอการเกิดภาวะกระดูกพรุน ย่อมดีกว่าการต้องมารักษาแก้ไขเมื่อกระดูกหักไปเสียแล้วย
ทำความรู้จักกับโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน หรือที่บางคนเรียกว่า โรคกระดูกบาง โรคกระดูกผุ คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของโครงสร้างของกระดูก ซึ่งมีผลทำให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ จนก่อให้เกิดอาการกระดูกหักตามมา
เช็คลิสต์คุณเสี่ยงไหม
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนค่อนข้างมีหลากหลายกลุ่ม เพราะสาเหตุของการเกิดโรคสามารถเกิดได้จากหลายทาง ซึ่งอาจกล่าวรวมๆ ได้ว่า มาจากปัญหาที่มีผลทำให้การสะสมของเนื้อกระดูกได้ไม่ดี และปัจจัยที่ทำให้มีการสูญเสียมากกว่าปกติ เช่น วัยหลังหมดประจำเดือน และอื่นๆ อีกดังนี้
-พันธุกรรม
เมื่อดูในเรื่องของพันธุ์กรรม จะเห็นว่าเชื้อชาติผู้มีผิวขาวอย่างชาวเอเชียมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนผิวดำ ขณะเดียวกันเพศหญิงก็เป็นมากกว่าเพศชาย
-ไลฟ์สไตล์
ผู้ที่มีกิจวัตรการออกกำลังกายน้อย และสูบบุหรี่จัด จะมีความเสี่ยงสูง
-ความเจ็บป่วย
การที่คุณป่วยเป็นโรคบางชนิด ก็อาจมีผลต่อการเสียเนื้อกระดูก เช่น โรครังไข่ฝ่อ (ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน) การตัดมดลูก ต่อมทัยรอยด์ทำงานมากเกินไป ต่อมพาราทัยรอยด์ทำงานมากเกินไป ไตวายเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
-ยาที่มีผลต่อการสูญเสียเนื้อกระดูก
การทานบางตัวก็เช่นเดียวกับผู้ป่วยหลายๆ โรคที่มีส่งผลต่อกระดูก เช่น ยาทดแทนทัยรอยด์ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ ชนิด โ€loopโ€ ยาลดกรดที่มีฤทธิ์จับกับฟอสเฟต ยาเตตร้าซันคลิน ยารักษาวัณโรค ไอโซไนเอซิค
-โภชนาการ
เรื่องของอาหารการกินก็มีส่วนที่จะทำให้กระดูกของคุณพรุนได้เหมือกัน เช่น บริโภคแคลเซียมต่ำ ดื่มแอลกอฮอล์มาก ดื่มกาแฟมาก บริโภคเกลือมาก บริโภคโปรตีนจากสัตว์มาก
สำหรับเมนูอาหารที่แนะนำ : ข้าวกล้อง + ต้มยำปลากระป๋อง + ผัดคะน้างาขาว +นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมหรือโยเกิร์ตไขมันต่ำ 1 ถ้วย
เสริมแคลเซียมให้ตัวเอง
การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก ก็จะช่วยให้กระดูกแข็งแรงได้ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น ผักใบเขียวเข้ม ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง งา ก็ยังเป็นแหล่งอาหารเปี่ยมแคลเซียมที่ดี
นอกจากรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียมแล้ว การได้รับวิตามินดีที่เพียงพอก็มีความจำเป็นในการเสริมสร้างกระดูกเช่นกัน เนื่องจากวิตามินดีจำเป็นต่อการดูดซึมและการทำงานของแคลเซียมด้วย ซึ่งการได้รับวิตามินดีนั้นมีวิธีที่ง่ายมากนั่นคือ เพียงแค่เราออกไปสัมผัสกับแสงแดงอ่อนๆ เป็นเวลา 10-15 นาที โดยไม่ทาครีมกันแดด ผิวหนังของเราก็จะทำการสร้างวิตามินดีได้จากรังสีอัลตราไวโอเลตย
การปฏิบัติตัวในด้านอื่นๆ ที่จะช่วยปกป้องกระดูกของเรานอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก เช่นย วิ่งเหยาะๆ กระโดดเชือก หรือแม้แต่การยืนเขย่งส้นเท้าขึ้นเล็กน้อยแล้วทิ้งส้นเท้าลงบนพื้นเบาๆ หรือการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ก็ช่วยเสริมสร้างเนื้อกระดูกได้ นอกจากนี้สิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น งดสูบบุหรี่ ลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลมและแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยถนอมกระดูกให้อยู่กับเราไปได้นาน
เพียงดูแลร่างกายอย่างที่เราได้กล่าวมา คุณก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรงโดยไม่ต้องเกรงกลัวว่า เจ้าโรคกระดูกพรุนจะมาคอยตอแยให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่ายๆ