แสวงหาอย่างมีขอบเขต
ความทะเยอทะยานนั้น จะต้องมีขอบเขต
ธรรมชาติของสังคมมนุษย์เรา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาอำนาจ ความมีลาภเสื่อมลาภ ความมียศเสื่อมยศ มี สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา แต่การที่เราจะแสวงหา เราจะแสวงหาอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นนักปฏิบัติ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระองค์ให้เรามั่นคงในศีล 5 ข้อ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่นั้นเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนความรู้สึกของเราให้มีความทะเยอทะยานในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น แต่ความทะเยอทะยานนั้น จะต้องมีขอบเขต ซึ่งขอบเขตคือศีล 5 ข้อ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นตามกฎธรรมชาติ
ในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นผู้บงการกายทำทุกสิ่งทุกอย่าง
เราควรสังวรระวัง ควรงดเว้น ควรระวังรักษา ไม่ละเมิดในศีล 5 ข้อ เท่านี้เราก็ไม่บาป ไม่มีกรรม ซึ่งบาปกับกรรมเกิดจากการทำบาปทำกรรมต่างๆ เพราะคนเรามีกายกับใจ ในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นผู้บงการกายทำทุกสิ่งทุกอย่าง ในเมื่อใจเป็นผู้บงการแล้ว กายทำอะไรลงไป พูดอะไรออกไป ใจเขาจะเก็บเอาไว้โดยอัตโนมัติ เขาจะเก็บผลงานของเขาบันทึกเอาไว้ เป็นบาปเป็นกรรม ซึ่งใครเป็นผู้สร้าง ใครเป็นผู้แต่งนั้นไม่มี แต่เป็นสิทธิหน้าที่ของแต่ละบุคคลสร้างขึ้นมาเอง เช่น เราไปฆ่าใครสักคนหนึ่ง แต่เราไม่ต้องการผลงาน มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายมันก็จะต้องวิ่งเข้ามา เป็นผลงานที่เก็บเอาไว้ภายในใจ
แหล่งที่มา: ฐานิโยนุสรณ์ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชสังวรญาณ(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)