ว่ากันว่าในอนาคตมนุษย์จะมีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี แบบสบายๆ เพราะวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งทำให้ค้นพบวิธีการเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้อย่างราบคาบ
แต่ในความเป็นจริง ทุกวันนี้ดูเหมือนโรคร้ายจะกรุ้มรุมเข้ามาใกล้ตัวเราทุกขณะ อย่างมะเร็ง โรคร้ายที่นับวันมีแต่จะทวีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น
แม้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจะประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ยาเพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของก้อนเนื้อร้ายโดยไม่ทำลายเซลล์เนื้อดีที่อยู่รอบข้าง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับวงการแพทย์ในการรักษาโรคมะร็ง โดยเฉพาะกับมะเร็งสมอง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีคนจำนวนมากป่วยด้วยโรคมะเร็ง!
จากสถิติตัวเลขของผู้ป่วยโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติและสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ ประเทศฝรั่งเศส คาดการณ์ถึงจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในปีที่ผ่านมา คือ พ.ศ.2553 มีมากถึงกว่า 118,601 คน โดยจำนวนผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งมากถึง 65,514 คน ส่วนผู้ชายมีมากถึง 53,087 คน
ที่น่าสังเกตคือ มะเร็งที่เป็นกันมากในลำดับต้นๆ ทั้งกับชายและหญิง คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่
หรืออย่างมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตัวเลขในปัจจุบันก้าวขึ้นมาติดชาร์ตท็อปไฟว์เข้าไปแล้ว เป็นมะเร็งที่ชายไทยเป็นมากเป็นอันดับ 5
ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็มาจากสภาพแวดล้อม การอยู่ในสถานที่ที่มีไฮโดรคาร์บอน ซึ่งก็คือ เบนซิน เช่น ปั๊มน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมโลหะหนัก
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ในฐานะประธานมูลนิธิกาญจนบารมี เฉลิมพระเกียติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร บอกว่า มะเร็งเป็นโรคที่คนไทยเป็นมากในอันดับต้นๆ ก็จริง แต่มะเร็งป้องกันได้ ถ้าหากวินิจฉัยพบในระยะแรกๆ หรือถ้าเป็นเพียงหนึ่งใน 3 ก็ยังรักษาได้
สำหรับมูลนิธิกาญจนบารมีนั้น ดร.นพ.สมยศเล่าว่า ก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ใช้ชื่อว่า "มูลนิธิกาญจนบารมี" นาน 10 กว่าปีแล้ว ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และแนะการป้องกันมะเร็ง
แต่เดิมงานหลักของมูลนิธิคือสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์มะเร็งที่ธัญบุรี หนึ่งใน 7 ศูนย์ มีทั้งรักษา วินิจฉัยมะเร็ง มีการผ่าตัด ฝังแร่ รักษามะเร็งเสร็จสรรพอยู่ที่นั่น
เนื่องจากศูนย์นี้เป็นศูนย์ที่เกิดใหม่ งบประมาณไม่เพียงพอ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงพระราชทานให้ตั้งมูลนิธินี้เพื่อสนับสนุนการจ้างบุคลากรที่ขาดแคลน รวมทั้งช่วยเหลือคนไข้ระยะสุดท้ายที่ไม่มีเงินรักษา เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาโรค พอมีโครงการ 30 บาท การรักษาพยาบาลดีขึ้น ฉะนั้นเงินในส่วนนี้จึงใช้จ้างบุคลากรที่ขาดแคลน อย่างเจ้าหน้าที่รังสี เจ้าหน้าที่เทคนิค ฯลฯ และทำงานด้านการป้องกันมะเร็ง
ฉะนั้นในส่วนของมูลนิธิฯ จึงทำหน้าที่ให้ความรู้การดูแลรักษาตนเพื่อจะปลอดภัยจากโรคมะเร็ง โดยเน้นในเรื่องของการป้องกัน เพราะมะเร็งนั้นป้องกันได้