กูเกิล พลัส vs เฟซบุ๊ก
เชื่อว่าถึงวันนี้หลายคนคงได้ลอง "กูเกิล พลัส" โซเชียลเน็ตเวิร์กใหม่ของกูเกิลที่รวมบริการทั้งหมดเข้ามาไว้ที่ศูนย์กลาง
โดยตัวแกนของมันนั้นเกือบไม่ต่างอะไรไปจากเฟซบุ๊ก แม้ว่าเพิ่งจะเปิดตัวมาได้ยังไม่ถึงเดือน และยังจำกัดผู้ใช้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น แต่กระแสกูเกิล พลัสก็ร้อนแรงเอามาก ๆ
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนของกูเกิล พลัสก็คือ เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เน้นการแบ่งกันในกลุ่มเพื่อนจริง ๆ มากกว่าเน้นการเปิดสู่สาธารณะ ฟังก์ชั่นในการเลือกกลุ่มที่จะแบ่งปันเนื้อหาต่าง ๆ นั้นเด่นชัดกว่าเฟซบุ๊ก
และที่เด่นมากของกูเกิล พลัสก็คือ การผนวกรวมกูเกิล วิดีโอ แชต หรือที่เรียกว่า "Hangouts" ที่สามารถมีวิดีโอแชตกันแบบเห็นหน้าตาเป็นกลุ่มได้สูงสุดถึง 10 คนในแต่ละครั้ง
ไม่กี่วันหลังจากกูเกิล พลัสเปิดตัว ฝั่งเฟซบุ๊กก็ขยับเปิดแนวป้องกันด้วยเฟซบุ๊กวิดีโอแชตที่ใช้วิธีจับมือกับสไกป์ ผู้บุกเบิกวิดีโอแชต
การต่อสู้ช่วงชิงกันในตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงเป็นการต่อสู้ที่มันหยด แม้ว่าถึงตอนนี้ในแง่ของยอดผู้ใช้เฟซบุ๊กที่สูงมากกว่า 700 ล้านคน อาจจะไม่ใช่ เรื่องง่ายที่กูเกิล พลัสจะสู้ด้วย แต่ฐานของกูเกิลไม่ใช่เล็ก ๆ เช่นกัน เนื่องจากเป็นการบูรณาการเว็บแอป และบริการอื่น ๆ ของกูเกิลเข้ามาทำให้ฐานของกูเกิลมีความมั่นคงอยู่ระดับหนึ่ง
แน่นอนว่ากูเกิลเคยล้มเหลวมาแล้วกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งในแบบธรรมดาอย่าง Orkut ไล่ไปจนถึง Buzz และ Wave ที่มีแนวคิดใหม่ ๆ เข้ามามาก แต่สำหรับกูเกิล พลัสแล้วมันอาจจะเป็นอีกฉากหนึ่งที่แตกต่างออกไป
อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เสียงตอบรับที่ออกมาในแง่ดี ถัดมาเห็นจะเป็นเพราะกูเกิล พลัสเป็นวิธีมองใหม่ของกูเกิลที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร แทนที่จะสร้างนวัตกรรมล้ำสมัย กูเกิล พลัสกลับใช้วิธีเลือกเอาข้อดีของเฟซบุ๊กมาใช้ และมีหลายอย่างที่กลบจุดอ่อนของเฟซบุ๊ก เช่น ระบบการแชร์ที่เลือกกลุ่มได้ง่ายกว่า นั่นก็เป็นจุดเด่น จุดหนึ่ง
หรือแม้แต่จุดเล็ก ๆ อย่างเช่น การอัพโหลดภาพและวิดีโอ ก็เห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจนในคุณภาพของการบริการ ความเร็ว รวมไปถึงการแสดงผล
ที่จริงมีคำถามกันอยู่เยอะเหมือนกันว่า กูเกิล พลัสจะต่อกรกับเฟซบุ๊กได้มากน้อยขนาดไหน ในความเห็นส่วนตัวหลังจากทดสอบใช้กูเกิล พลัสมาได้หลายวัน คิดว่าอย่างน้อยที่สุดกูเกิลน่าจะปักหลักได้มั่นคงในสมรภูมิโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่างจากการลองผิดลองถูกหลายครั้งในอดีต นักลงทุนในตลาดหุ้นตีราคากูเกิล พลัสไว้สูงถึง 20,000 ล้านเหรียญ (มูลค่าตลาดของกูเกิลส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดตัวกูเกิล พลัส)
และที่จริงเมื่อพิจารณาให้ดีกูเกิล พลัสนั้นไม่ใช่เกมรุกของกูเกิล แต่เป็นเกมป้องกันการรุกเข้ามาช่วงชิงรายได้โฆษณาจากเฟซบุ๊กต่างหาก ในระยะเวลาอีกไม่กี่เดือนก็น่าจะพอมองเห็นผลที่เกิดขึ้นจริง ๆ ของกูเกิล พลัส